ในประเทศญี่ปุ่นมีค่านิยมที่บีบให้ผู้หญิงต้องใส่รองเท้าส้นสูงในการทำงาน เป็นเหมือนกฎที่ไม่จำเป็นต้องพูด แม้ไม่มีการกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็เป็นข้อกำหนดที่คล้ายจะถูกนับเป็นสามัญสำนึก ทว่าในช่วงต้นปีนี้ได้มีการริเริ่มแคมเปญ #KuToo แคมเปญรณรงค์ให้ยุติค่านิยมที่สะท้อนความไม่เท่าเทียมทางเพศในที่ทำงาน
แคมเปญ #KuToo เริ่มขึ้นโดยอิชิคาวะ ยูมิ นักแสดงและนักเขียนอิสระชาวญี่ปุ่น โดยในวันที่ 24 มกราคม 2019 เธอทวีตผ่านทวิตเตอร์ว่าสักวันหนึ่งอยากจะยกเลิกธรรมเนียมที่ผู้หญิงต้องใส่รองเท้าส้นสูง พร้อมเล่าประสบการณ์ว่าเคยจำเป็นต้องพักการทำงานพิเศษ เพราะอาการเจ็บเท้าซึ่งเป็นผลจากการใส่ส้นสูงตลอดทั้งวัน
ทวีตของเธอได้รับการรีทวีตไปราว 30,000 ครั้ง และถูกไลก์กว่า 67,000 ครั้ง เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่แฮชแท็ก #KuToo ซึ่งผู้หญิงชาวญี่ปุ่นต่างก็โพสต์รูปบาดแผลหรือบอกเล่าความเจ็บปวดที่เกิดจากการสวมส้นสูง
ชื่อของแคมเปญ #KuToo หรือคุทู (สำเนียงญี่ปุ่นอ่านว่าคุตสึ) นั้นเป็นการเล่นเสียงจากคำว่าคุตสึ (靴: kutsu) ที่แปลว่ารองเท้าในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่าคุตซือ (苦痛: kutsuu) ที่แปลว่าความเจ็บปวด และเขียนให้คล้ายกับชื่อแคมเปญ #MeToo ซึ่งเป็นแคมเปญยุติการละเมิดและคุกคามสตรีซึ่งมีจุดเริ่มต้นในสหรัฐอเมริกา
กระแสที่เกิดขึ้นจากทวีตของเธอ ทำให้อิชิคาวะได้รับรู้ว่ามีคนจำนวนไม่น้อยเคยประสบปัญหาเดียวกันเธอ เธอจึงตัดสินใจตั้งแคมเปญในเว็บ Change.org เพื่อเรียกร้องกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น ให้ห้ามไม่ให้บรรดาบริษัทบังคับชนิดรองเท้าที่พนักงานหญิงต้องใส่ โดยขณะนี้มีผู้ลงชื่อแล้วราว 18,900 ราย
อิชิคาวะ กล่าวว่าตั้งแต่เริ่มการเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ ก็เริ่มเห็นบางบริษัทออกมาบอกว่าทางบริษัทไม่บังคับให้ใส่รองเท้าส้นสูงในที่ทำงาน แต่ก็เป็นเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น
"รัฐบาลต้องเข้าใจว่านี่เป็นปัญหาสังคม และเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง ไม่ใช่แค่ปัญหาของผู้หญิงคนใดคนหนึ่ง" เธอชี้
สำนักข่าวเซาต์ไชนามอร์นิงโพสต์ อ้างผลการสำรวจจากหนังสือพิมพ์ในญี่ปุ่นซึ่งพบว่าผู้หญิงที่ทำงานในญี่ปุ่นกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ใส่รองเท้าส้นสูงอย่างน้อยสัปดาห์ละคร้้ง
ในวันที่ 3 มิถุนายน อิชิคาวะได้นำคำร้องจากแคมเปญของเธอมายื่นให้กับกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ พร้อมเล่าให้ผู้สื่อข่าวของเอเอฟพีฟังว่า เจ้าหน้าที่จากกระทรวงที่มาพบเธอเป็นผู้หญิง และรู้สึกเข้าอกเข้าใจคำร้องเรียนของเธอและสตรีชาวญี่ปุ่น ทั้งยังบอกด้วยว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีเสียงสะท้อนในประเด็นนี้ส่งมาถึงกระทรวง
แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กระแส KuToo ว่าเป็นการ "เห็นแก่ตัว" แต่อิชิคาวะและกลุ่มผู้สนับสนุนก็หวังว่าแคมเปญนี้จะช่วยให้ผู้หญิงญี่ปุ่นเข้าใกล้ความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงานมากขึ้นไปอีกขั้น
"นี่เป็นก้าวแรกค่ะ" อิชิคาวะ กล่าว