ไม่พบผลการค้นหา
เลขา กมธ. ศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคอุตสาหกรรม เตือนนายกฯ เร่งแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของเกษตร มาตรการทดแทน 3 สารเคมี พร้อมสนับสนุนตลาดออร์แกนิก หากช้าระวังรัฐบาลจะอยู่ได้ไม่ยาว

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช เลขานุการกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมาธิการสารเคมีฯ ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นจังหวัดที่ยากจนลำดับที่ 76 และมีหนี้สินครัวเรือนอยู่ลำดับที่ 71 ของประเทศไทย รายได้ต่อคน ต่อปี เท่ากับ 53,416 บาท และอายุเกษตรกรค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 60 ปี ซึ่งถือว่าสูงมาก ประชากรนิยมไปทำงานต่างถิ่น เพราะทำเกษตรแล้วรายได้น้อย ไม่มั่นคง ว่างงานนอกฤดูเก็บเกี่ยว

อีกทั้งการเกษตรที่นี้ใช้สารเคมีเยอะมากการที่จะปรับเปลี่ยนวิธีในการทำเกษตรเป็นไปค่อนข้างยาก และยังพบสารเคมีตกค้างจำนวนมากในสิ่งแวดล้อม ทั้งในดิน น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน และ พืชผัก ก่อให้เกิดโรคเนื้อเน่าถึง 49 รายต่อแสนของจำนวนประชากร (ทั่วโลกอยู่ที่ 1 รายต่อแสน) ซึ่งส่งผลให้มีคนต้องตัดขา ตัดแขน และพบโรคที่เกี่ยวพันอีกมากมาย

จากรายงานของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู พบว่า ร้อยลพ 71.7 เกี่ยวข้องกับสารเคมี เด็กมี IQ ต่ำเฉลี่ย 91 คะแนน จัดเป็นลำดับที่ 73 ของประเทศ ซึ่งเชื่อว่าอาจมีสาเหตุมาจากสารเคมีพิษหลายชนิด เพราะจากข้อมูลของ Thai-Pan ในปี 2560 จากการสุ่มตรวจการตกค้างของสารกำจัดวัชพืชใน ผัก ผลไม้ พบว่า มีการตกค้างเกินค่ามาตรฐานถึงร้อยละ 55

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวอีกว่า ในขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 30 วัน ที่เกษตรกรไทยจะต้องหยุดใช้สารเคมีพิษทั้ง 3 ชนิดคือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต แต่โดยรวมยังไม่เห็นการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ที่เป็นรูปธรรม เลย

ดังนั้น หากนายกรัฐมตรีปล่อยทิ้งปัญหาไว้นานไม่รีบแก้ไข อาจจะทำให้รัฐบาลอยู่ได้ไม่ยาว ซึ่งจากจำนวนเกษตรกรไทยที่มีเกือบ 6 ล้านคน หากมาคำนวณก็เกือบร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรไทย หากเกษตรกรละทิ้งอาชีพของตนไปทำงานต่างถิ่น อาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา อาทิ เช่น ปัญหายาเสพติด และปัญหาสังคมเพราะครอบครัวขาดความอบอุ่น ดังนั้น รัฐบาลควรที่จะส่งเสริมให้ทำเกษตรอินทรีย์และใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร เพื่อยกระดับพืช ผัก ผลไม้ไทยให้ปลอดสารพิษ และได้มาตรฐานโลก เพื่อที่จะสามารถส่งออกไปได้ทั่วโลก

โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องหาตลาดให้กับเกษตรกร เพราะปัจจุบัน เกษตรกรไทยที่ปลูกพืช ผัก ผลไม้ แบบออร์แกนิค แต่ไม่มีตลาดขาย พอมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อก็กดราคา ได้ราคาสูงกว่า พืชผัก และผลไม้ปกติ เพียงแค่ร้อยละ 15 เท่านั้น ซึ่งทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าต้นทุนการปลูกแบบออร์แกนิคนั้นมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงกว่าปกติเยอะ ดังนั้นหากเกษตรกรปลูกแล้วกลับทำให้มีรายได้ที่ลดลง แล้วจะมีใครยอมมาทำ ซึ่งตลาดในต่างประเทศนั้นพืช ผัก ผลไม้ แบบออร์แกนิค สามารถขายได้ราคาสูงกว่าเกือบ 3 เท่า

ดังนั้นเราควรจะต้องส่งเสริมและจัดระบบ ให้สหกรณ์ เพื่อทำหน้าที่ทางการตลาดให้แก่เกษตรกร ซึ่งในต่างประเทศสหกรณ์มีหน้าที่ส่งเสริมการตลาด แต่ในประเทศไทยสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นเหมือนธนาคาร ดังนั้น เราจึงควรจัดสรรให้สหกรณ์ของตำบลดำเนินการทำหน้าที่ประสานงานไปยังสหกรณ์อำเภอ และสหกรณ์อำเภอ มีหน้าที่ประสานงานไปสหกรณ์จังหวัด เพื่อส่งสินค้าไปยังสหกรณ์กลางเพื่อจำหน่ายผลิตผลทั้งในและต่างประเทศ