การใส่หน้ากากและเว้นระยะยังสำคัญที่สุด
งานวิจัยชิ้นนี้จากศูนย์วิจัยละอองลอยของมหาวิทยาลัยบริสตอล เป็นงานวิจัยชิ้นแรกของโลกที่จำลองโอกาสในการติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่เชื้อลอยอยู่กลางอากาศ ทั้งนี้ งานวิจัยยังได้ตอกย้ำว่า การใส่หน้ากาก และการเว้นระยะห่างยังคงเป็นวิธีในการป้องกันการติดเชื้อได้ดีที่สุด โดยถึงแม้ว่าระบบระบายอากาศอาจจะพอช่วยได้ แต่ก็ยังส่งผลต่อการลดการแพร่เชื้อได้ไม่มากนัก
“ผู้คนมักไปให้ความสนใจอยู่กับแค่ระบบระบายอากาศ และคิดเรื่องการแพร่เชื้อในอากาศช่วงระยะข้ามเมตรระหว่างมุมห้อง ผมไม่ได้บอกว่ามันไม่ได้เกิดขึ้น แต่ผมคิดว่าโอกาสเสี่ยงที่สุดคือเมื่อคุณอยู่ใกล้กับใครก็ตาม” โจนาธาน รีด ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยละอองลอยของมหาวิทยาลัยบริสตอลระบุ
จำลองโอกาสการติดเชื้อตามสภาพจริง
ก่อนหน้านี้ ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับระยะเวลาที่เชื้อไวรัสจะรอดชีวิตในละอองขนาดเล็กบนอากาศได้นานเท่าใดนั้น มีการทำการศึกษาด้วยวิธีการฉีดพ่นไวรัสลงในภาชนะปิดสนิทที่เรียกว่า ‘โกลด์เบิร์ก’ ซึ่งมีระบบหมุนเวียนอากาศอยู่ภายใน วิธีการทดลองดังกล่าวทำให้นักวิจัยในสหรัฐฯ คาดว่า เชื้อไวรัสอาจรอดชีวิตในอากาศได้นานถึง 3 ชั่วโมง ในขณะที่การทดลองนี้ไม่ได้จำลองจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเมื่อเราไอหรือจาม
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริสตอลจึงได้ทำการพัฒนาเครื่องมือ ที่จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างอนุภาคเล็กๆ ที่ประกอบไปด้วยไวรัสจำนวนเท่าใดก็ได้ ซึ่งพวกเขาจะปล่อยให้ไวรัสดังกล่าวลอยอยู่ในอากาศระหว่างวงแหวนไฟฟ้าสองวง ด้วยระยะเวลาห่างกัน 5 วินาที ถึง 20 นาที ทั้งนี้ อุปกรณ์มีการควบคุมอุณภูมิ ความชื้น และความหนาแน่นของรังสียูวี เพื่อจำลองกระบวนการหายใจออกของมนุษย์
สภาพอากาศส่งผลต่อไวรัสที่ลอยอยู่ในอากาศ
จากงานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่า เมื่อละอองของไวรัสถูกปล่อยออกมาในสภาวะที่มีความชื้น และเต็มไปคาร์บอนไดออกไซด์ในปอด ตัวเชื้อจะเริ่มสูญเสียน้ำอย่างรวดเร็วและแห้งลงไป ทั้งนี้ เมื่อเชื้อเปลี่ยนผ่านตัวเองเข้าสู่สภาวะที่มีคาร์บอนได้ออกไซด์ต่ำแล้ว มันจะทำให้ค่ากรดด่าง pH เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจัยทั้งสองจะเป็นอุปสรรคไม่ให้ไวรัสสามารถแพร่ระบาดในเซลล์ของมนุษย์ อย่างไรก็ดี ระยะเวลาที่อนุภาคของเชื้อจะแห้งตัวลงจะมีอัตราที่แตกต่างกันออกไปตามความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศโดยรอบ
ในสถานที่ที่มีอากาศแห้งต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพบได้มากในสำนักงานหลายแห่ง เชื้อไวรัสจะสูญเสียความสามารถในการแพร่ระบาดลงไปกว่าครึ่ง ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 5 วินาที หลังจากนั้น ความสามารถในการแพร่ระบาดจะเริ่มชะลอตัวลงและคงที่มากยิ่งขึ้น และจะสูญเสียความสามารถในการแพร่ระบาดลงอีก 19 เปอร์เซ็นต์ในระยะเวลา 5 นาทีถัดมา
ทั้งนี้ ในความชื้นของอากาศที่ 90 เปอร์เซ็นต์ หรือเปรียบเทียบคล้ายกันกับสภาพอากาศของห้องอบไอน้ำหรือห้องอาบน้ำ อัตราในการแพร่เชื้อของไวรัสจะลดลงทีละน้อย โดย 52 เปอร์เซ็นต์ของอนุภาคจะยังมีโอกาสในการติดเชื้อได้ภายในระยะเวลา 5 นาที และจะลดลงอีก 10 เปอร์เซ็นต์เมื่อผ่านไปแล้ว 20 นาที โดยหลังจากระยะเวลาดังกล่าว เงื่อนไขของการแพร่ระบาดจะเริ่มไม่มีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ นักวิจัยพบว่าปัจจัยเรื่องอุณหภูมิไม่ได้ส่งผลต่อโอกาสในการแพร่เชื้อแต่อย่างใด
โอกาสการแพร่เชื้อยังคงเป็นระยะห่างของคนสู่คน
“มันหมายความว่าถ้าผมไปเจอเพื่อนเพื่อกินมื้อกลางวันกันในร้าน (ความเสี่ยง) อันดับต้นๆ ที่ผมจะแพร่เชื้อไปยังเพื่อน หรือเพื่อนแพร่เชื้อมายังผม มีมากกว่าการที่เชื้อจะแพร่มาจากคนอื่นที่นั่งอยู่ตรงอีกมุมหนึ่งของห้อง” รีดระบุ สิ่งนี้ช่วยตอกย้ำว่า การใส่หน้ากากและการเว้นระยะห่างยังคงสำคัญที่มากที่
จูเลียน ถาง นักไวรัสวิทยาทางคลินิกจากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ระบุเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจวิจัยภาคพื้นช่วยชี้ข้อเท็จจริงที่ว่า “หน้ากากมีประสิทธิภาพมาก เช่นเดียวกันกับการเว้นระยะห่างทางสังคม… รวมถึงการระบายอากาศที่จะช่วยได้เหมือนกัน หากตัวระบายอากาศอยู่ใกล้กันกับแหล่งแพร่เชื้อ”
งานวิจัยดังกล่าวพบผลลัพธ์ที่ลดลงของการแพร่เชื้อโควิด-19 ทั้งสามสายพันธุ์กลายพันธุ์ก่อนหน้า โดยทีมวิจัยคาดว่าจะเริ่มทำการศึกษาเชื้อโอไมครอนต่อในช่วงระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่จะถึงนี้ เพื่อหาคำตอบว่ามันจะมีโอกาสในการแพร่เชื้อที่ลดลงจากการลอยตัวอยู่ในอากาศเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหรือไม่
ที่มา: