สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงถึงสัมภาษณ์ของ ยาสึฮิเดะ นากายามะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น ซึ่งระบุว่า หากการตอบโต้ของบรรดาชาติที่เป็นประชาธิปไตยต่อการก่อรัฐประหารของเมียนมานำไปสู่กับปิดกั้นช่องทางการสื่อสารโดยตรงกับนายพลผู้ทรงอิทธิพลเมียนมา ความเคลื่อนไหวนี้อาจกำลังทำให้เกิดความเสี่ยงที่เมียนมาจะถูกผลักให้เข้าไปอยู่กับอิทธิพลจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นระบุด้วยว่า หากว่าชาติประชาธิปไตยไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์นี้ได้ดีพอ มีความเป็นไปได้ว่าเมียนมาอาจเริ่มออกห่างจากความเป็นประชาธิปไตย และไปร่วมมือกับมหาอำนาจอย่างจีนแทน ซึ่งสิ่งที่ทางการญี่ปุ่นต้องการจะทำหลังจากนี้ก็คือการพิจารณาร่วมกับบรรดาชาติพันธมิตรถึงกลยุทธ์ในการร่วมมือเพื่อจัดการกับสถานการณ์นี้อย่างรอบคอบ
ยาสึฮิเดะ นากายามะ ยังกล่าวด้วยว่า มาตรการใดก็ตามที่จะก่อให้เกิดการระงับความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างญี่ปุ่นและเมียนมา สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ 'ชัยชนะของจีน' ในการได้มาซึ่งอิทธิพลที่มากขึ้นและอาจกระทบต่อสเถียรภาพความมั่นคงของทั้งภูมิภาค
"หากเราหยุด ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพเมียนมาและจีนมีแต่จะแข็งแกร่งขึ้น และเมียนมาจะเริ่มออกห่างจากชาติที่เป็นประชาธิปไตย ทั้ง สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ผมคิดว่านั่นจะสร้างความเสี่ยงอย่างมากต่อสเถียรภาพทางความมั่นคงของภูมิภาค"
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นคือหนึ่งในประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับเมียนมามาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีการเข้าไปลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาลในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือภาคการผลิต เช่น ในปี 2561 บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นขนาดใหญ่เข้าไปลงทุนในภาคการผลิตมากถึง 45 บริษัทในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวาของนครย่างกุ้ง
แน่นอนว่าการก่อรัฐประหารของกองทัพเมียนมาจะส่งผลกระทบโดยตรงกับนักลงทุน เพราะญี่ปุ่นคือประเทศที่ยึดถือในหลักการประชาธิปไตย และเป็นพันธมิตรสำคัญของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ซึ่งทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นและสหรัฐฯต่างก็ออกมาเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาปล่อยตัว อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ พร้อมด้วยสมาชิกพรรครัฐบาลพลเรือนของเธอ และเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาคืนประชาธิปไตยให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด