นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ชี้ว่า จากรายงานผลสำรวจอุปสงค์และอุปทานโครงการที่อยู่อาศัย ประจำช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ใน 4 จังหวัดสำคัญของภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก และตาก พบว่า มีตัวเลขโครงการระหว่างขายรวมทั้งสิ้น 17,843 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 5 ของตัวเลขจากทั้งหมด 26 จังหวัด
แบ่งเป็นเชียงใหม่ 11,465 หน่วย เชียงราย 3,009 หน่วย พิษณุโลก 2,595 หน่วย และตาก 774 หน่วย ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากครึ่งแรกของปีมากนัก เนื่องจากการสำรวจในครึ่งปีหลังพบว่าผู้พัฒนาโครงการในภาคเหนือเลือกเปิดโครงการใหม่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม นายวิชัย อธิบายว่าเมื่อทั้ง 4 จังหวัด ต้องเผชิญหน้ากับตัวเลขยอดเหลือขายคงค้าง ณ สิ้นปี 2562 ที่มีมากกว่าการคาดการณ์ ตัวเลขเหล่านั้นจึงกลายมาเป็นหน่วยตั้งต้นของความท้าทายในปี 2563 ที่ผู้พัฒนาโครงการต้องแบกเอาไว้ ยิ่งต้องมาเจอกับวิกฤตโรคระบาด ที่ส่งผลไปถึงภาคเศรษฐกิจ 4 จังหวัดสำคัญที่พึ่งพาการท่องเที่ยวและการค้าขายชายแดนเป็นหลักนี้จึงได้รับผลกระทบ
ตัวเลขยอดเหลือขายของทั้งฝั่งบ้านจัดสรรและอาคารชุด แบ่งได้เป็นเชียงใหม่ที่จำนวน 9,149 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 35,426 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขคงค้างของเชียงรายอยู่ที่ 2,710 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 8,609 ล้านบาท ส่วนตัวเลขของพิษณุโลกเหลือขายอยู่ที่ 2,461 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 6,635 ล้านบาท และตากมีหน่วยเหลือขายรวม 736 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 1,856 ล้านบาท
นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลฯ ยังได้ประมาณการว่าในปี 2563 จะมีที่อยู่อาศัยเหลือขายในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่อยู่ในตลาดจำนวน 9,343 หน่วย ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายจำนวน 2,919 หน่วย ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกจำนวน 2,521 หน่วย และในพื้นที่จังหวัดตากจำนวน 745 หน่วย ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งหมด จากเงื่อนไขกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลงเป็นหลัก
นายยศวัจน์ รุ่งคณาวุฒิ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์พิษณุโลก กล่าวปิดท้ายว่า สุดท้ายแล้วการจะช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ให้กลับมาฟื้นตัวได้ต้องกลับไปเริ่มจากต้นเหตุคือความอ่อนแอด้านกำลังซื้อของประชาชนที่แก้ไขได้จากการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ก็ย้ำว่าอยากจะเห็นมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนชัดเจนมาที่ฝั่ง อสังหาฯ เพิ่มบ้างเช่นเดียวกัน