ไม่พบผลการค้นหา
นิทัศน์ฯ ตอนนี้ เราจะเข้าไปในสนามการเมืองกรุงเทพมหานคร กันบ่อยหน่อย โดยจะเริ่มต้นจากพรรคยอดนิยม (ในอดีต) ที่มีภาพลักษณ์ ที่ “สมถะ” และ “บ้านๆ” จนเคย “ยึดกรุงเทพฯ” ได้สำเร็จ แต่ก็เคยดำดิ่งสู่ “ที่นั่งเดียว” ในการเลือกตั้งก็มีมาแล้ว….ใช่ครับ เรากำลังพาท่านไป “นิทัศน์” พรรคพลังธรรม
  • พลตรี จำลอง ศรีเมือง ตั้งพรรคพลังธรรมในปี 2531 แต่ “มหาจำลอง” ผู้นี้ ไม่ใช่ คนใหม่ในทางการเมือง นี่คือหนึ่งใน “ยังเติร์ก” คนหนึ่งที่มีบทบาททางการเมือง ทั้งเลขาธิการนายกรัฐมตรี ในยุค พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ และ เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนาม “กลุ่มรวมพลัง” ซึ่งได้พัฒนามาเป็นพรรคพลังธรรมในกาลต่อมา
  • จุดพีคที่สุดของ พรรคพลังธรรม คือ การได้ 32 จาก 35 ที่นั่งในกรุงเทพมหานคร ล้มพรรคขวัญใจคนเมืองหลวงอย่าง พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคประชากรไทย และเคยต่ำสุดถึงขั้น “ได้เพียงที่นั่งเดียว” ในการเลือกตั้ง 2539 และไม่มีใครคิดว่านั่นคือ “ฉากสุดท้าย” ในการเลือกตั้งระดับชาติของพรรคพลังธรรม


พูดถึง “จำลอง”

5 กรกฎาคม 2478 จำลอง ศรีเมือง เกิด ณ วันนี้ ในย่านสำเหร่ ฝั่งธนบุรี เป็น บุตรของ สมนึก ชุณรัตน์ และ บุญเรือน ชุณรัตน์ แต่ สมนึก พ่อของจำลอง เสียชีวิตแต่ จำลอง ยังเล็ก

บุญเรือน เลยได้แต่งงานใหม่ กับ โชศน์ ศรีเมือง

จึงเป็น จำลอง ศรีเมือง มาแต่บัดนั้น 

ก่อนที่จะเจริญเติบโตเป็น “นายร้อยทหารบก” ในรุ่น จปร.7…..

พูดถึง จปร.7 ทั้งที ที่รู้จักในนาม “กลุ่มยังเติร์ก” ของกองทัพบก กลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญ ในฐานะฐานอำนาจของ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในกองทัพและทางการเมือง ซึ่งกลุ่มนี้ ก็ไม่ค่อยจะญาติดี กับรุ่นพี่ จปร.5 ….

เอาเป็นว่า ในรุ่น จปร.7 เนี่ยนะครับ

ตัวเด็ดๆ คงหนีไม่พ้น….


ประกอบ1-01.jpg


และ จปร.7 นี่เอง ที่มีส่วนร่วมในการปฏิบัติราชการสงคราม ในห้วงเวลาแห่งสงครามเย็น และ การปราบปรามคอมมิวนิสต์

โดยในช่วงเวลานั้น ร้อยเอก จำลอง ศรีเมือง ก็ได้เข้าร่วมในยุทธภูมิลับภูผาที ในดินแดนประเทศลาว และสามารถขับไล่ข้าศึกและยึดครองจุดยุทธศาสตร์นั้นได้

และเมื่อสงครามนอกประเทศเสร็จสิ้น กลุ่มนายทหารนี้ก็มีบทบาทในการเมืองมากขึ้น ทั้งการยื่น “ข้อเสนอสามข้อ” ให้ หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นก่อนเหตุการณ์ 6 ตลาคม 2519

และ การก่อการกำเริบ และ พยายาม ล้มล้างรัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งก็คือ “กบฎเมษาฮาวาย” ปี 2524 และ “กบฎยังเติร์ก” ปี 2529

แต่ พันโท จำลอง ไม่ได้เกี่ยวกับกบฎ เพราะไปเป็นวุฒิสมาชิกตั้งแต่ปี 2522 โดยที่ไม่แสดงจุดยืนอะไรมากหนัก

ปี 2523 พลเอก เปรม ตั้ง พันเอก จำลอง ซึ่งในขณะนั้น เป็นวุฒิสมาชิก เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี คนแรกของรัฐบาล เปรม แต่อยู่ได้ไม่นานหนัก ก็ลาออกจากตำแหน่ง (ลาออกในปี 2524-ผู้เขียน) โดยมีสาเหตุจากการที่รัฐบาลในเวลานั้น เสนอกฎหมายการทำแท้ง โดยที่ ตัวพันเอก จำลอง เอง ก็เป็นหัวหอกคนหนึ่งในการ “ไม่เห็นด้วย” อย่างชัดเจน

และเริ่มต้นสู่ สนามการเลือกตั้งที่แท้จริง….

สี่ปีถัดมา...1 ตุลาคม 2528 หลังจากที่ได้รับพระราชทานยศ “พลตรี” ได้เพียงสองวัน พลตรี จำลอง ลาออกจากตำแหน่งในสภา เพื่อเริ่มต้นชีวิต "นักการเมือง" อย่างเป็นทางการ


จากสนามรบ สู่ สนามการเมือง

การเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในปี 2528 เป็นการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ อีกครั้งในรอบ 10 ปี…..

ตามพระราชบัญญัติระเบียบราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ที่กำหนดให้ “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” มาจาก “การเลือกตั้ง”

พลตรี จำลอง ซึ่งและลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็น ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ก็ได้ก่อตั้ง กลุ่มการเมืองของตนเอง ที่มีชื่อว่า “กลุ่มรวมพลัง” เพื่อลงเลือกตั้ง

โดยมีฐานเสียง ทั้ง จาก “ญาติธรรม” ของกลุ่มสันติอโศก ที่ พลตรี จำลอง ได้เข้าไปปฏิบัติธรรมอยู่เนืองๆ กลุ่มบุคคลที่มีอาชีพ และมีฐานะทางสังคม ที่สนับสนุนในตัว พลตรี จำลอง และ “เพื่อนจำลอง” หลายคน อาทิ พันเอก ปราบ โชติกเสถียร, พันเอก บวร งามเกตุ, พันเอก กัมปนาท เกษวิริยการ เป็นต้น

โดยคู่แข่งคนสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนั้น มีผู้มีชื่อเสียงมากมายลงสมัคร ทั้ง หม่อมราชวงศ์ เจตจันทร์ ประวิตร จาก พรรคประชากรไทย, ชนะ รุ่งแสง จาก พรรคประชาธิปัตย์, มงคล สิมะโรจน์ จาก กลุ่มกรุงเทพฯก้าวหน้า


ประกอบ2-01.jpg

โดยในช่วงการรณรงค์หาเสียง สื่อมวลชนต่างให้ความสนใจ ในตัวพลตรี จำลอง และ ชนะ อย่างมาก จากการที่ พิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในเวลานั้น เทียบเคียง ผู้สมัครทั้งสองว่า เป็น “สินค้าแบกะดิน” กับ ”สินค้าห้าง” ยิ่งทำให้คะแนนสงสาร ของคนกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นไปอีก

และผลการการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ในปี 2528 ก็ปรากฏออกมา…..


ประกอบ3-01.jpg

กลายเป็นว่า “สินค้าแบกะดิน” ได้ใจคนกรุงเทพฯ พลตรี จำลอง เลยได้รับเลือกเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในที่สุด


ประกอบ4-01.jpg

และเป็นจุดเริ่มต้นในเส้นทาง นักการเมือง ในสนามกรุงเทพฯ ของ พลตรี จำลอง

สามปีผ่านไป…..

ภาพลักษณ์ที่ "ใจซื่อมือสะอาด" และ การปฏิบัติตนที่เคร่งครัดในพระศาสนา และ สมถะ จนได้ฉายาว่า “มหาจำลอง” ที่ถึงแม้ พรรคอื่น จะโจมตี เหตุที่มีความเลื่อมใสใน “กลุ่มสันติอโศก” ที่ไม่ได้ขึ้นตรงต่อ มหาเถรสมาคม (เป็นที่มาของ คดีสังฆเภท) แต่ก็ไม่ได้ทำให้ คนกรุงเทพฯ เสื่อมความนิยมในตัว พลตรี จำลอง เลย กลับกัน กลับเพิ่มความนิยมมากขึ้นไปอีก จนมีคนเชียร์ ให้ “มหาจำลอง” ผู้นี้ “ตั้งพรรคการเมือง” สู้กับ พรรคการเมืองเวลานั้น ประชาชนต่างสิ้นหวังหมดศรัทธา

ซึ่งพลตรี จำลอง ก็เคยเปรย ๆ แนวคิดนี้ และให้สัมภาษณ์ถึงแนวความคิดการตั้ง “พรรคการเมือง” ในเชิงที่ว่า พรรคการเมืองนั้น มีความแตกแยก จนประชาชนเสื่อมศรัทธา ตัวนักการเมือง ก็มุ่งหาผลประโยชน์ สองสิ่งนี้จึงเป็นเหตุที่ พลตรี จำลอง อยากเห็น “พรรคการเมืองที่ดี มีคุณธรรม และเป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้”

ซึ่งกลายเป็นแนวคิดหลักในการสร้าง “พรรคพลังธรรม” โดยมี “สัญญาประชาคม” ไว้ว่า

  1. ต้องหวังและรับในสิ่งที่ได้มาโดยชอบธรรมเท่านั้น
  2. จะไม่มีการซื้อเสียงเด็ดขาด
  3. ไม่หวัง หรือ แย่งกันตำแหน่งทางการเมือง
  4. ไม่จวบจ้วง หยาบช้า โกหก

ซึ่งมีคนที่มีบทบาท ในการร่วมสร้างพรรคหลายๆ คน อาทิ ประเสริฐ นาสมพันธ์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร (2533-2537), ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยุคพลตรี จำลอง, ธำรงค์ แสงสุริยจันทร์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร ยุคพลตรี จำลอง เป็นต้น ซึ่งที่ว่ามาคือ “ทีมจำลอง” ที่ช่วยงาน พลตรี จำลอง และใกล้ชิดกันมาโดยตลอด ตั้งแต่ครั้งเป็น กลุ่มรวมพลัง และ รวมพลัง สู้การเลือกตั้งใหญ่ ในปี 2531


ประกอบ5-01.jpgประกอบ6-01.jpg

สนามการเลือกตั้งใหญ่ 2531 พรรคพลังธรรม ได้ 15 ที่นั่งในสภา โดย ได้ที่นั่งมากที่สุด ก็คือกรุงเทพมหานคร ที่ได้ 11 ที่นั่ง (ในการเลือกตั้งรอบแรก ได้ 10 ที่นั่ง แต่ภายหลังมีการเลือกตั้งซ่อม และ ได้เพิ่ม 1 ที่นั่ง)

หลังจากการเลือกตั้ง พรรคเองประกาศตัวเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” ในรัฐสภา (รัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ทั้งสองรัฐบาล)

แต่หลังจากการเลือกตั้งครั้งนั้น 2 ปี วาระ ของพลตรี จำลอง ในฐานะ ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ก็หมดลง พร้อมกับการเลือกตั้งใหม่…

7 มกราคม 2533 เลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ รอบนี้ พลตรี จำลอง ลงในนาม พรรคพลังธรรม….

และชนะการเลือกตั้งแบบที่เรียกว่า “ถล่มทลาย”

ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ปี 2533 ปรากฏออกมา ดังนี้


ประกอบ8-01.jpg

ผลการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ คราวนี้ พลตรี จำลอง “แรงกว่า” ครั้งก่อนเยอะมาก ขนาดที่ว่าคิดคะแนนผู้สมัครที่ไม่ได้รับเลือกอีก 15 คน รวมกัน ก็ยังน้อยกว่า พลตรี จำลอง เพียงคนเดียว…

ประกอบ9-01.jpg

นอกจากนี้ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้สมัครพรรคยัง ได้รับการเลือกตั้งถึง 50 ที่นั่ง จากจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานครในเวลานั้นคือ 57 ที่นั่ง!

ประกอบ10-01.jpg


จากกระแสความแรงของพรรคใน กรุงเทพฯ และการที่เป็น พรรคใหม่ ไฟแรง ภาพลักษณ์ดี ทำให้รัฐบาลในเวลานั้น ยังเคยเทียบเชิญ พรรคเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งก็มีทั้ง เสียงสนับสนุน อย่าง นายแพทย์ อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรค พร้อมสมาชิกอีก 9 คน แถลงข่าวว่าพร้อมจะเข้าร่วมรัฐบาล…

และก็เสียงคัดค้าน อย่าง พลตรี จำลอง เอง เหตุเพราะสถานภาพรัฐบาลในเวลานั้น มีความคอรัปชั่นสูง และ มีแนวโน้มว่าจะอยู่ไม่นาน…

และเป็นเสียงไม่เห็นด้วย ที่ดังกว่า...

เหมือนว่าจะเป็นการคาดเดาที่ดี เมื่อสุดท้าย รัฐบาลของพลเอก ชาติชาย ก็โดนรัฐประหารในปี 2534….


พลังผัก ชนะ พลังเงิน

ระหว่างการที่ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ บริหารราชการ และมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ พรรคเองก็แสดงความคิดเห็น และ เรียกร้องให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตย ร่วมกับพรรคการเมือง และ ภาคประชาชน..

แต่ด้วย รัฐธรรมนูญฯ ฉบับ 2534 มีตัวบทกฎหมาย ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น การให้อำนาจ วุฒิสภา สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ (ซึ่ง วุฒิสภา ในรัฐธรรมนูญฉบับนั้น เป็นการแต่งตั้งจากคณะ

รัฐประหาร) และ กำหนดให้ นายกรัฐมนตรี ไม่ต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (คุ้นๆไหมเอ่ย) นี่เอง ที่ทำให้ การเมืองภาคประชาชน และ พรรคการเมืองอื่นๆ แสดงความเห็นที่ไม่ค่อยจะ “เซย์เยส” เท่าไร

และ การที่พลตรี จำลอง ไม่ได้มีบทบาทในรัฐสภามากนัก (เพราะไม่ได้ลงสมัคร ส.ส.) ทำให้ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจใดๆ มากนัก แต่ คะแนนนิยมของ พลตรี จำลอง ดีมาโดยตลอด ทำให้เมื่อมีการเลือกตั้ง ในเดือน มีนาคม 2535 พลตรี จำลอง เอง ที่เป็นหัวหน้าพรรค เลยตัดสินใจ ลาออก จากการเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร

ในระหว่างการหาเสียง พรรคเองก็ได้เผยแพร่ จดหมายเปิดผนึก ที่พลตรี จำลอง เขียน โดยมีใจความสำคัญว่า “ตนเองขออาสาเป็นนายกรัฐมนตรี” ทำให้กระแสความนิยมของพรรค พุ่งสุดขีด แบบที่ คนรวยยันคนจน “เชียร์พลตรี จำลอง” เป็นจำนวนมาก

และเมื่อการเลือกตั้งมาถึง ผลการเลือกตั้งในครานั้น พรรคได้ที่นั่งในสภา ทั้งหมด 41 คน โดย ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พรรคได้ที่นั่ง 32 จาก 35 ที่นั่ง! จนทำให้ พาดหัวข่าวของ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 23 มีนาคม 2535 พาดหัวใจความว่า “พลังผักชนะพลังเงิน”


ประกอบ11-01.jpgประกอบ12-01.jpgประกอบ13-01.jpg

และเป็นหนึ่งในพรรคแกนนำฝ่ายค้าน ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ในเวลาต่อมา จากการที่ พลเอก สุจินดา คราประยูร “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ดรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

และ พลตรี จำลอง ก็เป็นหนึ่งในแกนนำการชุมนุมขับไล่รัฐบาลด้วย

และได้กลายเป็นเหตุการณ์ “พฤษภาประชาธรรม” ปี 2535

แต่ใครจะคาดคิดว่า ภาพลักษณ์การเป็นแกนนำการชุมนุม ของพลตรี จำลอง จะกลายเป็นดาบสองคม ที่ทำให้ พรรคพลังธรรม มีจุดเปลื่ยนที่เลวร้ายที่สุด จนเหลือเพียง ที่นั่งเดียว...


แตกแยก แตกหัก…

ช่วงที่มีการชุมนุม พลตรี จำลอง เองได้รับ คะแนนนิยมจากประชาชน พอสมควร แต่การตัดสินใจเล็กๆ เพียงเรื่องเดียว ก็ทำให้ ประชาชน เริ่มหมดศรัทธา?

ในเวลานั้น ก็เริ่มมีความขัดแย้ง ในหมู่แกนนำชุมนุม ระหว่างกลุ่มของ พลตรี จำลอง กับ นักวิชาการ ในการที่จะเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล ซึ่งนักวิชาการหลายคนไม่เห็นด้วย แต่พลตรี จำลองยืนกรานที่จะมุ่งหน้านำการชุมนุม

และ อารมณ์ผู้ชุมนุมก็ยังคุกกรุ่น และ เมื่อขอฉันทามติจากผู้ชุมนุมว่า จะเคลื่อนไปยังทำเนียบรัฐบาล ก็ทำให้ใครหลายๆ คน เริ่ม หมดศรัทธา พลตรี จำลอง คิดจะทำอะไรกันแน่?

หลังเหตุการณ์สงบลง และ เพื่อยุติความเคลือบแคลงสงสัย พลตรี จำลอง เลยลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค และ "จาง" ตัวเองให้หมดบทบาทหน้าฉาก พร้อมๆ กับการเลือกที่จะเปิดรับนักการเมืองมากขึ้น โดยไม่มีการตรวจสอบประวัติ ทำให้ประชาชน กำลังสงสัยว่า แนวทางของพรรคกำลังเปลื่ยนแปลง?

ผลการเลือกตั้งอาจจะมีคำตอบ...ว่าดีขึ้น หรือแย่ลง?

การเลือกตั้ง กันยายน 2535 คือสัญญาณความเสื่อมถอย..

จริงที่ ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร คราวนี้ พรรคได้ที่นั่ง มากว่าเดิม (47 ที่นั่ง) แต่ถ้าเรามองลึกลงไป จำนวนที่นั่งในกรุงเทพฯ กลับลดลง…

มีนาคม 2535 พรรคได้ 32 ที่นั่ง จาก 35 ที่นั่งใน กรุงเทพฯ

กันยายน 2535 พรรคได้ 23 ที่นั่ง จาก 35 ที่นั่ง กรุงเทพฯ

ลดลงถึง 12 ที่นั่ง! โดย ในเขตกรุงเทพฯ ใต้ เสียให้กับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ได้ที่นั่งจาก ต่างจังหวัด ซึ่งผลพวงจากการบทบาทของพลตรี จำลอง ในเหตุการณ์ “พฤษภาประชาธรรม” ที่เป็น “ดาบสองคม”

ทั้งในแง่ ที่ว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ รสช.

แต่ ก็ไม่ดีในแง่ที่การเป็นแกนนำเต็มตัว

ประกอบการในช่วงหาเสียง กระแส การโดนโจมตี จากพรรคคู่แข่งในสนามการเลือกตั้งกรุงเทพฯ ว่า “จำลองพาคนไปตาย” ก็ทำให้คะแนนเสียงเสียไปเยอะพอสมควร

แต่สุดท้าย พรรคพลังธรรม ก็เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์

และพร้อมๆ กับความขัดแย้ง ภายในพรรค ที่ค่อยๆ กัดกินและ บั่นทอนพรรค อย่างช้าๆ

เมื่อ คณะรัฐมนตรี ชวน 1 ออกมา เป็นที่น่าสังเกตว่า รัฐมนตรีของส่วนของ พรรคพลังธรรมนั้น ส่วนมากกลับไม่ใช่ “สายวัด” (สายของพลตรี จำลอง)

แต่กลับมีจำนวนของ “สายนอกพรรค" มากกว่า

ไม่ว่าจะเป็น บุญชู โรจนเสถียร ซึ่งต่อมาก็ได้เป็นหัวหน้าพรรค, นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ, ชำนิ ศักดิเศรษฐ์, อดิศร เพียงเกษ เป็นต้น

ซึ่งอาจจะทำให้ “สายวัด” ที่อยู่มานาน อาจจะไม่มีความพอใจบ้าง แต่ก็ไม่ได้แสดงอะไรมากนัก

ประกอบด้วย ในช่วงเวลาแรก คนไทย พึ่งขวัญหนีดีฝ่อ จากเหตุการณ์ “พฤษภาประชาธรรม” โดยที่พรรคที่รวมกันจัดตั้ง ก็เป็นพรรคเทพ เป็นส่วนมาก ซึ่งสร้างความน่าเชื่อถือให้กับรัฐบาลเป็นอย่างมาก….

แต่ ก็คงเป็นช่วงแรกกระมัง…

ปี 2537 พรรคพลังธรรม มีมติ ให้รัฐมนตรีที่อยู่ในรัฐบาล และ เป็น ส.ส. ลาออกทั้งหมด!

และ มีความพยายามนำ พลตรี จำลอง กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง เพื่อชิงอำนาจกลับมา และได้ดำรงตำแหน่งทั้งหัวหน้าพรรคกลับมา และ รองนายกรัฐมนตรีแทน และ การเปลื่ยนตัว คณะรัฐมนตรีในนามของพรรคพลังธรรม หนึ่งในตัวอย่างที่เด่นชัด คือการเปลื่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ…

จาก นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ เป็น พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร!

ทำให้ความขัดแย้งมากขึ้นไปอีก เพราะก่อนหน้านี้ พรรคก็มีความขัดแย้งอยู่แล้ว ทั้งในแง่ในการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเลือกตั้งซ่อม (เลือกตั้งซ่อม กรุงเทพมหานคร เขต 1) และเลือกตั้งท้องถิ่น (สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และ สมาชิกสภาเขต) ในปี 2535, การปฏิรูปการเมือง นำโดย เรือตรี ฉลาด วรฉัตร (ร.น.) ในการเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ความขัดแย้งอยู่ สมาชิกของพรรคที่ไม่ได้เป็น ส.ส. “เห็นด้วย” และมีการล่ารายชื่อ แต่ทว่า… รัฐมนตรี ที่เป็น ส.ส. ทั้งของพรรค และ พรรครวมรัฐบาลในเวลานั้น กลับไม่เห็นด้วย และในเวลาต่อมา การตัดสินใจ ของแกนนำพรรค ก็ได้ออกมาในทิศทางที่ “ไม่เห็นด้วย” ตามมติวิปรัฐบาล และมีมติให้ ส.ส. ของพรรค “ไม่เข้าสภาฯ” เพื่อให้มติ “ตีตกไป”,การลงมติสนับสนุนนโยบาย การปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ซึ่งนโยบายนี้นี่เองที่กลายเป็นจุดที่ ฝ่ายค้าน โจมตีอย่างหนัก

จากเหตุที่กล่าวมา ก็เริ่มเป็นเหตุที่ทำให้เกิดกรณี “กลุ่ม 23” ที่นำโดย นาวาอากาศตรี ประสงค์, บุญชู และ พันเอก วินัย สมพงษ์ ซึ่งประเด็นที่กลุ่ม โจมตี “สายวัด” คือ กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ, รัฐมนตรีที่เข้าร่วมรัฐบาลของพรรค ขาดคุณสมบัติ และจนถึงขั้น มีการโจมตี พลตรี จำลอง ว่ายังมีอำนาจในพรรค ทั้งๆที่ตัวเอง ไม่ได้มีบทบาทภายในพรรคแล้ว

นาวาอากาศเอก ประสงค์ ให้สัมภาษณ์ในกรณีนี้อย่างดุเดือดว่า

“ตนเองได้หมดสิ้นศรัทธาต่อตัว พลตรี จำลอง แล้ว เพราะเป็นคนไม่มีหลักการ ฉกฉวยประโยชน์ สามารถทำใครก็ได้ ถ้าเห็นว่าไม่มีประโยชน์ต่อตัวเอง”

การที่พรรคมีปัญหา ก็ไม่ใช่แค่พรรคเองที่เสื่อมความนิยม แต่มีผลกระทบกับรัฐบาลที่เสถียรภาพ ง่อนแง่นเต็มประดา เพราะ พรรคพลังธรรม ก็เป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลด้วย

และเป็นหนึ่งในสาเหตุ ที่ทำให้มี พระราชกฤษฎีกา ยุบสภา วันที่ 19 พฤษภาคม 2538 วันเดียวกัน ก่อนลงมติเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ….

ซึ่งพรรคเองได้แจ้งไว้ก่อนหน้านี้ว่า “จะไม่สนับสนุน” ให้ ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

แน่นอนเมื่อยุบสภา….

การเลือกตั้งกำลังเข้ามาแทนที่

แต่ “กลุ่ม 23” ซึ่งหลายคน อยู่กับพรรคมาตั้งแต่ตั้งพรรคใหม่ๆ

ก็เลือกเดินออกไปร่วมงานกับ พรรคนำไทย ของ อำนวย วีรวรรณ และ พรรคประชาธิปัตย์ ในที่สุด

สัญญาณความร้าวฉาน ได้แตกจนไม่สามารถกลับมาสมานกันได้อีก…

พร้อมๆ กับการถอยบทบาทของ “สายบ้าน” ที่ภาพลักษณ์ ติดลบถึงขั้นสุด

และ การเข้ามาของ “พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร”


ทักษิณ - (ที่นั่งเดียว) - และแยกทาง

ย้อนกลับไปในรัฐบาล ชวน 1 พลตรี จำลอง ได้ทาบทามนักธุรกิจ คนหนึ่ง เข้าร่วมงานกับพรรค

ในช่วงเวลานั้น นักธุรกิจคนที่ว่า กำลังประสบความสำเร็จกับธุรกิจ โทรคมนาคม

เขาคนนั้น คือ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร

และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

แต่ก็มีเสียงท้วงติงถึง "คุณสมบัติ" ที่ถือหุ้นในบริษัทที่เป็นคู่สัมปทานของรัฐ….

แต่ก็ไม่มีอะไร

ซึ่งพลตรี จำลอง พยายามที่จะหา “ทายาท” ที่จะมากู้หน้าพรรคการเมือง 

จนกระทั่ง 28 พฤษภาคม 3538 พันตำรวจโท ทักษิณ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรม สืบต่อจากพลตรี จำลอง


ประกอบ14-01.jpg

โดยพลตรี จำลอง ได้ให้สัมภาษณ์ว่าทำไมถึงเลือก พันตำรวจโท ทักษิณ เป็นหัวหน้าพรรค ในภายหลังไว้ดังนี้

"...การเมืองไทยขณะนั้นยังไม่หยั่งรากลึก ยังไม่มั่นคง เมื่อยังไม่มั่นคง ก็ต้องได้ผู้นำที่มีความคิดของตัวเอง ได้รับความนิยมอย่างแท้จริง และเป็นคนสร้างความหวังให้ประชาชน ที่สำคัญคือสามารถปฏิบัติได้จริง...

…ที่เรียกกันวันว่า เป็นผู้นำแบบ "Charisma" (มีบารมี) ไม่ใช่แค่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน แล้วจับมาเป็นผู้นำ ดูแล้วมันชาชิน เบื่อหน่าย เลยคิดว่าถ้าได้ผู้นำแบบนี้ คนถึงจะมีความหวัง ซึ่งคุณทักษิณ ก็อยู่ในเกณฑ์นี้"

และสนามการต่อสู้ทางการเมือง ของ พันตำรวจโท ทักษิณ ก็ได้เริ่มขึ้น ในการเลือกตั้ง ในอีก 2 เดือนถัดมา พอๆ กับการแตกออก ของ “กลุ่ม 23” และ บทบาทของ พลตรี จำลอง ที่หายไป….

2 กรกฎาคม 2538 วันเลือกตั้ง ผลออกมาคือ พรรคได้รับเลือกมา 23 ที่นั่ง แต่ จำนวนที่นั่งนั้น ลดลงมากกว่าที่คิด….

กรุงเทพมหานคร หัวใจหลักของพรรค ที่นั่งลดลงถึง 16 ที่นั่ง จริงที่ พันตำรวจโท ทักษิณ ชนะการเลือกตั้งในเขต 2 ก็จริง แต่ก็มิได้นำพา “ยกทีม” (พลังธรรมได้ 2 ที่นั่งจาก พันตำรวจโท ทักษิณ และ อรทัย กาญจนชูศักดิ์ และ อีกหนึ่งที่นั่งจาก ศุภชัย พานิชภักดิ์ ของ ประชาธิปัตย์)

ผลกระทบจาก ความขัดแย้งของพรรค ในระหว่างการเข้าร่วมรัฐบาลชวน 1 กลายเป็นต้นตอของผลการเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปตามเป้าเท่าไร

เช่นเดียสกับ การเสื่อมความนิยมในพี้นที่ กรุงเทพมหานคร อันเป็น “กล่องหัวใจ” กำลังเด่นชัดมากขึ้น และ ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

การเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2539 ก็สะท้อนความเสื่อมนิยมของพรรคได้ดีอีกเช่นกัน กล่าวคือ ในระหว่างการสรรหาผู้สมัครของพรรค เวลานั้น ตัวผู้ว่าราชการฯ ในเวลานั้น อย่าง ร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ก็ประสงค์ ที่จะลงสมัครในนามพรรค แต่ทว่า ก็มีความขัดแย้งกับแกนนำพรรค ที่ต้องการให้ พลตรี จำลอง ศรีเมือง ลงสมัครแทน

เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจ จนถึงขั้นว่าร้อยเอก กฤษฎา ลาออกจากพรรคพลังธรรม แต่ก็ยังลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการฯ ในนามของพรรคประชากรไทย

แต่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในเวลานั้น ก็มี บุคคลสำคัญ ที่สนใจลงสมัคร ทั้ง อากร ฮุนตระกูล อดีต ส.ส. และ พิจิตต รัตนกุล จากกลุ่มมดงาน ซึ่งมีนโยบาย และ ความนิยม ที่สูงกว่าตัว พลตรี จำลอง เองอีกด้วย

และผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็เป็น พิจิตต รัตนกุล ที่ชนะการเลือกตั้งไป

อีกด้านหนึ่ง หลังจากที่พรรคพลังธรรมร่วมจัดตั้งรัฐบาล กับ พรรคชาติไทย แล้วนั้น กลับเป็นว่า พรรคพลังธรรมเอง ก็ก่อปัญหา ให้กับรัฐบาลนี้ด้วยเช่นกัน…..

ทั้งในเรื่องการออกมาให้สัมภาษณ์ของ พันตำรวจโท ทักษิณ เอง ในเรื่องเกี่ยวกับการปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งเรียกร้องให้ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ให้ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ให้กับ ส.ส. กลุ่มเทิดไท ของพรรคชาติไทย ซึ่งไม่ใช่ธุระที่เกี่ยวข้องอันใดกับพรรคพลังธรรม, การจัดสสรตำแหน่งรัฐมนตรี ที่มีความขัดแย้งกันเอง (การจัดสรรตำแหน่ง โดยไม่นึกถึงมติพรรค โควต้า ส.ส. ที่ได้ของแต่ละภูมิภาค), และความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลในเวลานั้น นั่นก็คือ พรรคประชากรไทย ในแง่การบริหารจัดการจราจรในกรุงเทพมหานคร (สมัคร สุนทรเวช เป็นรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลเรื่องการจราจรและสังคม)

จากหลายปัจจัย และ กระแสความนิยม ที่ ”เสื่อมมนต์ขลัง” ก็เป็นเหตุที่ทำให้ การเลือกตั้ง 2539 พรรคพลังธรรม จะประสบความล้มเหลว ชนิดที่ “วอดวายที่สุด”

การเลือกตั้ง ปี 2539 ไม่มีใครคาดคิดว่า พรรคพลังที่เคยได้รับความนิยม กวาดแทบจะหมดกรุงเทพฯ จะกลายเป็นพรรคที่ไม่ใช่แค่ต่ำสิบ แต่เป็น “พรรคที่นั่งเดียว” กลายเป็นพรรคเล็กๆ ที่แตกกระจายบนซากปรักหักพัง


ประกอบ15-01.jpg

โดยความเคลื่อนไหวของพรรค ก่อนการเลือกตั้ง พันตำรวจโท ทักษิณ เลือก ที่จะไม่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยเหตุผลที่ว่า

“การที่ผมไม่ตัดสินใจลงสมัครในวันนี้เพราะผมต้องแบ่งกำลังเป็น 2 ส่วน พวกคุณไปสู้ในสภา ผมและอดีต ส.ส. บางคนไปช่วยรณรงค์เรื่องการปฎิรูปการเมือง ที่ผ่านมามักแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ตลอดการแข่งขันทั่วโลกก็กำลังหมุนไปทุกวันเพราะฉะนั้นประเทศไทยจึงยังล้าหลังประเทศอื่นที่เป็น อย่างนี้ ก็เพราะเราไม่มีการเตรียมตัวเลย เรายังขาดผู้นำที่ไม่มีวิสัยทัศน์มาโดยตลอด เราขาดรัฐบาล ที่ไม่ต่อเนื่อง”

และผลการเลือกตั้งก็ปรากฎออกมา

พรรคได้ ผู้แทนเพียงคนเดียว นั่นคือ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ที่ได้รับเลือกตั้ง ในเขต 7 กรุงเทพมหานคร


ประกอบ16-01.jpg


จากความล้มเหลวของพรรค ทำให้หัวหน้าพรรค คือ พันตำรวจโท ทักษิณ ประกาศลาออก และ ได้มีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่…

ซึ่งมีผู้เสนอชื่อ สุดารัตน์ ในฐานะ ส.ส. เพียงคนเดียวของพรรค กับ ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ “สายบ้าน” คนสำคัญของพรรค

แต่ สุดารัตน์ เลือกที่ สละสิทธิ์ 

และ เป็น ไชยวัฒน์ ที่เป็นหัวหน้าพรรค

และ ผลกระทบที่ตามมาไม่นานคือ การที่สมาชิกของพรรคหลายคน ลาออกจากพรรค

รวมไปถึง สุดารัตน์ ที่หลังจากลาออกจากพรรคก็ได้ตั้งกลุ่มรวมพลังไทย (ซึ่งมี ส.ก. และ ส.ข. ที่ลาออกจากพรรคพลังธรรมอยู่ในสังกัด)

ซึ่ง สุดารัตน์ และ อดีตสมาชิกพรรคพลังธรรม หลายๆ คน ก็ได้ไปร่วม ตั้งพรรคใหม่ ร่วมกับอดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรม พันตำรวจโท ทักษิณ

พรรคที่ว่านั้นก็คือ พรรคไทยรักไทย


จุดจบของวันวาน - วันนี้ของพลังธรรม

หลังจากการเลือกตั้ง 2544 และ 2548 ที่พรรคเอง ไม่ได้ที่นั่งเลยในสภา พรรคก็แทบจะไม่มีบทบาททางการเมืองอยู่เลย จนกระทั่ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีคำตัดสินให้ยุบพรรค ในปี 2550 โดยหัวหน้าพรรคคนสุดท้าย คือ ภมร นวรัตนากร

สิบสองปีผ่านไป ก็ได้มีการรื้อฟื้นพรรคพลังธรรมขึ้นมาใหม่ ซึ่ง ก็คือในชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ โดยมี นายแพทบ์ ระวี มาศฉมาดล อดีตเลขาธิการพรรคพลังธรรม ขึ้นเป็นหัวหน้า โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับ พลตรี จำลอง เลย


ประกอบ17-01.jpg

และในการเลือกตั้ง 2562 ที่ผ่านมา พรรคพลังธรรมใหม่เอง ก็ได้รับการจัดสรรปันส่วน ที่นั่งในสภาฯ ชุดนี้ 1 ที่นั่ง ซึ่งก็คือ นายแพทย์ ระวี เอง และเข้าร่วมรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา

แต่พรรคพลังธรรม ก็สร้างนักการเมือง ที่มีประสบการณ์ และเป็นที่รู้จักพอสมควรในปัจจุบัน และวันนั้นกับวันนี้ เป็นอย่างไร?

พลตรี จำลอง ศรีเมือง - นายทหาร จปร.7 หนึ่งในฐานอำนาจสำคัญ ของพลเอก เกรียงศักดิ์ และ พลเอก เปรม เข้าสู่ชีวิตการเมืองครั้งแรก ด้วยการเป็นวุฒิสมาชิก และ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะลาออก เพื่อลงสมัคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามกลุ่มรวมพลัง และ กลายร่างเป็น พรรคพลังธรรมในกาลต่อมา - พึ่งจะพ้นโทษจำคุก เหตุการบุกรุกทำเนียบรัฐบาล เมื่อ ปี 2551 ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำหลักพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในยุคของ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อีกด้วย 

สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ - ลูกสาว สมพล เกยุราพันธ์ุ อดีต ส.ส. นครราชสีมา ปี 2512 เข้าสู่ชีวิตการเมืองด้วยการเป็น ส.ส. กรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้ง มีนาคม 2535 และเรื่อยมาจนเป็น ส.ส. คนเดียวของพรรค ในการเลือกตั้ง 2539 - หญิงหน่อยแห่งลาดปลาเค้า เลือกที่จะลาออกจากพรรคพลังธรรมและสร้างพรรคไทยรักไทย ก่อนโดนตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ในปี 2549 ปัจจุบัน เธอคือประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย เปรียบเสมือนแม่ทัพใหญ่นอกสภา และมีลูกสาวที่สวยมาก จนในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง 2562 ที่ผ่านมา “พรรคเพื่อเธอ” กลายเป็นวลีเด็ดที่ทำใหใครหลายๆ คน กาพรรคนี้ไป…. เสียอย่างนั้น

ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ - ขึ้นชื่อ “มหาจำลอง” แล้ว จะขาด “มหาไชยวัฒน์” ก็คงเสียมิได้ (เช่นเดียวกับ “มหาธำรงค์” ธำรงค์ แสงสุริยจันทร์) รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมัยพลตรี จำลอง ศรีเมือง (สมัยแรก) และเป็นแกนนำหลักของ “สายวัด” ของพรรค - หนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ในเวลาต่อมาก็ได้ตั้งกลุ่ม สมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย ซึ่งกลายเป็นชนวนความขัดแย้ง กับทั้ง พรรคการเมืองใหม่ และ กลุ่มพันธมิตรฯ  

ธำรงค์ แสงสุริยจันทร์ - ถือว่าเป็นอีกคนหนึ่งที่ทำงานกับพรรคมาตั้งแต่แรกเริ่ม อดีตรองเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร - ไม่ค่อยมีบทบาทมากนักหลังจากการเปลื่ยนผ่าน แต่เน้นทำงานในด้านการส่งเสริมเกษตรธรรมชาติ ตามวิถี สันติอโศก โดยที่ยังเคยมีบทบาท ในการยื่นถวายฏีกา เรียกร้องปล่อยตัว 7 คนไทย ในปี 2554 ป้จจุบันเปลื่ยนชื่อเป็น “ถึงไท แสงสุริยจันทร์” แต่ก็ยังมิวายมีคดีความ ในเรื่องข้อพิพาทที่ดิน 775 ไร่ ในนาม กองทัพธรรมมูลนิธิ กับ ชาวบ้านบุ่งไหม จังหวัดอุบลราชธานี

พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - นักธุรกิจ โทรคมนาคมรายใหญ่ ผู้ที่ พลตรี จำลอง เชิญให้เข้าร่วมงานกับพรรคพลังธรรม และ ได้เป็นหัวหน้าพรรคในที่สุด ซึ่งเป็นยุคที่ตกต่ำที่สุดของพรรคเช่นกัน - ในรอบสิบกว่าปีผ่านมา นี่คือชายที่มีบทบาทมากที่สุดในการเมืองไทย หลังจากลาออกจากพรรคพลังธรรม มาสร้าง พรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้ง สองครั้งซ้อน ก่อนถูกรัฐประหารในปี 2549 และต้องคำพิพากษาอรรถคดีความ เป็นจำนวนมาก ก่อนที่ในเวลาต่อมา มีพระราชโองการถอดยศ และ ริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในปี 2558

บุญชู โรจนเสถียร - อดีตนักการเมือง คู่ใจ หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ตั้งแต่พรรคกิจสังคม ผู้คิดนโยบาย “เงินผัน” ประชานิยม คลาสสิค ก่อนที่จะลาออกมาตั้งพรรคกิจประชาคม และ กลายร่างเป็นพรรคเอกภาพ ก่อนลาออกมาร่วมงานกับพรรคพลังธรรม - เป็นหัวหน้าพรรคที่แทบไม่มีอำนาจใดๆ เลย เพราะอย่างหึ่งคือ การมีบทบาทหลังม่านของ พลตรี จำลอง ศรีเมือง ก่อนที่จะเปิดเผย และกลายเป็น “กลุ่ม 23” ที่ผลลัพธ์คือการ “ตัดขาด” กับ พลตรี จำลอง และ พรรคพลังธรรม และเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคสุดท้าย (เสียชีวิตในปี 2550)

จบตอนนี้จะพักนานนิดนึงนะครับ (แต่เตรียมข้อมูล รอแล้วนะ 5555) เพราะตอนต่อไป เราจะวนเวียนอีกสองพรรค ที่เป็น พรรคที่ชาวกรุงฯ นิยม (นอกจากพรรคประชาธิปัตย์) ตอนหน้า คือ พรรคประชากรไทย และ ตอนมะรีน คือ ตอนของพรรคมวลชน ติดตามอ่านกันได้ครับ แล้วเจอกัน :)



อ้างอิง

สถาบันพระปกเกล้า

  • http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=จำลอง_ศรีเมือง
  • http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร_ครั้งที่_2_(พ.ศ._2528)
  • http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=พลังธรรม_(พ.ศ._2531)

สื่อ

  • https://www.thairath.co.th/news/politic/1501676
  • https://www.matichonweekly.com/column/article_29756
  • http://www.komchadluek.net/news/today-in-history/327742
  • https://www.hfocus.org/content/2015/03/9414
  • https://www.tcijthai.com/news/2013/03/watch/2155
  • https://www.amarintv.com/news-update/news-19683/379137/
  • https://prachatai.com/journal/2013/07/47760

หน่วยงานรัฐ

  • https://library2.parliament.go.th/ejournal/content_af/2559/aug2559-1.pdf
  • http://203.155.220.230/m.info/GovernorPast/jumlong.htm
  • https://spm.thaigov.go.th/web/CRTPRS/spm-sp-layout6-person.asp?m=s&f=1
  • http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2538/E/019/33.PDF
  • http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2539/D/102/30.PDF
  • http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2537/E/050/1.PDF
  • http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2551/A/049/1.PDF
  • http://203.155.220.230/info/bma_k/data/Organization/BMALocalGovernment.htm

อื่นๆ

  • http://teetwo.blogspot.com/2010/05/blog-post_9931.html
  • http://www.asoke.info/Sanasoke/lokutra/sa296_77.html

วิทยานิพนธ์

  • http://digi.library.tu.ac.th/thesis/po/0640/09CHAPTER_3.pdf
  • http://cuir.car.chula.ac.th/dspace/bitstream/123456789/30428/4/Chaiwat_chu_ch3.pdf

เว็บไซต์พรรคพลังธรรม (สืบค้นจาก web archive)

  • https://web.archive.org/web/19970414062119fw_/http://www.pdp.or.th/candidate.html
  • https://web.archive.org/web/19970414062140fw_/http://www.pdp.or.th/fight.htm

กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย. (2535). เทศาภิบาล ฉบับพิเศษ เลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535. : กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง

ศูนย์บริการข้อมูลและกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. “การเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2539 ฉบับที่ 1 ก่อนการเลือกตั้ง”. เอกสารเผยแพร่ในวงงานวุฒิสภา กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2539

ฐานเศรษฐกิจ. (2535). 360 เจ้ายุทธจักรสภาหินอ่อน. กรุงเทพฯ : บริษัทฐานเศรษฐกิจ

วิษณุ เครืองาม. (2557). เล่าเรื่องผู้นำ. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน. หน้า 175-177

สังศิต พิริยะรังสรรค์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2539). จิตสำนึกและอุดมการณ์ของขบวนการประชาธิปไตยร่วมสมัย. กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว. (2544). รัฐบาลผสม. กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เชาวนะ ไตรมาศ. (2540). พรรคการเมือง : ปูมหลังทางโครงสร้าง-หน้าที่ และพัฒนาการทางสถาบัน. กรุงเทพฯ. : สถาบันนโยบายศึกษา

ชิต เจริญประเสริฐ. (2547). ความล้มเหลวของการสร้างสถาบันพรรคการเมือง กรณีศึกษาพรรคพลังธรรม. กรุงเทพฯ. : สถาบันพระปกเกล้า

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต. (2541). ชนชั้นกับการเลือกตั้ง : ความรุ่งเรืองและความตกต่ำของสามพรรคการเมืองในกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิภาษา

ชาติ ดุริยะ
เด็กสายวิทย์ที่ดูเรียนผิดสายพบเห็นได้ตามกลุ่มปรัชญาการเมืองทั่วๆไป
1Article
0Video
5Blog