ไม่พบผลการค้นหา
ศิลปินเจ้าของนามแฝงชวนปวดหัว ชายผู้ขับเคลื่อนผลงานด้วยวิธีคิดง่ายๆ แต่ทรงพลัง "เราจะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร ?"

เมื่อปี 2561 หลังจากพ่นภาพใบหน้าของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนาฬิกาปลุกกระดิ่งทรงกลม บนสะพานลอยย่านอ่อนนุช เขาถูกเจ้าหน้าที่มากถึง 13 คน บุกมาเคาะถึงประตูห้องพัก พร้อมกับส่งข้อความให้ทราบว่า “นายไม่พอใจ”

เขายอมรับว่าตอนนั้นระทึกใจอยู่บ้าง แต่สุดท้ายก็ได้สติ “กูจะกลัวทำไมวะ” เขาบอก "กับอีแค่การแสดงออกทางความคิด"

จากครีเอทีฟหนุ่มคูลๆ ที่ทิ้งศิลปะไว้ในหลืบตั้งแต่เรียนจบ การยึดอำนาจรัฐประหารในปี 2557 เเละพฤติกรรมของ คสช.และรัฐบาล ทำให้เขาตั้งใจว่าจะไม่ยอมอยู่เฉยๆ ปิดปากเงียบในช่วงเวลาที่สังคมต้องการเสียงเเละความยุติธรรม

ต่อไปนี้คือประสบการณ์และวิธีคิดของศิลปินหนุ่มวัย 37 ปี เจ้าของนามแฝงชวนปวดหัว Headache Stencil


รัฐประหารปลุกไฟ

Headache เติบโตในครอบครัวข้าราชการ ฐานะชนชั้นกลางค่อนบน มีพ่อเป็นคุณครูประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยชื่อดัง แม้แรกเริ่มจะไม่ได้สนใจข่าวการเมืองโดยตรง แต่การได้ยินอย่างสม่ำเสมอจากข่าวที่คุณพ่อติดตามก็ทำให้ได้ซึมซับและอินโดยไม่รู้ตัว

Headache บอกว่า ตัวเองเติบโตขึ้นมาในฝั่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขาเป็นในปัจจุบัน

“เราโตมาเป็นเด็กฝั่งสลิ่มอะ” เขาอธิบายตัวเอง เมื่อรู้สึกว่าได้รับการปกป้องจากคุณพ่ออยู่เสมอ เสมือนมีสิทธิพิเศษและความเป็นอภิสิทธิ์ชน

“ผมเป็นเด็กเกเรนะ เป็นตัวปัญหา สร้างความปวดหัวให้กับพ่อแม่ตลอดเวลา เพราะเรามีคนที่คอยปกป้องได้ มีไรก็โทรหาพ่อ ยังไงกูก็รอด คิดแบบนั้นมาตลอด”

เขาเรียนจบจากคณะครุศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศึกษา จากรั้วมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ หลังทำงานหาเงินเลี้ยงชีพเผชิญกับโลกในวัยที่เริ่มเป็นผู้ใหญ่ เรื่องเล็กๆ อย่างการจอดรถยนต์ในที่ห้ามจอด กลายเป็นเหมือนเสียงระฆังเรียกสติให้เขาคิดได้ว่าสังคมนั้นกว้างใหญ่กว่าที่รับรู้

“ผมไปจอดรถริมทาง สีข้างทางมันซีดมากจนเหมือนไม่มีอะไร แต่อยู่ๆ มีตำรวจมาล็อกล้อ ถ้าเป็นตอนเด็ก คงโทรหาพ่อให้ช่วยแล้ว แต่พอเราโตแล้วก็ยืนเถียงตำรวจ คิดว่ามันไม่ใช่ความผิดเรา เราไม่ได้บกพร่องฝ่ายเดียว มันเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็ทำให้เราคิดได้ว่า สังคมมันเป็นแบบนี้ นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านและคนทั่วไปเขาเจอ”

ทำงานเป็นครีเอทีฟได้ราว 10 ปี เขาตัดสินใจลาออกเพื่อไปค้นหาตัวเองที่จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

“เราอยู่เชียงใหม่กับเพื่อนๆ ต่างชาติ กำลังสนุกสนานคึกคักกับดนตรีที่ท่าแพ อยู่ๆ เกิดปฏิวัติทุกอย่างเงียบหมด เหมือนหนังถูกตัดจบ มีเจ้าหน้าที่ทหารถือปืนเข้าควบคุมพื้นที่ ตั้งบังเกอร์ ไล่ปิดร้านค้าร้านอาหาร ฝรั่งชาวต่างชาติงงหมด บรรยากาศทุกอย่างเปลี่ยนไป เหมือนจะเกิดการยิงปะทะกันตลอดเวลา”

2-3 วันหลังจากนั้นทักษะด้านศิลปะในตัวเขาถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อเพื่อนชาวต่างชาติซึ่งเป็นศิลปินกราฟฟิตี้ชวนออกไปสร้างสรรค์ผลงานสะท้อนเหตุการณ์ในไทย

“เราพ่นไม่เป็น” เขาเล่า “สมัยเรียนมหา’ลัย เราชอบทำ Stencil มันคือการตัดกระดาษฉลุลายเป็นภาพ แล้วพ่นสีสเปรย์ทับ คิดว่าตัวเองทำได้ดีอยู่อย่างเดียวและพ่นไปทั่วคณะเลย”

https://lh4.googleusercontent.com/UQ_LJ2r-qjcq-TeoNmdOsv6Cq8BJn3m-W1wqYB3Uc1v2lJmGNmRC2R4BSPR9py9uZxjblMlg70Son3Kf-MYHGIPQarOkgDZAiYpN3E7yxkZ3vaz7aR4iy9hHsvvjXd-FSWfFKFcH

เขาฉลุบล็อก Stencil เป็นภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาในร่าง “ด็อกเตอร์อีวิล” จากภาพยนตร์เรื่อง “ออสติน เพาเวอร์ส” (Austin Powers) เมื่อเพื่อนๆ ชาวต่างชาติเห็นฝีไม้ลายมือเลยแนะนำให้ส่งไปประกวดในงาน Stencil ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

“โห มันเป็นการรวมงาน Stencil จากทั้งโลก ปรากฎว่างานชิ้นแรกหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยหรือกว่า 10 ปีที่ไม่ได้แตะศิลปะอีกเลย แม่งเข้ารอบไฟนอลลิสต์ 16 คนสุดท้าย” ศิลปินหนุ่มย้อนเรื่องสุดเซอร์ไพรส์

บรรยากาศและวัฒนธรรมการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในต่างแดน ทำไฟในตัว Headache ลุกโชน


“กูจะกลัวทำไมวะ”

ศิลปินหนุ่มกลับมาอยู่กรุงเทพฯ เลือกใช้ชื่อแทนตัวเองว่า Headache ที่เขาคิดเอาไว้เล่นๆ ตั้งแต่วัยละอ่อน ว่าจะใช้เป็นชื่อบริษัทเข้าสักวัน

“ปวดหัวมันสะท้อนถึงความเป็นเราและบ่งบอกถึงสิ่งที่เรากำลังจะทำต่อจากนี้ มันจะไปสร้างความปวดหัวให้ใครสักคน”

เขาเริ่มสร้างผลงานตามพื้นที่ต่างๆ โดยทั้งหมดเป็นภาพของสเกตบอร์ดและการเมือง เพื่อหวังส่งเข้าประกวดอีกครั้ง กระทั่งวันหนึ่งความโกรธในตัวเองทำงาน เมื่อได้ดูข่าวการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร กรณีนาฬิการยืมเพื่อนอันฉาวโฉ่

“จำได้ว่าโกรธมาก ตอนแม่งมาบอกว่านาฬิกาเพื่อน ซึ่งเรารู้สึกว่ากูจะเรียนหนังสือมาขนาดนี้ทำไมถ้าจะต้องมานั่งฟังเหตุผลแบบนี้จากคนมีอำนาจ ระบบของประเทศมันมาถึงจุดที่มึงแก้ตัวแบบนี้ก็ได้หรอ ที่เราเคยรู้สึกว่าประเทศมีองค์กรอิสระ ตรวจสอบสอบปราบปรามคอรัปชัน สุดท้ายแล้วศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกมึงทั้งหมด จบลงด้วยประโยคที่ว่ายืมเพื่อนมา แล้วประชาชนก็ต้องยอมรับ” ใบหน้าและน้ำเสียง Headache จริงจัง

“วินาทีนั้นคิดว่ากูไม่ยอม แล้วมึงมาปิดปากกูไม่ได้ สมองกู ตาหู ความคิดความรู้สึกกู ไม่มีอะไรเกี่ยวกับมึงเลย ทำไมจะต้องมานั่งฟัง มานั่งปิดปากให้กับคนที่ไม่มีบุญคุณเกี่ยวกับเราด้วย ทำไมเราจะต้องมานั่งหุบปากเพื่อคนแบบนั้น”

https://scontent-kut2-1.xx.fbcdn.net/v/t31.0-8/p960x960/27368721_873155729529849_1967843547320914175_o.jpg?_nc_cat=106&_nc_sid=2d5d41&_nc_eui2=AeFCb32ujJTBc_J7s3UVR_10FnMqGloh9R4WcyoaWiH1HnFI_IKPtGLr9uwPt15IlU0&_nc_ohc=LIABfMwRFrgAX_IN6Or&_nc_ht=scontent-kut2-1.xx&_nc_tp=6&oh=76b083347687f81699c68d95ca154b4e&oe=5F201CA4

ความโกรธทำ Headache ขับเคลื่อนผลงานอย่างรวดเร็ว ฉลุภาพและสั่งปรินต์ ก่อนออกไปสร้างผลงานที่นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์และเรื่องเดือดๆ ร้อนๆ ให้กับตัวเองรวมถึงคนรอบข้าง

หลังจากปล่อยผลงานไปเพียงไม่กี่วัน เรื่องวุ่นๆ ก็เกิดขึ้น...

พนักงานรักษาความปลอดภัยประจำคอนโดมิเนียม ได้แจ้งกับเขาว่ามีกลุ่มชายอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 13 ราย มาถามหา

“ผู้ใหญ่ที่รู้จักก็บอก “เขาเอามึงแน่” เราได้ยินก็ตกใจ เก็บของไว้พร้อมเลยและตัดสินใจหลบไปอยู่แถวชายแดนและเกาะสักพัก” เขาเล่าต่อ 

“มีองค์กรระดับชาติ โทรมาหาบอกจะให้ความช่วยเหลือ กลายเป็นเรื่องใหญ่มากกว่าที่เราคิด ชีวิตเราต้องขนาดนี้เลยเหรอวะ แค่พ่นรูปล้อการเมือง ศิลปะแขนงหนึ่งเท่านั้นเหมือนที่ชัย ราชวัตร ทำ มันไม่ใช่สิ่งใหม่ของสังคมเป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว แต่ผู้นำไม่ยอมรับ”

ศิลปินหนุ่ม เล่าว่า รปภ.และแม่บ้านประจำคอนโดฯ ยังถูกเจ้าหน้าที่เรียกไปสอบสวนเพื่อขอเบาะแสของเขาด้วย

“นายโกรธมาก ต้องเอาตัวให้ได้ ยามเล่าให้ผมฟังว่าเจ้าหน้าที่บอกแบบนี้ อะไรจะขนาดนั้นวะ”

ช่วงเวลานั้นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบต่างพากันวนเวียนอยู่รอบคอนโดวันแล้ววันเล่า เขาตัดสินใจเล่นเกมการเมือง “ผมเลิกเป็นคนถูกล่า” เขาบอก โดยเลือกปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจ เพื่อให้สังคมสนใจและโฟกัสไปที่การกระทำของเจ้าหน้าที่ ก่อนจะกลับมาเปิดอีกครั้ง พร้อมกับภาพจากกล้องวงจรปิดที่เผยให้เห็นพฤติกรรมของชายหลายรายขณะเดินวนเวียนอยู่รอบคอนโด

“ผมเอาภาพส่วนหนึ่งของเจ้าหน้าที่ลงเฟซบุ๊กให้สังคมได้เห็น เพื่อตอบโต้ไก่อู (พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เวลานั้น) ที่คุณบอกว่าไม่มีการคุกคาม เจ้าหน้าที่ไม่มาเสียเวลากับเรื่องแบบนี้หรอก แล้วไอ้พวกนี้คืออะไร”

ไม่นาน เสียงโทรศัพท์ของ Headache ดังขึ้น ปลายสายร้องขอให้ลบภาพดังกล่าวออกเพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม แม้เขาจะตอบรับตามคำขอ แต่สุดท้ายก็เจอเอาผิดฐานทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ถูกปรับเงิน 3,000 บาท พร้อมยึดสีสเปรย์

“ขอพี่ยึดหน่อยนะ ให้จบๆ ไป” Headache บอกความต้องการของตำรวจ “ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่าเออยอมๆ ไปเหอะ ให้ครอบครัวและเพื่อนๆ รอบข้าง คนสนิทเราอยู่อย่างเป็นสุข” 

ล่าสุดเดือน มิ.ย.ปี 2563 Headache เจออีกหนึ่งไฮไลต์ของชีวิต เมื่อการทำกิจกรรมในวันที่ 24 มิ.ย. ครบรอบ 88 ปี 'อภิวัฒน์สยาม' ถูกจับตาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมี 'กลุ่มคนนอกเครื่องแบบ' ไปดักรอที่หน้าคอนโดอีกครั้ง โดยระบุว่า 'ขอมาดูแล'

แม้ทาง สน.พระโขนง ผู้รับผิดชอบพื้นที่ จะปฏิเสธว่ากลุ่มคนที่มาดักรอเขา "ไม่ใช่ตำรวจ" แต่ก็มีหลักฐานการพูดคุยทางโทรศัพท์ชัดเจน โดยบุคคลในกลุ่มอ้างตัวเป็นตำรวจจาก สน.ดังกล่าว ทำให้เขาตั้งคำถามว่า "สน.เองก็ไม่น่าจะต้องรอหาผู้เสียหายแล้วนะครับ เพราะไม่งั้นต่อไปคนก็แอบอ้าง สน.ไปอุ้มคนเล่นสนุกสนานสิ"

“ศิลปะไม่ใช่อาวุธ หากท่านบาดเจ็บ มันเป็นเพราะท่านอ่อนแอเอง” เขาระบายความผิดหวังต่อการคุกคามของเจ้าหน้าที่

Headache Stencil

ทำเพื่อตัวเองล้วนๆ

การสร้างสรรค์ของ Headache Stencil อยู่ภายใต้วิธีคิดแสนเรียบง่ายว่า เราจะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร

“เราทำเพื่อตัวเอง คิดแค่ว่าเราจะดีขึ้นได้ยังไงเท่านั้นพอแล้ว เข้าใจดีว่าคนๆ เดียวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่เรามีสิทธิส่งเสียงให้คนอื่นได้รับรู้ในสิ่งที่เราต้องการหรือบอกรัฐให้แก้ไข” เขาย้ำว่า ทำเพื่อตัวเองล้วนๆ เพียงแต่สิ่งที่เรียกร้องไปทับซ้อนกับความต้องการของใครหลายคน ที่ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย ยุติธรรม เท่าเทียมและเสมอภาค

Headache เน้นว่า ในฐานะประชาชน เรามีสิทธิพูดและสะท้อนปัญหาถึงรัฐ บทบาทของรัฐคือการแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ภายใต้มาตรฐานทางกฎหมายที่เท่าเทียม และหากรัฐทำไม่ได้ ก็หลีกทางให้คนอื่นเข้ามาทำหน้าที่แทน

“ไม่ใช่ทำห่วยแตก แล้วเอาแต่โทษคนอื่น” ศิลปินที่ถูกเจ้าหน้าที่ลบล้างผลงานเป็นประจำกล่าว

เป้าหมายของ Headache มีเพียงแค่ระยะสั้น คือการเรียกร้องความปกติให้กับสังคม นั่นคือ พูด แสดงออก ตำหนิถึงความล้มเหลวของรัฐ และอย่าเพิกเฉยต่อความอยุติธรรม ส่วนระยะยาวเขาส่ายหัว บอกว่า “ไม่อยากมี เพราะเหมือนแช่งประเทศถ้าต้องเรียกร้องแบบนี้ไปเรื่อยๆ”

สาเหตุที่เขาเลือกปิดบังใบหน้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความปลอดภัยและหลบเลี่ยงการติดตามจากเจ้าหน้าที่ แต่เหตุผลสำคัญคือ อยากให้ทุกคนโฟกัสที่ผลงานมากกว่าหน้าตา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของศิลปินจำนวนมากทั่วโลก

Headache Stencil เสือดำ

ด้านได้อายอด อนาคตสดใสอีกนาน

“การเมืองไทยในมุมของผมมันมาถึงจุดที่ด้านได้-อายอด เพราะว่ามันหน้าด้านจนไม่ต้องสนใจแล้วว่าสังคมจะว่าอย่างไร เอาแค่ความสบายใจของฝ่ายตัวเอง เอาแค่ฝ่ายตัวเองหลับได้ อีกฝ่ายหลับไม่ลงไม่เป็นไร”

เขาเห็นว่าการต่อสู้ทางความคิดและประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าในระดับชาติที่เจริญแล้ว ต้องรออีกหลายสิบปี ซึ่งแม้แต่ตัวเขาเองก็คงไม่ได้เห็น

“อนาคตต้องรออีกเจนฯ เลย รอวิธีคิดใหม่ๆ เยอะกว่าวันนี้ เรื่องความบาดหมางปัญหาทางความคิดมันไม่น่าจะจบลงในเร็วๆ นี้ ปัญหาในสังคมมันหยั่งลึกจนแก้ได้ยากมาก ผู้ใหญ่ยังไม่ใจกว้างและไม่พร้อมจะแบ่งอำนาจ เลยอยากให้กำลังใจน้องๆ ที่สู้อยู่ตอนนี้ว่าเราอาจจะต้องสู้ไปจนตายครับ สำหรับรุ่นผมตายไปแล้วแน่นอน”


วอยซ์คือเพื่อนผม

Headache อยู่ระหว่างสร้างสรรค์ผลงานศิลปะภายใต้โจทย์ ‘88 ปีประชาธิปไตย’ เพื่อประทับลงบนเสื้อยืดในโอกาสครบรอบ 11 ปี วอยซ์ทีวี โดยภาพของเขาอยู่ภายใต้คอนเซปต์ 'เผด็จการไทย'

"ผมมองว่าตลอด 88 ปีที่ผ่านมา เราใช้คำว่าประชาธิปไตยในการปกครอง แต่จริงๆ แล้วเป็นประชาธิปไตยที่เราเป็นอยู่ภายใต้ยักษ์เผด็จการตัวหนึ่ง โดยผมเลือกใช้หัวโขนยักษ์ซึ่งผมแทนถึงความเป็นไทยและมารวมกับหมวกทหาร"

Headache

Headache บอกว่าสำหรับเขา “วอยซ์เป็นเพื่อนผม” โดยย้อนความว่า ภายหลังทำศิลปะเสียดสีการเมือง-สังคม ตัวตนของเขานั้นชัดเจนมาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่สามารถจัดแสดงโชว์ได้ในอาร์ตแกลเลอรีทั่วไปได้ เนื่องจากเจ้าของสถานที่เกรงจะมีปัญหากับผู้มีอำนาจหรือมีเจ้าหน้าที่มายุ่งวุ่นวาย อย่างไรก็ตามวอยซ์กลับให้โอกาสเขา

“สิ่งที่เราอยากทำมันได้รับการตอบรับในทางที่ดี ได้รับการสนับสนุน ตอนนั้นมันเหมือนเรามีเพื่อนใหม่ มีคนที่เข้าใจเรา ที่เคยคิดว่าเราเดินอยู่ของกูคนเดียวมันไม่ใช่แล้ว มันมีเพื่อน สำหรับผม วอยซ์เป็นเพื่อน ซึ่งวันนี้ครบรอบวันเกิดวอยซ์ เมื่อเพื่อนบอกว่าอยากได้เสื้อมาเป็นหนึ่งในคอลเลกชันพิเศษให้กับแฟนๆ ผมไม่มีทางปฏิเสธ”

https://scontent-kut2-2.xx.fbcdn.net/v/t1.0-9/s960x960/101687101_1520091318169617_3516942527022434039_o.jpg?_nc_cat=104&_nc_sid=110474&_nc_eui2=AeE-Phjk-PgBHDQfAt7iHfv2lc29tfhmDjOVzb21-GYOM5whZMW1T-phocHKpB2VqcU&_nc_ohc=w-e3Soua_14AX8OAa_f&_nc_ht=scontent-kut2-2.xx&_nc_tp=7&oh=57ec5c1eaf18f0c3862dadaf76af38ab&oe=5F2020C3

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog