นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ได้รับรายงานสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าประปราย อาทิ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบสุนัขติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี และพบแมวติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งทั้งสองกรณีได้มีการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคเรียบร้อยแล้ว
โดยในกรณีพบแมวติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้านั้น ข้อมูลเบื้องต้นพบว่าแมวมีอาการป่วย ซึม อาเจียน น้ำลายไหล ไม่กินอาหาร และตาย ซึ่งหลังจากได้รับแจ้งเหตุ หน่วยงานสาธารณสุขและปศุสัตว์ในพื้นที่ ได้ดำเนินการค้นหาและติดตามผู้สัมผัสแมวตัวดังกล่าว หลังถูกกัดข่วนให้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครบทุกคนแล้ว
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้สั่งการให้กองโรคติดต่อทั่วไป เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่กรุงเทพมหานครดำเนินการเฝ้าระวังและติดตามสัตว์เลี้ยงที่สัมผัสใกล้ชิดกับแมวที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ รวมถึงติดตามผู้สัมผัสที่รับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ให้ดำเนินการสื่อสารความเสี่ยง ให้ความรู้ ความเข้าใจ และความเชื่อที่ถูกต้องของโรคพิษสุนัขบ้าแก่ประชาชนในชุมชน
โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งเชื้อเข้าทางบาดแผล ผ่านทางกัด ข่วน เลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดที่ติดเชื้อไวรัสเรบีส์ เช่น สุนัข แมว หนู ลิง ค้างคาว สัตว์ที่พบเป็นโรคพิษสุนัขบ้าบ่อยที่สุด คือ สุนัข รองลงมาคือแมว เมื่อคนรับเชื้อ เชื้อจะเพิ่มจำนวนในบาดแผล
จากนั้นจะเดินทางเข้าสู่ระบบประสาท โดยระยะฟักตัวขึ้นอยู่กับตำแหน่งและปริมาณเชื้อที่ได้รับ เช่น ขา แขน หรือใบหน้า โดยระยะฟักตัวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 สัปดาห์ ถึง 2 เดือน บางรายอาจนานถึง 1 ปี อาการส่วนใหญ่มักมีไข้ ปวดศีรษะ คันรุนแรงบริเวณบาดแผล คลุ้มคลั่ง กลัวแสง กลัวลม กลืนน้ำหรืออาหารลำบาก เมื่อผู้ติดเชื้อแสดงอาการแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ต้องเสียชีวิตทุกราย
ดังนั้น จึงต้องสร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันตนเองจากโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อให้ปฏิบัติตนถูกต้องหลังสัมผัสโรค อย่าชะล่าใจเมื่อสัตว์ข่วนหรือกัด ให้รีบพบแพทย์ทันที
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ประชาชนเจ้าของสัตว์เลี้ยง ควรปฏิบัติดังนี้ 1.เจ้าของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน ครั้งแรกเมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2-4 เดือน แล้วฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี 2.ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านตามลำพัง โดยไม่ใส่สายจูง
3.พาสุนัขหรือแมวที่ตนเลี้ยงไปทำหมันเมื่อไม่ต้องการให้มีลูก รวมถึงแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยทำหมันสุนัข/แมวที่ไม่มีเจ้าของ และ 4.ลดความเสี่ยงถูกสุนัขกัดหรือทำร้าย
ด้วยการยึดหลักคาถา 5 ย. คือ 1) อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ 2) อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ 3) อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4) อย่าหยิบ ชามข้าวหรือย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ 5) อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ นอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบประวัติ
ทั้งนี้ ประชาชนที่ถูกสุนัขหรือแมว หรือแม้กระทั่งลูกสุนัข ลูกแมว กัด ข่วน หรือเลียบริเวณแผล แม้เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลือดออกที่แผลก็อย่าได้ชะล่าใจ ต้องรีบล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนให้ครบชุด คือ เมื่อถูกสุนัขกัด ห้ามบีบเค้นบาดแผล ให้ล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด ล้างเบาๆ นานอย่างน้อย 10 นาที จากนั้นใส่ยาเบตาดีน และกักสุนัข/แมวที่กัดเพื่อดูอาการอย่างน้อย 10 วัน และรีบไปพบแพทย์ เพื่อพิจารณาให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนชนิดนี้ต้องได้รับหลายครั้งตามวันที่แพทย์ จึงขอให้ไปตามนัดทุกครั้ง หากพบเห็นสัตว์สงสัยป่วยหรือตายจากโรคพิษสุนัขบ้า สามารถแจ้งได้ที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาปศุสัตว์ (อสป.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นต้น
Photo by Lydia Torrey on Unsplash