ไม่พบผลการค้นหา
ทางการสหรัฐฯ จับกุม 3 ผู้ก่อเหตุการแฮกบัญชี Twitter ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ หนึ่งในผู้เสียหายคือ บารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ

​เว็บไซต์ The Verge รายงานว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาอย่าง สำนักงานสอบสวนกลาง (FBI), หน่วยงานสรรพากรสหรัฐฯ (IRS) หน่วยสืบราชการลับสหรัฐฯ (US Secret Service) และกรมบังคับใช้กฎหมายของมลรัฐฟลอริดา ได้ทำการจับกุม แกรม คลาร์ก วัยรุ่นชายวัย 17 ปี ในเมืองแทมปาของฟลอริดา ด้วยข้อหาการบงการอยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์การบุกรุกความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของบริษัททวิตเตอร์ และข้อหาอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 30 กระทง ซึ่งนับว่าเป็นการแฮกที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของทวิตเตอร์

เหตุการณ์ในครั้งนี้พบว่ามีการแฮกบัญชีทวิตเตอร์ของบริษัทใหญ่และคนดังระดับโลกมากมาย เช่น บารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ, โจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ, บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์, อีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทสเปซเอ็กซ์และเทสลา, คานเย เวสต์ นักร้องชื่อดัง, และบริษัทแอปเปิล เป็นต้น โดยในการแฮกบัญชีคนดังนี้เขายังได้ประกาศขอรับเงินบริจาคเป็นสกุลเงินบิตคอยน์ใน วันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมาด้วย

อย่างไรก็ตาม แกรม คลาร์ก ไม่ใช่ผู้ก่อเหตุเพียงผู้เดียว The Verge รายงานว่า ภายหลังที่เขาถูกจับกุมตัว ผู้ต้องสงสัยอีกสองคนก็ถูกเจ้าหน้าที่ตั้งข้อหาคือ นีมา เฟเซลี วัย 22 ปี จากเมืองออร์แลนโดของฟลอริดา และ เมสัน เชปเพิร์ด วัย 19 ปี จากประเทศอังกฤษ โดยทั้งคู่ใช้นามแฝงในโลกออนไลน์ว่า Rolex และ Chaewon ตามลำดับ ซึ่งทั้งสองถูกตั้งข้อหาสมรู้ร่วมคิดและเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่ FBI เปิดเผยว่าขณะนี้สามารถรวบตัวได้แล้วทั้งหมด 2 คน ขณะที่เยาวชนผู้ก่อเหตุและไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อคนหนึ่งได้ยอมรับกับเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ ว่า มีส่วนร่วมในการช่วย Chaewom 'ขายการเข้าถึงบัญชีทวิตเตอร์'  

ทั้งนี้ ตามคำให้การอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรที่ถูกเปิดเผยออกมา วันที่ 31 ก.ค. ทางการสหรัฐฯ มีหลักฐานซึ่งชี้ว่า คลาร์ก คือบุคคลที่สามารถเข้าถึงระบบภายในของทวิตเตอร์ได้และเป็นผู้ลงมือก่อเหตุ โดยคลาร์กได้โน้มน้าวคนในของทวิตเตอร์ให้เชื่อว่าเขาคือหนึ่งในพนักงานด้านไอทีของทวิตเตอร์เช่นกัน และหลอกลวงให้พนักงานคนดังกล่าวอนุญาตให้เขาเข้าถึงข้อมูลสำคัญในฐานข้อมูลลูกค้าได้สำเร็จ ก่อนจะเข้าไปใช้บัญชีของคนดังต่างๆ เพื่อขอรับเงินบริจาคในสกุลบิตคอยน์ โดยจากแผนการดังกล่าวเขาสามารถทำเงินได้จากค่าคอมมิชชันไป 117,000 ดอลลาร์ หรือราว 3.65 ล้านบาท

The Verge รายงานว่า นีมา เฟเซลี ถูกปรับเป็นเงิน 250,000 ดอลลาร์ หรือราว 7.8 ล้านบาท และถูกสั่งจำคุก 5 ปีเต็ม ขณะที่ เมสัน เชปเพิร์ด ถูกตั้งข้อหาการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต วางแผนทุจริตหลอกลง และการฟอกเงิน ซึ่งข้อหาที่หนักที่สุดมีโทษจำคุก 20 ปี และปรับเงิน 250,000 ดอลลาร์ หรือราว 7.8 ล้านบาท