ไม่พบผลการค้นหา
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่ายอดผู้เสียชีวิตของพลเรือนในฉนวนกาซานั้น “มากเกินไป” โดยเฉพาะในหมู่เด็กๆ พร้อมกันนี้ บลิงเคนได้เรียกร้องให้มีการเอื้ออำนวย การส่งความช่วยเหลือไปถึงพื้นที่ฉนวนกาซาที่ถูกปิดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในการแถลงข่าวที่กรุงเยรูซาเลมเมื่อวันอังคาร (9 ม.ค.) บลิงเคนกล่าวว่า สหรัฐฯ ยังคงยืนหยัดร่วมกับอิสราเอลในภารกิจของตัวเอง ที่จะ “รับประกันว่าวันที่ 7 ต.ค. จะไม่เกิดขึ้นอีก” แต่พันธมิตรยังพยายามหลีกเลี่ยงความสูญเสียของพลเรือนในฉนวนกาซาเพิ่มเติม และป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งแพร่กระจายไปยัง ภูมิภาคที่กว้างขึ้น

บลิงเคน ซึ่งเดินทางมาเยือนภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นครั้งที่ 4 แล้ว นับตั้งแต่ความขัดแย้งเริ่มต้นขึ้น กล่าวว่า อิสราเอลได้ดำเนินการเพื่อทำให้แน่ใจว่า ความช่วยเหลือจะถูกส่งไปถึงประชากรในฉนวนกาซา รวมถึงการเปิดช่องข้ามแดนคาเร็ม อาบู ซาเลม หรือที่รู้จักในชื่อ เคเรม ชาลอม ซึ่งเป็นช่องข้ามชายแดนกับฉนวนกาซา

ก่อนหน้านี้ บลิงเคนเดินทางไปเยือนตุรเคีย กรีซ จอร์แดน ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก่อนที่จะเดินทางมาถึงอิสราเอล ทั้งนี้ บลิงเคนมีกำหนดการที่จะเดินทางไปยังเวสต์แบงก์ในการเดินทางครั้งต่อไป เพื่อเจรจากับรัฐบาลปาเลสไตน์เพิ่มเติม

เมื่อพูดถึงแผนสำหรับฉนวนกาซาหลังสงคราม บลิงเคนกล่าวว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้แสดงความพร้อมที่จะทำงาน เพื่อมุ่งสู่ "ภูมิภาคที่มีบูรณาการ" แต่ข้อตกลงใดๆ จะต้องรวมถึงการบรรลุความทะเยอทะยานทางการเมืองของชาวปาเลสไตน์ด้วย “หลายประเทศในภูมิภาคนี้เตรียมพร้อมที่จะลงทุนเมื่อความขัดแย้งสิ้นสุดลงในการฟื้นฟูและรักษาความปลอดภัยของกาซา” บลิงเคนกล่าว “แต่มันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขาที่จะต้องมีเส้นทางที่ชัดเจนในการทำให้รัฐการเมืองปาเลสไตน์เป็นจริง”

บลิงเคนกล่าวเสริมว่าช่วงเวลาปัจจุบันถือเป็น “โอกาสอันทรงพลัง” แต่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ “อิสราเอลต้องหยุดดำเนินการที่บั่นทอนความสามารถของชาวปาเลสไตน์ในการปกครองตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าว รวมถึง “ความรุนแรงของผู้ตั้งถิ่นฐานที่ดำเนินการโดยไม่ต้องรับโทษ การขยายพื้นที่ตั้งถิ่นฐาน การรื้อถอน และการขับไล่… ทุกสิ่งทำให้มันยากขึ้น ไม่ใช่ง่ายขึ้นสำหรับอิสราเอลที่จะบรรลุสันติภาพที่ยั่งยืน” บลิงเคนกล่าวย้ำ

บลิงเคนกล่าวอีกว่า สหรัฐฯ ปฏิเสธแผนการใดๆ ที่จะอพยพชาวปาเลสไตน์ออกจากฉนวนกาซาอย่างถาวร “ทันทีที่เงื่อนไขเอื้ออำนวย เราอยากเห็นผู้คนย้ายกลับบ้าน และเราก็ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว” บลิงเคนกล่าวพร้อมระบุว่าในตอนนี้ มีการตกลงภารกิจการประเมินของสหประชาชาติ เพื่อกำหนดเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับผู้อยู่อาศัยในการเคลื่อนย้ายกลับสู่ฉนวนกาซาตอนเหนือ

อย่างไรก็ดี บลิงเคนบ่ายเบี่ยงคำถามของผู้สื่อข่าวที่สอบถามว่า รัฐบาลอิสราเอลของ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลคนปัจจุบัน จะยอมรับวิธีแก้ปัญหาแบบสองรัฐ และเห็นด้วยกับวิธีแก้ปัญหาทางการทูตหรือไม่ โดยบลิงเคนกล่าวว่าเขาไม่สามารถพูดแทนรัฐบาลอิสราเอลได้

ความขัดแย้งอิสราเอล-กาซาปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค. เมื่อกลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอล ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1,139 ราย ตามการระบุของทางการอิสราเอล ก่อนที่อิสราเอลจะตอบโต้ด้วยการทิ้งระเบิดทำลายล้าง และการรุกรานฉนวนกาซาภาคพื้นดิน ซึ่งทำลายพื้นที่ส่วนใหญ่และคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 23,200 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก ตามการระบุของเจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์

บลิงเคนกล่าวว่าสงครามอาจ “ยุติลงในวันที่ 8 ต.ค.” ไปแล้ว หากกลุ่มฮามาสสละอาวุธและปล่อยตัวประกัน ทั้งนี้ อิสราเอลกล่าวว่าจากผู้คนประมาณ 240 คนที่ถูกกลุ่มฮามาสจับตัวประกันไปเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ยังมี 132 คนที่ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ในฉนวนกาซา และมี 25 คนเสียชีวิตจากการถูกจองจำ “(สงคราม) นี้อาจยุติได้ในวันพรุ่งนี้หากกลุ่มฮามาสตัดสินใจเช่นนั้น” บลิงเคนกล่าวเสริม

ก่อนหน้านี้ในวันอังคาร บลิงเคนได้จัดการประชุมกับเนทันยาฮู ซึ่งตามการระบุของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ชี้ว่า บลิงเคนได้ “เน้นย้ำถึงความสำคัญของการหลีกเลี่ยงอันตรายต่อพลเรือนเพิ่มเติม และการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนในฉนวนกาซา” โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แสดงความหวังว่าหลังจากสงครามจบลง อิสราเอลจะสามารถผลักดันความพยายามของตัวเอง ไปสู่การรวมกลุ่มในระดับภูมิภาคต่อไป ตามข้อตกลงการฟื้นฟูสู่ความสัมพันธ์ให้เป็นปกติ ที่มีสหรัฐฯ กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และรัฐอื่นๆ เป็นตัวกลางในการเจรจา


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2024/1/9/blinken-tells-israel-to-avoid-further-civilian-harm-in-gaza?fbclid=IwAR0duhLplpvSd3A5zDjhGVS-m46qvmzK68hXaMXOhR5LEwA4Prjo6_3ptqs