ไม่พบผลการค้นหา
สหประชาชาติออกโรงเตือน ชาวเมียนมาในรัฐกะยานับแสนเสี่ยงเผชิญภัยอดยาก-โรคระบาด เหตุต้องหนีภัยสงครามสู้รบ แนะชาติเพื่อนบ้านเร่งช่วยเหลือ

โธมัส แอนดรูวส์ (Thomas Andrews) คณะทำงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาจากสหประชาติ เผยรายงานว่า รัฐกะยา (Kayah State) ทางตะวันออกของประเทศ กำลังจะถึงจุดวิกฤตด้านมนุษยธรรมจากการที่ชาวเมียนมาในรัฐดังกล่าวหลายพันคนกำลังเผชิญกับความอดยาก อันเป็นผลจากการภัยหนีสู้รบระหว่างกองทัพทหารพม่า กับกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุืที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล 

แอนดรูวส์ ระบุในรายงานว่า ชาวบ้านมากกว่า 100,000 คนต้องลี้ภัยละทิ้งถิ่นฐานจากภูมิลำเนาเพื่อหนีความขัดแย้ง จากการโจมตีด้วยระเบิดและการยิงปืนใหญ่จากฝ่ายกองทัพ โดยประชาชนชาวกะยาจำนวนมากต่างต้องหนีเข้าป่าบริเวณโดยไม่มีอาหาร น้ำดื่ม หรือที่พักอาศัย

ผู้แทนฯ ยูเอ็นระบุในรายงานอีกว่า เขาได้รับรายงานว่ากองกำลังทหารได้ปิดกั้นเส้นทางสู่รัฐกะยา เพื่อสกัดการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ถึงกับมีการวางกับดักระเบิดบนท้องถนน โดยเฉพาะชุมชนในเขต Demoso ที่ชาวบ้านจำนวนมากไม่สามารถเข้าไปอาศัยพักพิงได้ เขาเตือนว่า รัฐกะยาอาจมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากความหิวโหย และภัยโรคระบาด หากไม่มีปฏิบัติการช่วยเหลือโดยเร็ว พร้อมทั้งเรียกร้องให้ชาติเพื่อนบ้านเร่งดำเนินทุกมาตรการเพื่อส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

"การเสียชีวิตเพราะอดอยาก โรคระบาดและการติดเชื้อโรคที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น อาจเกิดขึ้นได้ในรัฐกะยาถ้าไม่มีการจัดการในทันที .. ประชาชนใน Demoso ต้องอยู่รอดโดยอาศัยน้ำข้าว เราไม่สามารถส่งกระสอบข้าวไปให้พวกเขาได้"

เมียนมาตกอยู่ในวิกฤตด้านมนุษยธรรมนับตั้งแต่มีเหตุรัฐประหารเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังกองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลอองซานซูจี โดยรัฐบาลทหารได้พยายามปราบปรามการเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงรายวันอย่างรุนแรง โดยจากข้อมูลขององค์กรช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners - AAPP) เผยว่า ประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูกสังหารไปแล้วอย่างน้อย 850 คน และมีนักโทษการเมืองถูกจับไปถึง 4782 ราย


นักสิทธิ์ฯ แนะอาเซียนเดินหน้าสันติวิธี-กองทัพยุติความรุนแรง

ด้านอิกอร์ บลาเซวิก (Igor Blazevic) นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนชาวบอสเนีย ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมในเมียนมา ได้ให้แนวคิดกรอบการสร้างสันติวิธีเพื่อนำไปสู่การยุติความรุนแรงผ่านคอลัมน์ในเว็บไซต์สำนักข่าวอิรวะดี โดยชี้ว่าอาเซียนควรเป็นตัวกลางในการเร่งดำเนินท่าทีเพื่อสนับสนุนสันติในเมียนมาผ่านแนวทางของสหประชาชาติ

บลาเซวิก แนะว่าอาเซียนและสหประชาชาติควรเปิดพื้นที่ให้ผู้แทนจากรัฐบาลคู่ขนานเมียนมา ( National Unity Government - NUG) ซึ่งเป็นฝ่ายของอองซานซูจี เจรจาร่วมกับกองทัพและคณะรัฐประหาร เนื่องจากถือเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงที่ส่งผลต่อสถานการณ์ในเมียนมา

ขณะเดียวกันอาเซียนต้องกระตือรือร้นในการสนับสนุนวิธีการแก้ปัญหาของสหประชาชาติเพื่อร่วมกันกำหนดคำสั่งห้ามการใช้อาวุธโจมตีหรือใช้ความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์ อีกทั้งต้องกำหนดกรอบระยะเวลาอันชัดเจนในการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลพลเรือนในอนาคตด้วยกระบวนการเลือกตั้ง 

รัฐบาลทหารต้องปล่อยนักโทษการเมืองทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข โดยอาเซียนต้องใช้ไม้แข็งบีบบังคับเมียนมาด้วยการยกเลิกสถานะสมาชิกชั่วคราว หากรัฐบาลทหารไม่สามารถทำตามกรอบระยะเวลาของกระบวนการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวได้ ขณะเดียวกันรัฐบาลทหารยังต้องให้คำมั่นในการยุติใช้ความรุนแรงและปฏิบัติการทางทหารต่อกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ซึ่งนักวิชาการด้านสิทธิฯ มองว่าจะช่วยยับยั้งความรุนแรงและต้นเหตุของวิกฤตด้านมนุษยธรรมได้ พร้อมเร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทันที

ที่มา: Reuters , Irrawaddy