นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก กล่าวถึงการซื้อขายตำแหน่งในแวดวงข้าราชการ โดยระบุว่ามีเรื่องบอกเล่าถึงการซื้อขายตำแหน่งข้าราชการระดับสูงที่ถูกตั้งราคาไว้ 10-30 ล้านบาท ด้วยเงื่อนไขเดิมๆ คือจะจ่ายครั้งเดียวหรือผ่อนส่งก็ได้ บางรายต้องรับเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าจะอนุมัติหรือทำโครงการบางอย่างเป็นการตอบแทนนายในภายหลัง ใครที่ไม่เล่นด้วยอาจโดนดูแคลนและกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งด้วยเหตุว่าทำผลงานไม่เข้าเกณฑ์ บางกระทรวงได้สั่งการแล้ว ให้ทุกกรมรวมทั้งรัฐวิสาหกิจในสังกัดส่งแผนการจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาทและรายงานความคืบหน้าเป็นระยะ
ขณะที่ผู้บริหาร "กองทุนขนาดใหญ่" บางคนถูกท่านเรียกพบเพื่อขอความร่วมมือให้ตั้งโครงการใช้เงินนอกแผนงาน พร้อมข่มขู่เรื่องโยกย้ายหากไม่ได้ตามข้อเสนอ คนโกงทั้งได้เงินและเครือข่าย
โดยที่ผ่านมากลุ่มข้าราชการที่เห็นแก่ได้ต่างเชื่อว่า ตำแหน่งที่แลกมาด้วยเงินก้อนโตนั้นเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะทำให้อาชีพก้าวหน้าแถมยังเปิดโอกาสให้ไปฉ้อราษฎร์บังหลวงได้มากกว่าเงินที่เสียไป ขณะที่คนมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายนอกจากจะได้เงินเป็นกอบกำแล้ว ยังได้คนเข้าสังกัดที่รู้กันและมั่นใจได้ว่าจะคอยร่วมมือฉ้อฉลในเรื่องที่ใหญ่และเลวร้ายกว่าของตนและพรรคพวกในวันข้างหน้า แต่ขบวนการชั่วนี้กำลังทำให้ข้าราชการที่ตั้งใจทำงานจำนวนมากต้องเจ็บช้ำใจ จนน่าเป็นห่วงว่าขืนปล่อยไว้ ข้าราชการที่เป็นนักบริหาร รู้งาน ทุ่มเทจริงจังจะได้ขึ้นเป็นผู้นำน้อยลง แล้ววันนั้นคนโกงจะครองเมืองอย่างย่ามใจ
ขณะเดียวกันเงินซื้อตำแหน่งเอามาจากไหน การซื้อขายตำแหน่งเป็นเรื่องสมประโยชน์กันของผู้จ่ายและผู้เรียกรับ จึงหาหลักฐานเอาผิดได้ยาก ส่วนเงินก้อนโตที่นำจ่าย บางคนใช้เงินของครอบครัว บางคนใช้เงินบาปที่ตนสะสมมาจากการใช้อำนาจหน้าที่ ขณะที่บางคนอาจได้เงินลงขันจากเอกชนที่เคยช่วยเหลือกันมาโดยหวังว่าจะตอบแทนได้มากขึ้นอีกหากคว้าตำแหน่งใหญ่มาเสริมบารมี เรื่องแบบนี้คนในหน่วยงานเดียวกันแม้รู้หรือเป็นผู้ถูกเอาเปรียบเอง ก็ไม่มีใครกล้าเอาพยานหลักฐานมาเปิดโปงต่อสาธารณะ เพราะไม่อยากเอาอนาคตมาเสี่ยง เช่นเดียวกับบทความนี้ที่ไม่สามารถเปิดใบเสร็จเพื่อยืนยันสิ่งที่รับรู้มาได้
แนะ 4 แนวทางสกัดคอร์รัปชันในระบบราชการ
มีทางเอาชนะหรือไม่ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบได้เสนอ แนวทางที่สำคัญไว้ว่า การเอาชนะต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ กล่าวคือ
1. ลดแรงจูงใจไม่ให้คนดิ้นรนเพื่อตำแหน่งจนเกินเหตุ เพราะมองว่านี่คือ 'โอกาสแห่งความร่ำรวย' ด้วยการลดบทบาทรัฐและกระจายอำนาจออกไป ลดอำนาจการใช้ดุลยพินิจของหน่วยงานและตัวเจ้าหน้าที่ วางระบบงานให้ชัดเจน มีกลไกตรวจสอบการทำงานให้โปร่งใสตรงไปตรงมา
2. วางมาตรการให้สาธารณชนมีโอกาสตรวจสอบความร่ำรวยผิดปรกติหรือการใช้จ่ายที่หรูหราฟุ่มเฟือยเกินตัวของคนเหล่านั้น
3. กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตามผลงานและความรู้ความสามารถที่วัดผลได้ ไม่ใช่ความสัมพันธ์ส่วนตัว รุ่นพี่รุ่นน้องหรือพวกพ้อง โดยเร่งออกกฎหมายว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการในระบบคุณธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 76
4. ส่งเสริมเจ้าหน้าที่รัฐให้ร่วมมือกันต่อต้านความอยุติธรรม เช่น ไม่เคารพไม่ร่วมมือกับผู้ที่ซื้อตำแหน่งมาหรือมีพฤติกรรมคดโกง ปฏิเสธและเปิดโปงนักการเมืองมุ่งหาผลประโยชน์จากหน่วยงาน ข้าราชการรุ่นพี่ต้องเป็นแบบอย่างการยึดถือความถูกต้อง เป็นต้น