ไม่พบผลการค้นหา
ภาพการประชุมวงเล็กของนายกรัฐมนตรีที่ตึกไทยคู่ฟ้า เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 29 มีนาคม ไม่ปรากฏทั้ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ในวงประชุม ทั้งที่สองรัฐมนตรีเกี่ยวข้องโดยตรงกับการแก้วิกฤติ COVID-19
655660.jpg655659.jpg

ที่ปรากฏในภาพคือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงพาณิชย์ อยู่ในวงประชุมที่มีแค่คน 5 คน อีกสามคนคือ นายกรัฐมนตรี, รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ประทีป) และ โฆษก ศบค. อีกหนึ่งที่ลงมาเจอกันด้านล่าง ยังตึกสันติไมตรี คือ ปลัดกระทรวงมหาดไทย

ว่ากันว่านี่คือแขน-ขา ของนายกรัฐมนตรีในเวลานี้

ที่ปรากฏในภาพคือ การเชื่อมต่อระหว่าง นายกรัฐมนตรีกับปลัดกระทรวงโดยตรง ไม่ผ่านรัฐมนตรีที่นั่งประจำกระทรวง

นับแต่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีผลในวันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี 3 ฉบับที่สะท้อนให้เห็นการหั่นอำนาจจากรัฐมนตรี กระชับอำนาจสู่มือนายกรัฐมนตรี และต่อสายตรงกับระบบราชการ

เป็นการเลือกใช้งาน “เครือข่ายหมอ-เครือข่ายมหาดไทย-ผอ. เหล่าทัพ” แก้วิกฤติโควิด-19 โดยตรง

แทนที่จะฝากความหวังไว้กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า “มือไม่ถึง-มีวาระเร้น-ต่างคนต่างทำ” จนต้องขอตัวช่วยพิเศษ ทั้งที่เป็น “อาจารย์หมอ” นำทีมโดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร-คณบดีคณะแพทย์ฯ และ “กฎหมายพิเศษ” เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เข้าช่วยแก้ไขทันเวลา ก่อนกราฟการติดเชื้อของไทยจะชันสูงขึ้นไปเหมือนอิตาลี

คำสั่งนายกรัฐมนตรีทั้ง 3 ฉบับได้แก่

1. คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4 / 2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563

655666.png655667.png

ข้อ 1 กำหนดให้ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน พนักงานเจ้าหน้าที่ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ในข้อ 2 ยังคงปรากฏอำนาจของรองนายกรัฐมนตรี ทั้ง “อนุทิน-จุรินทร์” อยู่

โดยระบุว่า ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ช่วยผู้กำกับการปฏิบัติงานของนายกรัฐมนตรี เรียงตามลำดับการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีตามที่มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีไว้แล้ว และให้ปฏิบัติภารกิจตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

ข้อ 3 ให้ “ปลัดกระทรวง” อันประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เข้ามารับหน้าที่ “หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน” ในด้านต่างๆ

และให้ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ประสานงานทั่วไป

นัยยะของคำสั่งในข้อที่ 3 อยู่ที่การหั่นอำนาจ-กระชับอำนาจ-ต่อสายตรงอำนาจ เลือกใช้งาน “ปลัดกระทรวง” (ตำแหน่งสูงสุดในระบบราชการ) แทน “รัฐมนตรี” ซึ่งมาจากฝ่ายการเมือง

“นักการเมือง” ที่ “มือไม่ถึง-มีวาระเร้น-ต่างคนต่างทำ” ซึ่งทำให้การบริหารวิกฤติไม่เป็นเอกภาพ

เหมือนที่นายกรัฐมนตรี ย้ำในการแถลงก่อนประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า “ผมจะเป็นผู้นำในภารกิจนี้ และรายงานตรงต่อประชาชนชาวไทยทุกคน”

“บูรณาการทุกส่วนราชการ และสั่งการทุกส่วนราชการได้อย่างมีเอกภาพ รวดเร็ว เนื่องจากในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ จำเป็นต้องรวมศูนย์สั่งการไว้ที่เดียวเพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจนและขจัดปัญหาการทำงานแบบต่างคนต่างทำ ของหน่วยงานต่างๆ โดยมีผมเป็นประธาน”

จากระบบสั่งการเป็นลำดับชั้น จึงหั่นรัฐมนตรีออกไป แทนที่ด้วยการสั่งตรงจาก “นายกรัฐมนตรี” ถึง “ปลัดกระทรวง” และ จาก “ปลัดกระทรวง” ถึง “อธิบดี - ข้าราชการมือทำงาน”

2. แม้จะมีบางเสียงเบี่ยงประเด็นว่า ภายหลังการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้ว อำนาจของ “รัฐมนตรี” ไม่ได้หายไปไหน แต่นั่งเป็น “กรรมการ” อยู่ใน “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19” ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 5 / 2563 เรื่อง การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

655669.png655670.png


655671.png655672.png

ทว่าเมื่ออ่านคำสั่งในข้อที่ 2 จะพบว่าอำนาจของ “รัฐมนตรี” ในการร่วมตัดสินใจถือว่า “เบาบาง”

เพราะในคำสั่งระบุชัดว่า “ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการโดยรวดเร็วและจะเรียกประชุมคณะกรรมการให้ทันท่วงทีมิได้ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจใช้อำนาจคณะกรรมการไปพลางก่อนได้ หรือจะประชุมร่วมกับกรรมการเฉพาะบางคนในเรื่องที่อยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบกรรมการผู้นั้น โดยอาจเชิญบุคคลอื่นมาร่วมหารือด้วยก็ได้ มติของที่ประชุมถือเป็นมติคณะกรรมการ”

กล่าวคือ

นายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจคณะกรรมการไปพลางก่อนก็ได้

นายกรัฐมนตรีจะประชุมร่วมกับกรรมการ (รัฐมนตรี) เฉพาะบางคนก็ได้

ทว่า มติของที่ประชุมถือเป็นมติของคณะกรรมการ

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว อำนาจของสองรัฐมนตรีที่เป็นหลักในการแก้วิกฤติก่อนหน้านี้ จึง “หมดสภาพ” เหมือนที่สื่อเริ่มขนานนามเรียกกันแล้วว่า “รัฐมนตรีหมดสภาพ”

“หมดสภาพ” เพราะไม่อยู่ในโครงสร้างการบัญชาการวิกฤติที่แท้จริง

แต่จะถูกหั่นอำนาจไปมากขนาดไหน ภาพวงประชุมนับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา ตอบคำถามนี้ได้ด้วยตัวเอง

สองรัฐมนตรีไม่ได้เข้าร่วมประชุมที่ ศบค. ถี่เหมือนก่อนหน้า ต้องออกไปสร้างกำหนดการรายวันให้เป็นข่าวด้วยตนเอง

3. มาที่คำสั่งของนายกรัฐมนตรี ที่ 6 / 2563 เรื่อง การจัดโครงสร้างของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 ลงนามแต่งตั้งโดย นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 มีผลทันทีเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

*** แนบไฟล์ภาพ

655673.png655674.png

โดยเป็นคำสั่งเพื่อจัดโครงสร้างภายในของ ศบค. แบ่งออกเป็น 10 ศูนย์

- สำนักงานเลขาธิการ มีรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ที่นายกฯ มอบหมายเป็นหัวหน้าสำนักงาน

- สำนักงานประสานงานกลาง ให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นหัวหน้าสำนักงาน

- ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นหัวหน้าศูนย์

- ศูนย์ปฏิบัติการด้านมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชน ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าศูนย์

- ศูนย์ปฏิบัติการกระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าศูนย์

- ศูนย์ปฏิบัติการด้านการควบคุมสินค้า ให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าศูนย์

- ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศ และดูแลคนไทยในต่างประเทศ ให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นหัวหน้าศูนย์

- ศูนย์ปฏิบัติการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ ให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหัวหน้าศูนย์

- ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นหัวหน้าศูนย์

- ศูนย์ปฏิบัติการด้านข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากติดเชื้อโควิด-19 ให้ปลัดสำนักนายกรัฐนตรีเป็นหัวหน้าศูนย์

นัยยะของคำสั่งนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 4 และฉบับที่ 6 จึงสอดรับกัน อยู่ที่การหั่นอำนาจ-กระชับอำนาจ-ต่อสายตรงอำนาจ เลือกใช้งาน “ปลัดกระทรวง” แทน “รัฐมนตรี”

คำสั่งนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 4 และฉบับที่ 6 คือเหตุผลที่ไม่ปรากฏ “อนุทิน-จุรินทร์” ในวงประชุมใหญ่-วงประชุมเล็กของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19

จากที่ไล่เรียงมา นาทีนี้ต้องถามดังๆ ว่า แล้วคนระดับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องเป็นเสาหลักการแก้วิกฤติ COVID-19 อยู่ตรงไหนในโครงสร้างอำนาจ-บัญชาการแก้วิกฤติสำคัญนี้ ?

หรือ “รัฐมนตรีหมดสภาพ” แล้ว ?

ทว่าหลังวิกฤติโควิด-19 จะเป็นอย่างไรต่อ หรือถึงคราวปรับออกจากวงโคจรเต็มรูป

วยาส
24Article
0Video
63Blog