วันที่ 7 เม.ย 2565 ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ในเดือน พ.ค. ว่า ฝ่ายค้านได้มีการประชุมร่วมกันตลอด และบ่ายวันนี้ (7 เม.ย.) เป็นการนัดประชุมครั้งที่ 3 ที่จะพิจารณาร่วมกัน โดยมติของฝ่ายค้านออกมาตั้งแต่แรกแล้วว่า เราจะพยายามยื่นให้เร็วที่สุด โดยนับตั้งแต่หลังวันที่ 22 พ.ค.เป็นต้นไป ซึ่งคำว่าเร็วที่สุดก็ต้องดูบริบทโดยรวม ว่าการยื่นนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนหรือไม่ เพราะจังหวะการยื่นมีการพิจารณากฎหมายสำคัญอยู่ เช่น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่างพรรคการเมือง ที่กำลังพิจารณาอยู่จะสามารถเข้าสภาได้ช่วงไหน รวมถึงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ซึ่งมีความชัดเจนว่าจะเข้าสู่สภาในวาระรับหลักการวันที่ 1-2 มิ.ย.
ดังนั้น จังหวะนี้ก็คาบเกี่ยวพอสมควร ถ้าการยื่นไปทำให้กฎหมายสำคัญเนิ่นช้าไปหรือไปเป็นการขัดขวาง เราก็อาจจะนำสิ่งเหล่านั้นมาร่วมพิจารณากำหนดเวลาในการยื่นอีกครั้ง
“ยังไม่ได้กำหนดว่า วันที่ 23 พ.ค.จะเป็นวันยื่นญัตติ จริงๆ ใจเรา เดิมต้องการยื่นก่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2566 เพื่อจะดูเรื่องเสียงในสภา และเมื่อกำหนดไทม์ไลน์พิจารณางบประมาณเช่นนี้มาแล้ว เราก็ไม่สามารถอภิปรายก่อนพิจารณางบฯ แน่นอน ยกเว้นงบประมาณผ่านไปแล้วและกลับมาในวาระ 2-3 ประมาณปลายเดือน ส.ค. ฉะนั้น ช่วงกลางๆ นี้คิดว่าน่าจะเหมาะสมแต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะยื่นได้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน แต่เราเตรียมความพร้อมตลอด ทั้งฝ่ายเนื้อหาสาระที่จะใช้ในการอภิปรายก็มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง” นพ.ชลน่าน กล่าว
เมื่อถามว่า ประเมินว่ารัฐบาลจะอยู่ครบเทอมหรือไม่ เพราะ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เคยกล่าวว่ามั่นใจจะอยู่ครบเทอมแน่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลจะอยู่ครบ 4 ปีหรือไม่เป็นจุดมุ่งหมายของเขาอยู่แล้ว ฝ่ายรัฐบาลเขาพยายามดึงเวลาให้อยู่ครบเทอมมากที่สุด แต่ส่วนตัวเท่าที่ดูแล้วตนยังมีความมั่นใจว่ารัฐบาลไม่น่าจะอยู่ครบเทอม เพราะต้องการสร้างผลงานจัดประชุมเอเปก จากนั้นค่อยยุบสภา และถ้า ส.ส. จะย้ายพรรคมีเวลา 30 วัน ซึ่งสะดวกกว่าการอยู่ครบเทอมที่ต้องสังกัดใหม่ภายใน 90 วัน และเลือกตั้งภายใน 45 วัน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เขามีโอกาสมีประโยชน์สูงสุด ถือเป็นเงื่อนไขที่ ส.ส.จะดูว่า ถ้าทางใดได้ประโยชน์สูงสุด ก็จะทำแบบนั้น
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นวาระครบ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 23 ส.ค. ที่อาจเร่งให้ตัดสินใจยุบสภาก่อน
ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มั่นใจว่าจะเกิดก่อนวันที่ 23 ส.ค. แน่นอน แต่จะยื่นช่วงไหนต้องไปดูอีกที โดยฝ่ายค้านจะทดสอบด้วยการพิจารณางบประมาณ ปี 2566 ก่อน หากวาระรับหลักการมีร่องรอยของความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของ ส.ส. ที่สนับสนุนรัฐบาล ก็จะยื่นญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจช่วงนั้น และหากรัฐบาลผ่านวาระงบประมาณไปได้ ก็ยังมีปมวาระนายกรัฐมนตรี 8 ปี