พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด นำประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพครั้งที่ 1 ประจำปี 2564 พร้อมด้วยพล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก, พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ, พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมประชุม
โดยผู้บัญชาการหารสูงสุดนำแถลงนโยบายตามแนวทางของรัฐบาลและกระทรวงกลาโหม โดยยึดหลัก กองทัพไทยพิทักษ์ รักษา ปกป้อง เทิดทูน พระมหากษัตริย์องค์จอมทัพไทย และน้อมนำแนวทางพระราชทานมาดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน 6 ด้าน
1. การพิทักษ์ รักษา ปกป้อง เทิดทูน สถาบันพระมหากษัตริย์ ดำรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์ ตลอดจนดำเนินการตามแนวทางพระราชทาน สืบสาน รักษา ต่อยอด ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2. การป้องกันประเทศ
3. การรักษาความมั่นคงของรัฐ
4. การสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับมิตรประเทศ
5. การพัฒนาประเทศ ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ และช่วยเหลือประชาชน
6. การบริหารจัดการกองทัพ
เมื่อถามถึงจะทำความเข้าใจอย่างไรกับคนบางส่วนที่ยังไม่เข้าใจเรื่องสถาบัน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวว่า ทุกอย่างต้องดำเนินการตามกฎหมาย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ตราบเท่าที่ไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชนและประเทศชาติ เพราะกำลังทหารมีหน้าที่ปกป้องประเทศ ปกป้องรัฐ ประมุขของรัฐ พร้อมย้ำว่ามาตรา 8 ของ รธน. 60 บัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ซึ่งข้าราชการทหารก็มีขวัญกำลังใจ และปลาบปลื้มในการปฎิบัติหน้าที่
เมื่อถามถึง บทบาทกองทัพกับการเมือง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวว่า เรื่องการเมืองเป็นเรื่องการบริหารประเทศ ตามที่ได้รับมอบตามกฎหมาย ทหารก็เป็นกลไกของรัฐบาล ทหารก็เป็นกลไกในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่วนการเมืองนั้น ทหารไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่จะเกี่ยวข้องกันคือเรื่องความมั่นคงของรัฐ ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของทหาร โดยไม่ต้องมีใครสั่ง เพราะเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามถึงบทบาท ส.ว.ของ ผบ.เหล่าทัพนั้นจะวางบทบาทอย่างไร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวว่า การเลือกตั้งกำหนดให้มี ส.ว.ให้ผู้มีความรู้ความสามารถมาดูแล คงเป็นห้วงเวลาหนึ่งตามบทเฉพาะกาล ซึ่งเราเป็นตามกรอบรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถบอกได้ว่ามีความเห็นอย่างไร เพราะเป็นข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ เมื่อเข้าไปเป็น ส.ว.ก็ต้องดำเนินการไปตามนั้น ส่วนเรื่องการรับเงินเดือน แนวทางเป็นไปแล้วแต่บุคคลว่าจะพิจารณาอย่างไร ถึงความเหมาะสมในการปฎิบัติหน้าที่นั้นๆ ด้วย เป็นเอกสิทธิเฉพาะตัวที่จะพิจารณา
ทั้งนี้มีรายงานว่า ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ได้หารือร่วมกันแล้วจะไม่รับเงินเดือนในตำแหน่งวุฒิสภา โดยผู้บัญชาการเหล่าทัพจะประสานไปยังสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเป็นรายบุคคลต่อไปเพราะเป็นสิทธิส่วนบุคค
เมื่อถามถึงหน้าที่นอกรัฐธรรมนูญ จะให้ความมั่นใจประชาชนอย่างไรว่าจะไม่เกิดการปฏิวัติ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้อยู่ในแนวทางการดำเนินการอยู่แล้วตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เราปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข ทหาร ก็คือประชาชน ทุกอย่างเรามีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เราเชื่อมั่นอย่างที่ประชาชนเชื่อมั่นว่าจะเป็นการปกครองที่แย่น้อยที่สุดในสังคมโลก เพียงแต่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนพลเมือง มีโอกาสเป็นพลังของแผ่นดินมีสิทธิ และมีคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดี ย้ำว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในความคิดของทหารในปัจจุบัน
ส่วนการชุมนุม 14 ต.ค. ที่จะถึงนี้เชื่อว่าตำรวจดูแลได้ ยังไม่ต้องถึงขั้นให้ทหารไปดูแล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: