แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญคำถามประชามติตั้งแง่ “บังคับ” ประชาชนชนสถาบันฯ
หลังจากวันที่ 23 เมษายน 2567 รัฐบาลมีมติให้ทำประชามติเพื่อไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งวางแผนจะทำประชามติ 3 ครั้ง และในครั้งแรกจะจัดขึ้นระหว่างเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2567 โดยใช้คำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” พวกเราเครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ มีความเห็นดังนี้
1. รัฐบาลกำลัง ‘พายเรืออยู่ในอ่าง‘ หลังจากเสียเวลาไปกว่า 200 วัน ตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ และก็กลับมาเริ่มต้นที่จุดเดิม ทั้งที่พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน รวมถึงภาคประชาชน ต่างก็เคยเสนอแนวคำถามไว้แล้ว ถ้ารัฐบาลยืนยันจะทำประชามติสามครั้ง ก็สามารถเปิดบทสนทนาพูดคุยเรื่อง “คำถาม” ได้โดยตรง ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้เราใช้สิทธิตามพ.ร.บ.ประชามติเข้าชื่อประชาชนกว่า 200,000 คน เพื่อเสนอคำถาม รัฐบาลก็ไม่หยิบขึ้นมาพิจารณา ไม่แม้แต่แยแสคำถามที่ประชาชนต้องลงแรง ลงชื่อบนกระดาษ ถ่ายเอกสาร แปลงข้อมูลจากกระดาษมาเป็นไฟล์ดิจิทัล แม้เราเคยยื่นหนังสือเพื่อขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อปรึกษาเรื่องคำถามประชามติรัฐบาล ก็ไม่เคยได้รับการนัดหมายให้เข้าพบ
สิ่งที่หายไปจากจุดยืนของรัฐบาลในวันนี้ ทั้งที่เป็นหนึ่งในหัวใจของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คือ ที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ซึ่งเมื่อย้อนดูจากร่างรัฐธรรมนูญที่เคยถูกเสนอโดยพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 2563 และ 2566 ก็ระบุอย่างชัดเจนให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่แนวทางที่รัฐบาลนำเสนอในวันนี้กลับมองข้ามประเด็นดังกล่าว โดยไม่มีคำอธิบาย
2.คําถามประชามติที่รัฐบาลประกาศนั้น มีปัญหาอย่างน้อย 3 ประการ
2.1 คําถามนี้มี 2 ประเด็น ที่ซ้อนกันในคำถามเดียว คือ เห็นด้วยหรือไม่ กับการจัดทํารัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และเห็นด้วยหรือไม่ กับการคงเนื้อหาหมวด 1 และหมวด 2 ทำให้ประชาชนเผชิญกับ “สภาวะไร้ทางเลือก” ในการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากต้องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับก็ไม่มีทางเลือกว่าจะออกเสียงในการทำประชามติอย่างไร
2.2 เนื้อหาของรัฐธรรมนูญปี 2560 ในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ที่ถูกแก้ไขหลังการจัดทําประชามติเมื่อปี 2559 ยังคงอยู่ คําถามประชามตินี้จะ “ไม่ทําให้เกิดการจัดทํารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ” และทำให้ประชาชนไม่ได้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
2.3 คําถามประชามติที่มีตั้งเงื่อนไขในหมวดเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกนํามาใช้เป็นเงื่อนไขในการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และทำให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับพระราชอำนาจในระหว่างการทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ
ในฐานะที่พวกเราเป็นเคยเสนอคำถามประชามติให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ “ทั้งฉบับ” โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด โดยประชาชนมากกว่า 200,000 คน ลงชื่อเพื่อสนับสนุนการเสนอคำถามนี้ เมื่อรัฐบาลไม่รับคำถามของเราและตั้งคำถามที่มีหลักการแตกต่างจากคำถามของเราอย่างชัดเจน เราจึงไม่สามารถที่จะลงประชามติ “เห็นชอบ” หรือ Vote YES กับคำถามที่รัฐบาลตั้งขึ้นได้ เราไม่สามารถ “รับๆ ไปก่อน” และซ้ำรอยบทเรียนในอดีตได้อีกแล้ว
3. พวกเราคาดหมายได้ว่า อาจมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไปลงคะแนนไม่เห็นด้วยกับคำถามประชามติที่รัฐบาลตั้ง พวกเราให้ข้อสังเกตว่า ไม่ว่าจะมีคนกาช่อง “ไม่เห็นชอบ” หรือ Vote NO มากน้อยเพียงใด ก็ไม่ได้หมายความว่านั่นคือเสียงที่ต้องการอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 หากแต่เสียง Vote NO ยังเป็นเสียงของประชาชนที่ต้องการจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ “ทั้งฉบับ” โดยไม่มีเนื้อหาของเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ถูกงดเว้นไม่ให้แตะต้อง
ถึงวันนี้คงเหลือโอกาสน้อยที่จะหลีกเลี่ยงการทำประชามติด้วยคำถามที่รัฐบาลตั้งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม พวกเรามีความเห็นว่า ประชามติที่ถามสองประเด็นพร้อมกันนี้ ผลลัพธ์ที่ได้จะไม่เพียงจำกัดในประเด็นของรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ประชามติครั้งนี้ยังเป็นการถามประชาชนด้วยว่า มีประชาชนจำนวนมากน้อยเพียงใดที่ “ไม่เห็นชอบ” กับเงื่อนไขที่ “ติดล็อก” แต่ต้องการแก้ไขพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ
4.เราพยายามเตือนรัฐบาลมาตลอดว่า การตั้งคำถามแบบใด ‘เสี่ยงที่จะไม่ผ่าน’ แต่รัฐบาลก็ยังดึงดันที่จะใช้คำถามสร้างเงื่อนไข สร้างความขัดแย้ง และมากไปกว่านั้นสร้างการถกเถียงให้กับหมวด1 บททั่วไป และหมวด2 พระมหากษัตริย์ โดยไม่จำเป็น รัฐบาลได้จุดไฟให้สังคมเกิดคำถามว่า “หมวด 1 และหมวด 2” คืออะไร มีปัญหาอย่างไร ทำไมถึงต้องห้ามแก้ไข และกำลังใช้ประเด็นนี้มาเป็นปัจจัยชี้ขาดอนาคตการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้นคำถามที่ “ล็อคเงื่อนไข” เช่นนี้ จึงเป็นคำถามของรัฐบาล โดยรัฐบาล เพื่อรัฐบาล
เมื่อรัฐบาลเป็นเจ้าของคำถามนี้ จึงต้องเป็นเจ้าของผลลัพธ์ที่ตามมาด้วย หากผลลัพธ์จากการทำประชามติครั้งนี้ทำให้การเดินหน้าสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนต้องหยุดชะงัก ก็คือความพ่ายแพ้ของรัฐบาลที่ไม่สามารถทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ได้ รัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก เพราะถือว่าไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอีกต่อไป
5.เราขอยืนยันว่า พวกเราต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชน พวกเราไม่ต้องการอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับของคสช. ต่อไป โดยกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จำเป็นต้องมีความชอบธรรม เปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจตั้งแต่ต้นจนจบ หากมีเงื่อนไขปิดกั้นตั้งแต่ต้นก็สุ่มเสี่ยงที่กระบวนการข้างหน้าจะมีเงื่อนไขตลอดเส้นทางและทำให้กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับของผู้มีอำนาจในยุคสมัยนั้นๆ
ไม่ว่าผลการทำประชามติครั้งแรกจะเป็นอย่างไร หรือการทำประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นหรือไม่ เส้นทางของการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “ทั้งฉบับ” โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้นยังเดินหน้าได้ โดยองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ คือ วุฒิสภา หรือสว. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากรัฐสภาซึ่งรวมถึง สว. อย่างน้อยหนึ่งในสามหรือ 67 จาก 200 คน ดังนั้น ในการเลือก สว. ที่จะเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 2567 หากประชาชนร่วมกันลงสมัคร สว. เพื่อส่งผู้สมัครที่เชื่อในหลักการประชาธิปไตยเข้าสู่สภา “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” ก็จะได้รับแรงส่งสนับสนุนจาก สว. ชุดใหม่เหล่านั้นให้เดินหน้าไปได้