"เสนอให้ตั้ง กมธ.ศึกษาอีก 1 เดือน จะตั้งไปศึกษาทำไมในเรื่องที่รู้อยู่แล้ว เขาต้องการจะซื้อเวลา สภาเปิดลงมติเดือน พ.ย. เราจะไม่สามารถแก้ไขจนถึง พ.ค. ปีหน้า ดูความคิด คิดแผนการ คว่ำร่าง มาตั้งอะไรวันี้ คนทั้งประเทศนี้รู้แล้วว่ารัฐธรรมนูแย่ขนาดไหน ไปตั้ง กมธ.เพื่อถ่วงทำไม" อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ปราศรัยที่หน้ารัฐสภา เมื่อช่วงค่ำหลังท่าทีของ รัฐสภา ให้เตะถ่วงการโหวตวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ปิดสมัยประชุมรัฐสภานับแต่วันที่ 25 ก.ย.นี้เป็นต้นไป ผลการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ ถูกดองโหวตในรัฐสภา แต่กลับกลายเป็นการลงมติในญัตติที่ 'พรรคพลังประชารัฐ' (พปชร.) เสนอให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ลงมติว่าจะเห็นควรให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาศึกษาก่อนที่จะมีการลงมติในวาระที่ 1 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่
เป็นผลให้การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติต้องถูกเลื่อนออกไป จากผลพวงการตั้ง กมธ.ที่ต้องใช้เวลาศึกษาถึง 30 วัน โดยมีสัดส่วน ส.ส.และ ส.ว. รวม 31 คน แต่ไร้เงา 6 พรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ.เตะถ่วงโหวตวาระแรก ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และพรรคเศรษฐกิจใหม่
ถึงขั้นที่ 'ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม' ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ระบุกลางที่ประชุมรัฐสภาว่า "เสมือนโดนต้มในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ สัปปายะสภาสถาน คือสถานที่ ที่หาทางออก สถานที่หาทางสงบ และความร่มเย็นให้ประเทศชาติ"
โมเดลที่เสนอให้ใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 121 ซึ่งเกี่ยวกับขั้นตอนการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ได้กำหนดไว้ใน วรรคสาม ว่า "เพื่อประโยชน์แก่การวินิจฉัยดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ที่ประชุมรัฐสภาจะตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาก่อนรับหลักการก็ได้"
เป็นการวางกรอบกติกาเสมือนเป็นการวางยา
เพราะรู้ว่าหากมีการยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้ามา ก็สามารถ ใช้กลไกนี้ 'ยื้อเวลา' ไว้ก่อนได้
แนวคิดนี้ยังเคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ หลัง 'พรเพชร วิชิตชลชัย' ประธานวุฒิสภา เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา อ้างผลประชุมวิปสามฝ่ายให้ตั้ง กมธ.ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนลงมติรับหลักการ
ว่ากันว่าก่อนการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่สามารถคาดเดาท่าทีการลงมติของ ส.ว.เสียงส่วนใหญ่ได้
ด้วยเงื่อนไขกติกาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 ทำได้ยากตั้งแต่วาระที่หนึ่ง
ยากเพราะต้องได้เสียงจากสมาชิกรัฐสภา ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
ยากชั้นที่สองคือ ต้องมีเสียง ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา หรือ 84 เสียงเป็นขั้นต่ำ
นับถอยหลังถึงก่อนเวลา 18.00 น. วันที่ 24 ก.ย. 2563
ส.ส.ฝ่ายค้านในวิปฝ่ายค้าน ถึงขั้นไม่ทราบว่า ส.ว.กลุ่มใหญ่จะลงมติในทางไหน
รู้เพียงแต่ว่า 4 ญัตติที่เสนอมาตอนหลังของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่น่าจะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา
มีเพียง 2 ญัตติแรกของพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลที่พอมีโอกาสจะได้รับเสียง ส.ว.ประมาณไม่ต่ำกว่า 100 เสียง ในการลงมติเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบให้รับหลักการ
"สัญญาณจะชัดก่อนลงมติรับหลักการไม่กี่ชั่วโมง"แหล่งข่าวจากสมาชิกรัฐสภา ระบุ
เมื่อถึงเวลาอีก 1 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนการลงมติรับหลักการ แหล่งข่าวจากพรรคร่วมฝ่ายค้านก็ยังย้ำว่า เสียงของ ส.ว.ก็ยังไม่ชัดเจนจะโหวตในทิศทางไหน
ทั้งที่เสียงของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ก็อยู่ในที่ตั้งไม่ต่ำกว่า 500 เสียง พร้อมโหวตรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับเพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
และไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตลอด 2 วันของการอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะได้ยินเสียง ส.ว.ส่วนใหญ่รุมต้านการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
"เรากำลังมีวิกฤตร่วมกันคนในชาติอย่าสร้างความขัดแย้ง ไม่อยากลงมติ 24 ก.ย. ว่าไม่เห็นด้วย ผมอยากชวนเพื่อนสมาชิกในอนาคต ท่านกลับไปร่างใหม่ไปศึกษาก่อน อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญตรงไหนที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ผมก็พร้อมร่วมมือเห็นชอบ แต่วันนี้ผมไม่เห็นชอบ" สมชาย แสวงการ ส.ว. ระบุในการอภิปรายรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระที่ 1 เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2563
มติ 432 เสียงเห็นชอบให้ตั้ง กมธ.เตะถ่วงการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเสียงที่มาจาก ส.ว.ส่วนใหญ่กว่า 200 เสียงขึ้นไปที่เป็นเอกภาพรับใบสั่งมาโหวตตามเกมรัฐบาล และ 432 เสียงยังเป็นเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลล้วนๆ แถมยังได้เสียงจากพรรคฝ่ายค้านบางคนหนุนด้วย
ไล่ดูรายชื่อ ส.ว.แหกโผ ที่ลงมติคัดค้านการตั้ง กมธ.ศึกษาเตะถ่วงมีเพียง 3 เสียง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ พลเดช ปิ่นประทีป พิศาล มาณวพัฒน์
ขณะที่ ส.ว.งดออกเสียง มาจาก กล้านรงค์ จันทิก คำนูณ สิทธิสมาน พรเพชร วิชิตชลชัย วันชัย สอนศิริ สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อนุศาสน์ สุวรรณมงคล
ส.ว.กลุ่มที่ไม่ได้ร่วมลงมติ ส่วนใหญ่เป็นผู้นำเหล่าทัพที่กำลังใกล้เกษียณอายุราชการ ประกอบด้วย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ พล.อ.ณัฐ อินทเจริญ ถาวร เทพวิมลเพชรกุล ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ภัทรา วรามิตร
พล.อ.อ.มนัส รูปขจร พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม และ ศิรินา ปวโฬารวิทยา
ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ส่วนใหญ่ ลงมติคัดค้านการตั้ง กมธ.ยื้อโหวตวาระแรก มีเพียง อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ชุมพล จุลใส ที่โหวตเห็นด้วย ขณะที่ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา งดออกเสียงเพียงคนเดียวในพรรค
ส่วนพรรคเพื่อไทย มี ส.ส.ที่แหกมติโหวตเห็นด้วย คือ ชัยยันต์ ผลสุวรรณ์ ส.ส.ปทุมธานี อีก 3 คนไม่มาลงมติ เป็น ส.ส.เจ้าเดิมที่ชอบสวนมติพรรค คือ พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี ส่วนอีก 1 คน เป็น จักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี เรื่องนี้พรรคเพื่อไทยคงต้องเรียก ส.ส.แหกโผเข้าชี้แจง
พรรคก้าวไกล โหวตงดออกเสียง คือ คำพอง เทพาคำ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อีก 1 คนไม่ลงมติ คือ วุฒินันท์ บุญชู ส.ส.สมุทรปราการ
ผลพวงจากการยื้อโหวตรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเสมือนเป็นการหักดิบฝ่ายค้าน มวยล้มต้มคนดูนอกรัฐสภา
เพราะว่ากันว่าก่อนลงมติ สัญญาณที่ยังไม่ชัดเจน หรือ 'ใบสั่ง' จากปลายทางยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนจะส่งตรงมาถึง ส.ว.ว่าจะลงมติในทางใด
การเล่นเกมด้วยการโหวตใช้เสียง ส.ว.ส่วนใหญ่ช่วยยื้อแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเท่ากับเป็นการเพิ่มอารมณ์และเงื่อนไขมวลชนนอกรัฐสภาให้ยิ่งต้องออกแรงขยับกดดันด้วยการชุมนุมใหญ่อีกครั้งในเดือน ต.ค.นี้
"ความกลัวไม่มีในหัวใจเเล้ว พวกเราถูกกระทำมามาก เมื่อกระบวนการยุติธรรมไม่ได้อยู่ข้างประชาชน เราจึงต้องเปลี่ยนแปลง" อานนท์ นำภา ประกาศหน้ารัฐสภาหลังรู้ผลโหวตเตะถ่วงวาระที่ 1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง