ไม่พบผลการค้นหา
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งฉุกเฉิน เพื่อป้องกันเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯ จากศัตรูต่างชาติ โดยสันนิษฐานว่าประกาศครั้งนี้มุ่งเป้าไปที่บริษัทหัวเว่ยของจีน แต่หัวเว่ยกลับระบุว่า คนที่จะเสียเปรียบก็คือสหรัฐฯ เอง

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งประธานาธิบดี เพื่อห้ามไม่ให้บริษัทสัญชาติอเมริกันใช้เทคโนโลยีสื่อสารของต่างชาติ ซึ่งเชื่อว่าเสี่ยงเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ

คำสั่งนี้ไม่ได้ระบุชื่อบริษัทใดๆ ออกมา แต่เชื่อว่าคำสั่งนี้ออกมาเชื่อกีดกันบริษัทหัวเว่ยของจีน หลังสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศกล่าวหาบริษัทหัวเว่ยมาอย่างต่อเนื่องว่าใช้เทคโนโลยีสื่อสารในการสอดแนมข้อมูลให้กับรัฐบาลจีน โดยสหรัฐฯ พยายามกดดันให้พันธมิตรกีดกันหัวเว่ยไม่ให้ประมูลเครือข่าย 5จี

อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยจะปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวมาโดยตลอด อีกทั้งยังกล่าวว่า การกีดกันธุรกิจของหัวเว่ยในสหรัฐฯ มีแต่จะกระทบผู้บริโภคและบริษัทอเมริกัน

อีกด้านหนึ่งกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้เพิ่มหัวเว่ยในรายชื่อบริษัทที่ต้องจับตาภายใต้กฎระเบียบของฝ่ายบริหารการส่งออกสหรัฐฯ ซึ่งจะแบนหัวเว่ยไม่ให้ใช้เทคโนโลยีจากบริษัทสหรัฐฯ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ ก่อน

ท่าทีดังกล่าวยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนยิ่งย่ำแย่ลงกว่าเดิมที่มีการตั้งกำแพงภาษี ยกระดับสงครามการค้าระหว่างกัน

คำสั่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขียนว่าอย่างไร?

แถลงการณ์ของทำเนียบขาวระบุว่า คำสั่งประธานาธิบดีมีเป้าหมายที่จะปกป้องชาวอเมริกันจาก "ศัตรูต่างชาติ" ที่สร้างจุดอ่อนและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างและบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างต่อเนื่องและมากขึ้นเรื่อยๆ

คำสั่งนี้ให้อำนาจกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในการห้ามการดำเนินธุรกิจใดๆ ที่เสี่ยงเป็นภัยอย่างไม่อาจยอมรับได้ต่อความมั่นคงของชาติ ห้ามใช้เทคโนโลยีที่ถูกออกแบบ พัฒนา ผลิตหรือใช้ส่วนประกอบของบุคคล เป็นเข้าของ ควบคุม หรือเกี่ยวข้องกัลศัตรูของชาติ

ด้านอาจิต ไพ ประธานคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐฯ หรือ FCC ออกแถลงการณ์การสนับสนุนคำสั่งประธานาธิบดี โดยระบุว่า นี่เป็นก้าวสำคัญไปสู่การป้องกันเครือข่ายต่างๆ ของสหรัฐฯ

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ มีคำสั่งห้ามหน่วยงานของรัฐใช้ผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยทั้งหมด และยังกดดันให้พันธมิตรเลิกใช้หัวเว่ยอีกด้วย ขณะที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ต่างกีดกันไม่ให้หัวเว่ยไปเปิดบริการ 5จี ในประเทศ

หัวเว่ยและรัฐบาลจีนตอบโต้ว่าอย่างไรบ้าง

หัวเว่ยยืนยันว่าการทำงานของหัวเว่ยไม่ได้เป็นภัยคุกคามใดๆ และบริษัทหัวเว่ยก็มีความเป็นอิสระจากรัฐบาลจีน และการห้ามหัวเว่ยไม่ให้ทำธุรกิจในสหรัฐฯ ก็ไม่ทำให้สหรัฐฯ ปลอดภัยหรือเข้มแข็งขึ้น ในทางกลับกัน การกีดกันนี้จะเป็นการจำกัดศักยภาพของสหรัฐฯ ให้ด้อยกว่า และต้องไปใช้เทคโนโลยีที่แพงกว่า ทำให้สหรัฐฯ ล้าหลังด้านการก้าวไปสู่เทคโนโลยี 5จี ทำลายผลประโยชน์ของบริษัทและผู้บริโภคชาวอเมริกันเสียเอง

กระทรวงต่างประเทศของจีนแถลงว่า สหรัฐฯ ละเมิดความมั่นคงของชาติตัวเอง เพื่อทำลายภาพหรือกดขี่บริษัทจีนโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นเรื่องน่าอายและไม่ยุติธรรม ทั่วโลกรู้อย่างชัดเจนว่าจุดประสงค์ของสหรัฐฯ คืออะไร จีนจึงเรียกร้องให้สหรัฐฯ หยุดกดขี่บริษัทจีนด้วยข้ออ้างเรื่องความมั่นคง และสร้างบรรยากาศที่ยุติธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ เพื่ออำนวยให้การลงทุนและการดำเนินธุรกิจเป็นไปตามปกติ

หัวเว่ยกระทบอย่างไรบ้าง

สำนักข่าวบีบีซีระบุว่า นักวิเคราะห์ประเมินว่า แม้ไม่มีตลาดสหรัฐฯ หัวเว่ยก็มีแนวโน้มว่าจะสามารถครองตลาดได้ถึงร้อยละ 40-60 ของเครือข่าย 5จีทั่วโลก หัวเว่ยจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เลย แต่สิ่งที่อาจทำให้หัวเว่ยเสียประโยชน์ก็คือการนำหัวเว่ยขึ้นบัญชีจับตาการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ เพราะเป็นการแบนไม่ให้บริษัทอเมริกันส่งออกส่วนประกอบสำคัญให้หัวเว่ย

ด้านสำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า รายได้ของหัวเว่ยจากทวีปอเมริกาคิดเป็นเพียงร้อยละ 6.6 ของรายได้ทั้งหมด และส่วนใหญ่ก็เป็นรายได้จากลาตินอเมริกาด้วย นอกจากนี้ ช่วงไตรมาสแรกของปี 2019 หัวเว่ยยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2018 ถึงร้อยละ 39

ยูเรเชีย กรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษาระบุด้านความเสี่ยงทางการเมืองว่า หากมีการบังคับใช้คำสั่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการแล้ว การขึ้นบัญชีรายชื่อบริษัทที่ต้องจับตาภายใต้กฎระเบียบของฝ่ายบริหารการส่งออกสหรัฐฯ จะทำให้หัวเว่ยไม่สามารถเข้าถึงฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์สำคัญในการผลิตโทรศัพท์และอุปกรณ์เสริมที่ใช้คู่กับโทรศัพท์ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้กับหัวเว่ยและผู้ใช้หัวเว่ยทั่วโลก เพราะหัวเว่ยไม่สามารถอัปเกรดซอฟต์แวร์และเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ได้อีก

ยูเรเชีย กรุ๊ปยังเตือนว่า มาตรการนี้จะส่งผลกระทบกับสินค้าของหัวเว่ยทั้งหมด ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือรุ่นไฮเอนด์ โครงข่ายโทรศัพท์มือถือ ศูนย์ข้อมูล บริการเก็บข้อมูลบนคลาวด์ และจะมีผลกระทบกับบริษัทที่ใช้สินค้าและบริการของหัวเว่ยทั่วโลกในทันที โดยเฉพาะเครือข่ายโทรศ��พท์มือถือต่างๆ ในยุโรป

อย่างไรก็ตาม ช่วงหลายปีที่ผ่านมา หัวเว่ยออกแบบชิป ระบบปฏิบัติการ โมเด็มเชื่อมต่อกับสัญญาณ 5จีที่ใช้กับสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยเอง เพื่อลดการพึ่งพาบริษัทอื่นๆ โดยปี 2018 โทรศัพท์ของหัวเว่ยร้อยละ 73 ใช้ชิปของตัวเอง อีกร้อยละ 10 ในชิปบริษัทมีเดียเทคจากไต้หวัน และอีกร้อยละ 17 เป็นของควอลคอมม์ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับโทรศัพท์ที่ราคาต่ำกว่า 6,300 บาท ดังนั้นหากควอลคอมม์ไม่สามารถส่งออกชิปให้หัวเว่ยได้ มีเดียเทคก็น่าจะเข้ามาแทนที่ได้

ทั้งนี้ หัวเว่ยยังคงพึ่งพาส่วนประกอบจากสหรัฐฯ ค่อนข้างมากสำหรับอุปกรณ์โครงข่ายโทรศัพท์ ซึ่งอาจทำให้หัวเว่ยประสบปัญหาได้ โดยปีที่ผ่าน หัวเว่ยได้เปิดเผยรายชื่อซัพพลายเออร์สำคัญออกมา 92 บริษัท ในจำนวนนี้มีบริษัทสัญชาติอเมริกันถึง 33 บริษัท

 ที่มา : BBC, CNBC