สำหรับปีนี้หนึ่งในภาพยนตร์ที่ใครๆ อยากดูก็คงมีเรื่อง Joker อยู่ในลิสต์ด้วย (เข้าฉายบ้านเรา 3 ตุลาคม) หนังได้ฉายตามเทศกาลหนังไปบ้างแล้วไม่ว่าจะที่เวนิซหรือโตรอนโต้และได้รับเสียงตอบรับอย่างดี เพื่อนนักวิจารณ์ของผู้เขียนที่ดูหนังแล้วชื่นชมให้ฟังว่านี่ไม่ใช่หนังซูเปอร์ฮีโร่ แต่เป็นหนังที่ว่าด้วยฝ่ายร้ายอย่างโจ๊กเกอร์ล้วนๆ ไม่มีฮีโร่คุณธรรมอย่างแบทแมนออกมาต่อกร กลายเป็นหนังที่พาไปสำรวจมิติต่างๆ ของโจ๊กเกอร์หรือที่เรียกกันว่าหนังแนว character study
เสียงเล่าลือมาว่า Joker เป็นหนังที่เคร่งขรึมตึงเครียดทีเดียว ส่วนการแสดงของ วาคีน ฟินิกซ์ ก็สุดยอดมากจนมีลุ้นรางวัลนำชายบนเวทีออสการ์ มีข้อน่าสนใจว่าในเครือแฟรนไชส์หนังแบทแมนที่เคยสร้างมา Joker เป็นเรื่องแรกที่ได้เรท R (ปกติจะได้ต่ำกว่านั้น) ด้วยความรุนแรงและเนื้อหาที่อาจรบกวนจิตใจผู้ชม ต้องติดตามกันต่อไปว่า DC จะยึดเอาแนวทางซีเรียสจริงจังเช่นนี้กับ Batman ฉบับปี 2021 ที่นำแสดงโดย โรเบิร์ต แพททินสัน หรือไม่
อย่างไรก็ดี คำชื่นชมต่อ Joker ก็มีดราม่าและข้อถกเถียงอยู่บ้าง หนังเปิดตัวครั้งแรกที่เทศกาลภาพยนตร์เวนิซเมื่อช่วงต้นดือนกันยายน หลังฉายจบได้รับแสตนดิ้งโอเวชั่นยาวนานถึง 8 นาที และในค่ำคืนประกาศรางวัล Joker ก็คว้ารางวัลสิงโตทองทำ (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม) รางวัลใหญ่ที่สุดของงานไปได้ ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับหลายฝ่าย เพราะเวนิซมีสถานะเป็นเทศกาลหนังที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ปกติแล้วหนังที่เข้าสายประกวดในเวนิซมักจะเป็นหนังอาร์ต หนังที่ไม่ได้เน้นความบันเทิง หนังที่ไม่ได้เล่าเรื่องตามขนบทั่วไป (จนดูยากหรือดูไม่รู้เรื่อง) หนังอินดี้ทุนไม่สูงนัก หรือไม่ก็หนังจากประเทศโลกที่สาม
ในความเข้าใจดั้งเดิม ‘ฟังก์ชัน’ ของเทศกาลหนังอย่างเบอร์ลิน คานส์ เวนิซ คือการให้พื้นที่กับหนังที่ไม่ใช่หนังกระแสหลักหรือหนังฮอลลีวู้ดและส่งเสริมให้หนังเหล่านั้นมีตัวตนขึ้นมา (เช่นพอ ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ ของอภิชชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้ปาล์มทองคำที่คานส์ ตัวเขาและผลงานก็กลายเป็นที่รู้จักในนานาชาติ) หนังอย่าง Joker มีพื้นที่ของตัวเองได้ในเวทีออสการ์อยู่แล้ว พอมาร่วมประกวดในโซนของเทศกาลหนังแถมยังได้รางวัลสูงสุดก็อาจถูกมองว่ามาแย่งพื้นที่ของฝั่งหนังอาร์ต
แต่ว่ากันตามจริงแล้วเทศกาลภาพยนตร์ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยหนังอาร์ตอย่างเดียว หากต้องมีสิ่งดึงดูดใจ อย่างเช่นการเอาหนังฮอลลีวูดมาร่วมฉายเพื่อให้มีดารามาเดินพรมแดง มีนักข่าวมาทำข่าวจนเกิดกระแส แถมเทศกาลหนังเวนิซช่วงหลังมาก็แทบจะกลายเป็นงาน Pre-Oscar เนื่องจากหนังที่มาฉายเทศกาลนี้ล้วนมีบทบาทสำคัญในออสการ์ ไม่ว่าจะ La La Land (2016), The Shape of Water (2017), Roma (2018) แถมสองเรื่องหลังยังได้รางวัลใหญ่สิงโตทองคำด้วย
ถึงกระนั้น Joker ชนะรางวัลที่เวนิซก็ไม่ใช่เรื่องการสร้างกระแสอย่างเดียว ประธานกรรมการตัดสินหนังสายประกวดปีนี้คือ ลูเครเซีย มาร์เตล ผู้กำกับหญิงชาวอาร์เจนติน่าที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำหนังซับซ้อนดูยาก ซึ่งหลายคนรู้สึกเชื่อการตัดสินของเธอ เมื่อมองในแง่ว่า Joker ดูเป็นหนังแมสที่ไม่แมสเท่าไรจนเข้าทางรสนิยมของมาร์เตล และเอาให้ถึงที่สุดการมอบรางวัลในเทศกาลเวนิซก็มาจากการประชุมของคณะกรรมการ 7 คนเท่านั้น เพียงแต่พวกเขาเป็นผู้กำกับ ตากล้อง นักแสดง และนักวิชาการที่มีผลงานมายาวนานจนได้การยอมรับ
ว่าด้วยความเชื่อถือของการตัดสินรางวัลแล้ว การถกเถียงที่จะเกิดขึ้นในปลายปีแน่นอนคือโพลจัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำทศวรรษ 10 (ช่วงปี 2010-2019) ของสำนักต่างๆ ซึ่งแต่ละนิตยสารหรือเว็บไซต์มีกระบวนการจัดอันดับต่างกันไป บ้างก็เป็นโหวตจากนักวิจารณ์หลักร้อยคน บ้างก็เป็นเพียงการนั่งคุยกันของกองบรรณาธิการไม่ถึงสิบคน
ถามว่าถ้าเราไม่เชื่อหรือรู้สึกไม่เห็นด้วยกับการจัดอันดับเหล่านั้นเป็นเรื่องผิดหรือไม่ ก็ตอบได้เลยว่าไม่ผิด แต่ละสำนักจะมีคาแรกเตอร์และรสนิยมที่ต่างกันไป เป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกถูกใจกับโพลที่มีรสนิยมต้องกับเรา หากแต่สิ่งที่ต้องระวังคือการปฏิเสธโพลที่ไม่ถูกใจโดยสิ้นเชิง บางครั้งมันน่าสนุกดีที่เราค้นหาเหตุผลว่าทำไมหนังเรื่องนี้ที่เราไม่ชอบ (หรืออาจถึงขั้นเกลียด) ถึงติดอันดับ มันน่าสนใจอย่างไร? มีความสำคัญอย่างไร? หรือมีแง่มุมใดที่เราตกหล่นไป
กระบวนการข้างต้นคือการต่อต้านวาทกรรม “หนังที่ดีคือหนังที่เราชอบ” ที่เคยแพร่หลายในเว็บบอร์ดชื่อดังของบ้านเราเมื่อราวสิบปีก่อน น่ายินดีว่าแนวคิดดังกล่าวดูจะค่อยๆ ซาลงไปด้วยการมาของยุคโซเชียลมีเดียที่ไหล่บ่าด้วยความคิดเห็นอันหลากหลาย แม้จะมีข้อความที่เป็นมลพิษเจือปนมาบ้าง แต่อย่างน้อยนี่ก็เป็นแง่งามของการดูหนังในยุคนี้