ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ร่วมกับ สถาบันสร้างไทย จัดสัมมนาเรื่อง “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือทางออกประเทศไทย” ที่ห้องประชุม 14 ตุลา อาคารสำนักงาน (ด้านหลัง) อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ซ.ดำเนินกลางใต้ แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2563
'อนุสรณ์ ธรรมใจ' ประธานคณะกรรมการบริหารภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย กล่าวเปิดการสัมมนาว่า จากสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน มีความเสี่ยงนำไปสู่ความขัดแย้ง โดยเฉพาะเหตุการณ์ในการโหวตรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่ ส.ว.กลับไม่ยอมโหวต ทั้งนี้ หากรัฐสภายอมรับหลักการวาระแรก เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ยังย้ำด้วยว่าการแก้รัฐธรรมนูญคือทางออกประเทศ ที่มีจุดยืนประชาธิปไตย ที่มั่นคง โดยตนไม่ต้องการเห็นเยาวชนถูกคุกคาม ยัดเยียดข้อกล่าวหา ทั่งที่ทำเพื่ออนาคตตัวเองและเพื่อประเทศชาติในการเรียกร้อง ประชาธิปไตยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยสันติวิธีที่จะต้องใช้ความอดทน อดกลั้นให้ถึงที่สุด
ส่วนผู้เข้าร่วมการสัมมนามีทั้งนักการเมือง นักวิชาการ และนักกฎหมาย ประกอบด้วย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย 'พงศ์เทพ เทพกาญจนา' อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (พ.ศ.2540) 'โภคิน พลกุล' อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานรัฐสภา 'วัฒนา เมืองสุข' อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 'โคทม อารียา' ประธานภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย 'พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย' อาจารย์ภาคกฎหมายรัฐธรรมนูญ ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ และ 'ยิ่งชีพ อัชฌานนท์' ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
'โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา กล่าวในงานว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งแต่ถ้าชนะการเลือกตั้งได้ ก็บริหารประเทศไม่ได้ เพราะองค์กรอิสระต่างๆ ก็พร้อมที่จะยัดคดีให้ และมีการวางบทเฉพาะกาลเพื่อที่จะอยู่ต่อไป นี่คือประเด็นใหญ่ที่สุด ดังนั้นประเทศจึงเดินไม่ได้ ผลของการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ทางเดียวที่จะเป็นทางออกในขณะนี้ ต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน
"วันนี้ ถึงเวลาแล้วที่ทุกปัญหาจะต้องจบที่ประชาชนโดยจะต้องมีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเช่นเดียวกับในปี 2539 โดยสิ่งที่เสนอก็คือ ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน โดยเริ่มจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยกร่าง แต่ไม่มีการแตะต้องหมวด 1-2 จึงอยากเชิญชวนทุกฝ่ายผลักดันให้เกิดการตั้ง ส.ส.ร.และแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จ และเชื่อว่าไม่มีใครไปบังคับ ส.ส.ร.ได้ และ ส.ส.ร.เองก็ไม่มีทางที่จะร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการแน่นอน"
ด้าน 'ยิ่งชีพ อัชฌานนท์' ผู้จัดการโครงการกฎหมายอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน (ไอลอว์) กล่าวว่า กลุ่มไอลอว์ได้จัดทำโครงการเพื่อต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีการเข้าชื่อของประชาชน กว่าแสนรายชื่อ และนำร่างไปยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร แสดงให้เห็นว่าประชาชนที่อยู่ภายใต้ระบบที่ไม่ปกติได้ตระหนักรู้แล้วว่า ระบบการเมืองที่ไม่ปกติเป็นอย่างไรและได้ใช้ทุกช่องทางที่สามารถทำได้เพื่อเรียกร้องให้ได้มาซึ่งระบอบการเมืองที่ปกติซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐาน
ยิ่งชีพระบุว่า นี่เป็นข้อเสนอที่เห็นต่างยาก และเป็นข้อเสนอที่ตัวแทนประชาชนที่อยู่ในสภาไม่สามารถปฏิเสธได้และไม่มีเหตุผลต้องปฏิเสธ เพราะเป็นเนื้อหาที่ไม่สามารถหาเหตุผลในการปฏิเสธได้ และข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอที่ประนีประนอมที่สุด เพื่อหาทางออกตามระบบทางกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งหากคนที่อยู่ในสภาโหวตไม่รับก็ควรที่จะต้องอับอายต่อตัวเองและประชาชน
"หากมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โหวตไม่รับก็จะทำให้ประชาชนโกรธเคืองมากขึ้น และถ้ามีการโหวตไม่รับก็ต้องรับผิดชอบด้วย หากมีปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่มาจากความโกรธของประชาชนที่เพิ่มขึ้นและตัดสินใจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง"
ส่วน 'นิกร จำนง' เล่าถึงเหตุการณ์ ประชุมรัฐสภาที่เลื่อนการลงมติ 6 ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ท่าทีของ ส.ว.ยังไม่ยอมรับในการแก้ไข และการศึกษาที่ผ่านมา ส.ว.ไม่ได้ร่วมด้วย เป็นเหตุให้ ส.ว.กังวลเรื่องการตีเช็คเปล่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปัญหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนางดออกเสียงเว้นรัฐมนตรีของพรรค 2 คน
โดยส่วนตัว นิกรยังเชื่อว่าร้อยละ 80 ญัตติที่ 1 และ 2 ของพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลมรการแก้มาตรา 256 และตั้ง ส.ส.ร. และย้ำว่าในวาระรับหลักการพรรคร่วมรัฐบาลจะลงมติรับหลักการร่างของตัวเอง โดยการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 2 สภาจะพิจารณาญัตติแล้วเสร็จ 20 กันยายนนี้
ขณะที่ 'คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์' กล่าวว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันเป็นเผด็จการภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตย การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงพิธีกรรม มีกติกาคำนวณ ส.ส. ที่ทำให้ฝ่ายตัวเองได้เปรียบ ถือเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน ส่วนตัวมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือทางออกความขัดแย้งอย่างสันติ ไม่ใช่มาตั้งรัฐบาลแห่งชาติเพื่อยื้อเวลา หรือจะแก้ด้วยวิธีรัฐประหารอีกซึ่งเราไม่เห็นด้วย
ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนต้องเขียนด้วยประชาชน โดยการตั้ง ส.ส.ร. ตามที่ฝ่ายค้านเสนอ พร้อมให้แก้ไขเงื่อนไขเฉพาะกิจเป็นทางออกระหว่าง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญ คือการแก้ตัดอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ และปิดทางนายกฯ คนนอก เพราะหากนายกฯ ยุบสภากลางคันอาจเป็นปัญหาได้ถ้าไม่แก้ เงื่อนไขเฉพาะกิจตัดอำนาจ ส.ว. เสียก่อน ยืนยันว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของพรรคเพื่อไทย แต่เป็นการเพื่อประชาชน
ในช่วงท้ายของการพูดคุย คุณหญิงสุดารัตน์ ยืนยันว่าไม่มีการเข้าไปร่วมรัฐบาลแห่งชาติตามที่มีกระแสข่าวแน่นอน เพราะที่ผ่านมาได้ มีการพูดคุยกันภายในที่ประชุมกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยหลายครั้ง ถือว่าเป็นไปไม่ได้ ขอให้ปิดประตูเรื่องนี้ไปเลย
ส่วนกระแสข่าวการต่อรองทางลับให้คนในตระกูลชินวัตรมานั่งบริหารพรรคและกลับมาเป็นรัฐบาลแห่งชาตินั้น ก็ไม่มี มีเพียงข่าวลือ และตนไม่ทราบว่าข่าวมาจากไหน ยืนยันว่าไม่มีการเข้ามาครอบงำภายในพรรค
หากจะมีรัฐบาลแห่งชาติ ก็ต้องเป็นชาติหน้า
ทางด้าน 'รศ.โคทม อารียา' กล่าวว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่มีความชอบธรรม เพราะความต้องการอยู่ต่อในอำนาจของ คสช. โดยอ้างความต้องการของประชาชน ทั้งที่ความต้องการของประชาชนจริงๆ ต้องวัดกันจากผลการเลือกตั้งฝ่ายใต้กติกาที่เป็นธรรม ไม่ใช่มาวางกติกาเข้าข้างตัวเองและอ้างเองว่าประชาชนต้องการ พร้อมมองว่าเงื่อนไขตั้ง ส.ส.ร. แก้มาตรา 256 ของฝ่ายรัฐบาลทำได้ยาก เพราะกำหนดใช้เสียง 3 ใน 5 ในการลงมติ หาก ส.ว. ไม่เห็นชอบเรื่องใด ส.ว. 250 สามารถร่วมกับ ส.ส. 45 คน ก็ไม่สามารถแก้ไขในบางประเด็นได้แล้วโดยเฉพาะ อำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ ต่างจากร่างของพรรคฝ่ายค้าน กำหนดให้ลงมติใช้เสียง เกินครึ่งของรัฐสภา คือ 370 เสียงก็สามารถลงมติได้ง่ายตามปกติที่เคยปฏิบัติมา
นอกจากนี้ ในร่างของรัฐบาลยังไม่ยอมตัดเงื่อนไขที่ห้ามแตะต้องคุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และกรรมการในองค์กรอิสระ ทั้งที่การแก้ไขครั้งนี้ต้องไปปรับแก้ส่วนนั้นอยู่แล้ว หากยังคงเงื่อนไขนี้ไว้ยิ่งทำให้การแก้ไขเป็นไปได้ยากอีก
ส่วน 'พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย' ย้ำถึงเหตุผลที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญว่า ถ้าการเมืองดี ระบบทุกอย่าง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ก็จะดีตาม ซึ่งการเมืองจะดีหรือไม่นั้น ก็มาจากการกำหนดโครงสร้างโดยรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบบกฎหมายของไทยมีปัญหาอย่างมาก ที่กระทบต่อการดำรงชีวิตในสังคมไทย จนนำไปสู่ความขัดแย้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้ทุกอย่างดีขึ้น
ส่วนการตั้งคำถามว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านมาจากการทำประชามติแล้ว รวมถึง ส.ว.250 คน ก็มาจากคำถามพ่วงนั้น พรสันต์ชี้แจงว่า การทำประชามติ ต้องอยู่บนความเสมอภาค เสรี และให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน และตัดสินใจเองว่าจะรับหรือไม่ แต่หากประชาชนไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วน แสดงว่าการลงประชามตินั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขณะที่คำถามพ่วงในรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกเขียนอย่างกำกวม และเป็นปัญหาสะสม จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่ของประชาชน
ขณะที่ 'วัฒนา เมืองสุข' มองว่า เรายังไม่เป็นประชาธิปไตย และเมื่อไม่ใช่ประชาธิปไตย นักลงทุนต่างชาติก็ไม่เชื่อมั่น การลงทุนก็จะหยุดนิ่ง นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ เพราะปัญหาการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจที่มีความสอดรับกันอยู่แล้ว หากการเมืองไม่ดี ก็ไม่มีใครกล้าเข้ามาลงทุน จะเห็นได้จากการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
"ปีนี้ก็มีโรงงานจำนวนมากปิดตัวลงเพราะต้องการย้ายการผลิต ซึ่งแน่นอนว่า ปัญหาดังกล่าว เกิดจากรัฐธรรมนูญที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง ดังนั้น สิ่งที่ต้องแก้ไขให้เร็วที่สุด คือ ประเทศไทยต้องเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศ และปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจทันที เพราะไทยไม่มีเงินลงทุน แถมยังมีรัฐราชการที่เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ภาคธุรกิจลดลง ไม่มีใครกล้าเข้ามาลงทุน"
วัฒนากล่าวว่าตนอยากให้มีการแก้ไขแก้รัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุด เพราะไม่ว่าเลือกตั้งกี่ครั้ง ก็จะได้คนเดิม คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับเข้ามาบริหารประเทศ หากวันนี้ยังไม่แก้รัฐธรรมนูญ
หลังจากนั้นได้มีการถาม-ตอบ ซึ่งประชาชนและนักศึกษาถามถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อจากแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ โดย 'นิกร' ชี้ว่าบางพรรคร่วมรัฐบาลไม่แตะหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ส่วน 'ยิ่งชีพ' กล่าวว่าอยู่ที่กลไกการแก้ไขของรัฐสภาว่าเปิดช่องทำได้หรือไม่ และไม่ทราบถึงฉันทามติของสังคมในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์จึงตอบยาก แต่เห็นว่าเรื่องนี้คนสนใจและต้องการถกเถียงบนหลักการ หากมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องพูดได้ทุกเรื่อง
ขณะที่ร่างของประชาชนไม่มีการเสนอแก้หมวด 1-2 และชี้แนะว่าหากใครต้องการแก้หรือไม่แก้หมวด 1 -2 ว่าด้วยหมวดพระมหากษัรติย์ ก็ให้ประกาศนโยบายและให้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร.
ส่วน 'รศ.โคทม' ขอร้องต่อนักเรียนนักศึกษาที่จะจัดการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค.2563 ให้เน้นเรียกร้องเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญและหยุดคุกคามประชาชน หากเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อจะทำให้การข้อเรียกร้องขาดความคมชัด และยังแนะให้ไปศึกษามาตรา 6 ที่อ้างว่าบัญญัติในรัฐธรรมนูญทุกประเทศว่า "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: