วันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย. 2567 นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานผลการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวน 251 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้น 128% มูลค่าการลงทุน 45,739 ล้านบาท คิดเป็น 28% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้น 146%
นางสาวศศิกานต์ กล่าวเพิ่มว่านักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนอันดับ 1 คือ นักลงทุนจากญี่ปุ่น 86 ราย ลงทุน 16,184 ล้านบาท รองลงมาคือ จีน 59 ราย ลงทุน 8,030 ล้านบาท ฮ่องกง 18 ราย ลงทุน 5,219 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ 88 ราย ลงทุน 16,306 ล้านบาท
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะลงทุนในธุรกิจบริการวิศวกรรม ธุรกิจบริการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ ธุรกิจบริการติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษาและฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบการทำงานต่าง ๆ ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
สำหรับการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวน 786 ราย ประกอบด้วย
1. การลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 181 ราย
2. การขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 605 ราย เงินลงทุนรวม 161,169 ล้านบาท เกิดการจ้างงานคนไทย 3,037 คน
นางสาวศศิกานต์ กล่าวต่อว่านักลงทุนชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่
1.ญี่ปุ่น 211 ราย สัดส่วน 27% ลงทุน 91,700 ล้านบาท
2.สิงคโปร์ 110 ราย สัดส่วน 14% ลงทุน 14,779 ล้านบาท
3.จีน 103 ราย สัดส่วน 13% ลงทุน 13,806 ล้านบาท
4.สหรัฐฯ 103 ราย สัดส่วน 13% ลงทุน 4,552 ล้านบาท
5.ฮ่องกง 57 ราย สัดส่วน 7% ลงทุน 14,461 ล้านบาท