ไม่พบผลการค้นหา
'ภูมิธรรม' เยือนระนองเร่งผลักดันการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ หนุนเซ็น MOU มังคุดใต้ พร้อมรุกตลาดเอเชีย โกยเงินเข้าประเทศกว่า 65 ล้านบาท

22 ม.ค. 2567 ณ ห้องราชาวดี ชั้น 3 โรงแรมเฮอริเทจ แกรนด์ คอนเวนชั่น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง เวลา 15.30 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ก่อนมีการประชุมครม.สัญจร จ.ระนอง เพื่อเร่งผลักดันการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดระนอง และเป็นประธานการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ซื้อขายมังคุด เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนด้านการตลาดสินค้ามังคุดของภาคใต้ เพิ่มช่องทางการจำหน่ายโดยเฉพาะยกระดับการส่งออกและการแปรรูป โดยนำนวัตกรรมมาใช้สร้างมูลค่า เป็นการสร้างโอกาส สร้างรายได้ ส่งเสริมเศรษฐกิจจากฐานราก ให้เกิดความเข้มแข็ง ยกระดับเพิ่มมูลค่าสู่การส่งออก

ภูมิธรรม กล่าวว่า จังหวัดในภาคใต้ มีศักยภาพในการผลิตที่หลากหลาย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ได้แก่ ยางพารา และปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ และสินค้าเกษตรประเภทผลไม้ที่มีคุณภาพ อาทิ ทุเรียน มังคุด เงาะ ฯลฯ ตลอดจนศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญในพื้นที่

วันนี้มีถึง 2 กิจกรรม ได้แก่ ร่วมเป็นสักขีพยานพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ซื้อขายมังคุด 2 คู่ เกิดมูลค่ารวม 65 ล้านบาท (ปริมาณ 2,250 ตัน โดยเป็นมังคุดเกรดเอ 250 ตัน มูลค่า 25 ล้านบาท และมังคุดเกรดบี 2,000 ตัน มูลค่า 40 ล้านบาท)

ผลจากการ (MOU) ในครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ร่วมกัน ผลักดันเกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เป็นผู้ส่งออกในสินค้ามังคุดในพื้นที่ภาคใต้ โดยผลักดันช่องทางการจำหน่ายให้เหมาะสมสอดคล้องกับเกรดคุณภาพและตลาดทั้งในประเทศและส่งออก รวมถึงการแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ซึ่งนำมาสู่การดำเนินการที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม คือ การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อเพิ่มการส่งออกมังคุดเกรดเอจากภาคใต้ (นครศรีธรรมราช) ไปประเทศจีน ผ่านกลไกของล้งไทย พร้อมขยายต่อไปสู่จังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ เพิ่มการส่งออกมังคุดเกรดบีจากภาคใต้ไปประเทศญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นอนุมัติให้นำเข้ามังคุดไทยโดยไม่ต้องอบไอน้ำ ซึ่งเป็นโอกาสของมังคุดไทย สำหรับจังหวัดระนองจะเป็นครั้งแรกในการส่งออกมังคุดไปประเทศญี่ปุ่น และเพิ่มมูลค่าให้มังคุดที่ไม่ได้มาตรฐานส่งออก โดยพัฒนาการแปรรูปเป็นขนม โดยเป็นการบูรณาการร่วมกันของทุกฝ่าย และพาณิชย์จังหวัดกับทูตพาณิชย์ รวมถึงกรมที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์จะร่วมกันผลักดันต่อไป ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้ร่วมมือกันทำงานเพื่อผลักดันให้เกิดผลสำเร็จในการ ลงนาม MOU 

“การซื้อขายมังคุดในวันนี้ ขอแสดงความยินดีกับกลุ่มเกษตรกร ที่ได้เปิดตลาดมังคุดไปยังประเทศญี่ปุ่น และประเทศจีนเพิ่มขึ้น ขอให้การลงนาม MOU ในวันนี้เป็นจุดเริ่มที่ดีในการร่วมมือกัน ระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการ บริษัทผู้ส่งออก และทางมหาวิทยาลัยทักษิณ ในการพัฒนาคุณภาพมังคุดเพื่อขยายการค้าส่งออกต่อไปในอนาคต ขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องเกษตรกร ผู้ประกอบการ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมมือกันผลักดันสร้างโอกาส ยกระดับสร้างรายได้ให้กับการค้าสินค้ามังคุดภาคใต้อย่างต่อเนื่องต่อไป โดยความท้าทายในวันนี้ คือการที่เราเอาชนะธรรมชาติ โดยใช้ศักยภาพของพี่น้องเกษตรกร นักธุรกิจ ทำให้เกิดพลัง หวังว่าทั้งทูตพาณิชย์และพาณิชย์จังหวัดรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการทำงานเชิงรุกคิดล่วงหน้า หาตลาดให้กับสินค้าเกษตร บอกเอกชนที่ทำการค้าขาย ชี้ช่องทางการตลาด ทั้งภายในและ ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ” ภูมิธรรมกล่าว

นอกจากนี้ ภูมิธรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมร่วมหารือ กับดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(สคทช. ) นายปิ่นศักดิ์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และผู้แทนส่วนราชการ ณ โรงเจพงโล้ ม.5 ต.บางริ้น อ.เมืองระนอง จ.ระนอง ว่าจากปัญหาพื้นที่ชุมชนเมืองระนอง อ.เมืองระนอง จ.ระนอง ประชาชนอยู่อาศัยโดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งอยู่ในเขตป่าชายเลน ตามมติ ครม. วันที่ 15 ธันวาคม 2530 (มติ ครม. ห้ามมิให้อนุญาตการใช้ประโยชน์ทุกกรณีทั้งภาครัฐและเอกชน) และอยู่ในเขตป่าสวนแห่งชาติป่าคลองหัวเขียวและป่าคลองเกาะสุย บางส่วนกรมป่าไม้เคยอนุญาตให้ อบจ.ระนอง และเทศบาลเมืองระนอง เพื่อจัดให้ราษฎรเข้าอยู่อาศัยและจัดให้เป็นย่านการค้าและอุตสาหกรรมเนื้อที่รวม 502 ไร่ ปัจจุบันสิ้นสุดการอนุญาตแล้ว ตนได้ติดตามความคืบหน้าในการแก้ไข้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วน

ภูมิธรรม กล่าวว่าสำหรับแนวทางการแก้ปัญหาความเดือดร้อน หลังจากกรมธนารักษ์มีหนังสือถึงกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและ กรมที่ดิน

ได้ประชุมหารือเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 เพื่อพิจารณาแนวทางในการบริหารจัดการที่ดินบริเวณชุมชนเมืองระนอง ภายหลังจากการเพิกถอนป่าสงวน แห่งชาติตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของที่ดินที่เพิกถอน โดยมีประเด็นที่ต้องพิจารณาร่วมกัน ได้แก่ กฎหมายที่ใช้ในการบริหารจัดการที่ดิน การกำหนดอัตราค่าเช่า ค่าธรรมเนียม และเงื่อนไขอื่น ๆ และ กรรมสิทธิอาคารสิ่งปลูกสร้าง ในส่งมอบให้กรมธนารักษ์บริหารจัดการ ซึ่งที่ประชุมได้มีการให้ความเห็น เกี่ยวกับสถานะที่ดินปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติตามข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) สามารถดำเนินการส่งมอบ ให้กรมธนารักษ์ดำเนินการต่อได้หรือไม่ โดยที่ประชุมมีมติสรุปได้ 3 ประเด็น ดังนี้

1) แจ้งให้ สคทช. เพื่อรับทราบปัญหาข้อกฎหมาย พิจารณาทบทวนแนวทางว่าจะดำเนินการในเชิงนโยบายอย่างไร พร้อมรายงาน คทช. เพื่อรับทราบต่อไป

2) ขอให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานะ ของที่ดินชุมชนเมืองระนอง ก่อนการประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติและป่าชายเลนตามข้อสังเกตของ คณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วรวบรวมส่งให้ สคทช. เพื่อรับทราบปัญหา ข้อกฎหมาย และแจ้งกรมธนารักษ์ทราบเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง 

3) ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยืนยันในหลักการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลน ชุมชนเมืองระนอง โดยการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ (บางส่วน) และให้กระทรวงการคลัง (กรมธนารักษ์) ดำเนินการตามกฎหมาย และให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบการดำเนินงานต่อไป 

ทั้งนี้ตนได้กำชับให้ทุกภาคส่วนราชการเร่งดำเนินการให้โดยเร็วที่สุด