สืบเนื่องจากวันที่ 2 มี.ค.2563 เฟซบุ๊คแฟนเพจจำนวนหนึ่งนำคลิปเหตุการณ์ นิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนหนึ่งที่พยายามนำธงดำชักขึ้นสู่ยอดเสา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วง มาเผยแพร่ใหม่อีกครั้งพร้อมข้อความโจมตีนั้น ต่อมา กลุ่มผู้จัดกิจกรรม “จุฬาฯ รวมพล” ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าว ผ่านเพจ 'จุฬาฯ รวมพล CU Assemble' ชี้แจงว่า การนำธงชาติลงเป็นเวลาหลังเคารพธงชาติ เมื่อเวลา 18.00 น. อันเป็นเวลาชักธงชาติลงตามปกติของประเทศไทย หลังจากเจ้าหน้าที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้นำธงชาติออกจากเชือกตามหน้าที่แล้ว นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้ที่อยู่ในคลิปดังกล่าวจึงได้เข้าไปผูกธงสีดำไว้กับเชือกก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาห้ามปราม ภายในการจัดกิจกรรม “จุฬาฯ รวมพล” มิได้มีความพยายามในการชักธงชาติไทยลงเพื่อแทนที่ด้วยธงสีดำแต่อย่างใด
ทั้งยังระบุว่า การชักธงสีดำขึ้นครึ่งเสานั้น เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อไว้อาลัยให้แก่กระบวนการยุติธรรมภายในประเทศ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ธงสีดำครึ่งเสาเคยถูกหยิบยกมาใช้ในการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์มาก่อนแล้วในประเทศไทย เช่น ในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 อันเป็นการชุมนุมทางการเมืองของนิสิตนักศึกษาเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมจากรัฐบาลเผด็จการทหาร ( อ้างอิงจากบทความ เกิดอะไรใน “14 ตุลา” ก่อนมาสู่ชัยชนะสำคัญของประชาชนลุกฮือต้าน “คณาธิปไตย” จากเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม https://www.silpa-mag.com/history/article_40175)
นอกจากนี้ คลิปที่ถูกเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์นั้นถูกบันทึกโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนิสิตผู้อยู่ในคลิป ขณะนี้นิสิตคนดังกล่าวได้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเรียบร้อยแล้ว และจะมีการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป
จุฬาฯ รวมพล ชี้แจงด้วยว่า นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้ที่อยู่ในคลิปดังกล่าวมิได้ประสบความสำเร็จในการชักธงดำครึ่งเสา เนื่องจากได้ถูกระงับโดยเจ้าหน้าที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “จุฬาฯ รวมพล” ในฐานะกลุ่มของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ต้องการรวมตัวกันเพื่อแสดงออกถึงความไม่พึงพอใจต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทย จึงได้ทำแถลงการณ์ฉบับนี้ขึ้นเพื่อแสดงจุดยืน ว่านิสิตคนดังกล่าวและกลุ่มผู้จัดกิจกรรมมิได้มีความต้องการให้ธงไตรรงค์อันเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทยที่รักยิ่งของพวกเรานั้นแปดเปื้อนแต่อย่างใด หากแต่ต้องการพื้นที่ในการแสดงออกเมื่อเสียงของเราถูกกดทับจากรัฐบาลที่ไม่เป็นธรรม และการบังคับใช้กฎหมายที่ตีความเพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จนยากที่จะได้ยินแม้เสียงกระซิบ
ต่อมา น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมทางการเมือง โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงถึงข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวโดยระบุว่า "1. ไม่ว่าใครจะมีความรู้สึกต่อเรื่องนี้อย่างไร ข้อเท็จจริงไม่ควรถูกบิดเบือน น้องๆไม่ได้แตะต้องธงชาติ เพราะตอนเดินไปที่เสาธงนั้นเป็นเวลาหลังเคารพธงชาติร่วมกันและธงชาติถูกเก็บไปเรียบร้อยแล้ว พวกเขาเพียงต้องการใช้ธงดำเป็นสัญลักษณ์ถึงความอยุติธรรมปิดท้ายกิจกรรม
2. โบว์คิดว่าทุกคนสามารถเรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ ว่าความรอบคอบใน “การสื่อสารกับคนหมู่มาก” สำคัญเพียงใด และการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์นั้น หากเราไม่สามารถอธิบายให้สังคมเข้าใจอย่างทั่วถึงได้จริง ในกรณีที่มีความอ่อนไหวสูง ก็อาจนำมาซึ่งผลอันไม่พึงประสงค์
อย่างในครั้งนี้ ต่อให้สามารถชักธงดำขึ้นเสาและอธิบายกันในงานได้ หากภาพเผยแพร่ออกไป ก็จะมีคนจำนวนมากไม่พอใจจากการตีความที่เพี้ยนไปได้หลายทิศทางทั้งโดยจงใจและไม่ตั้งใจ เกิดบรรยากาศที่เป็นอันตราย และทำให้การสร้างความเข้าใจเป้าหมายของการเคลื่อนไหวกับสังคมต่อไปเป็นไปด้วยความยากลำบาก
เราต้องไม่ลืมว่าความสำเร็จของการขับเคลื่อนทางการเมือง(ไม่ว่าจะโดยนักศึกษา ประชาชน หรือนักการเมือง) อยู่ที่ความสามารถในการทำให้คนจำนวนมากที่สุดเข้าใจและเห็นด้วยว่าเราต้องการสร้างสังคมที่ดีขึ้นด้วยกันได้อย่างไร หากเราสร้างสภาวะที่ทำให้เกิด noise มากกว่า voice เสียแล้ว ทุกอย่างจะยากมากเพราะผู้คนจะพูดกันไม่รู้เรื่อง
3. ไม่ว่าประชาชนผู้รับข้อมูลข่าวสารจะรู้สึกอย่างไรเมื่อได้ทราบข้อเท็จจริงนี้แล้ว อยากขอร้องให้ทุกคนปฏิบัติต่อกันด้วยความเมตตาค่ะ หากเราเห็นเยาวชนเหล่านี้เหมือนน้อง เหมือนลูก เหมือนหลาน ที่มีความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมืองเช่นเดียวกับพวกเราทุกคนแล้ว ก็ขอให้ได้ให้กำลังใจหากคุณเห็นด้วยกับพวกเขา ขอให้ให้อภัยหากคุณไม่พอใจในสิ่งที่เขาพยายามทำ และขอให้สละเวลาทำความเข้าใจหากยังสับสน
สำหรับโบว์ พวกเขาคือ “น้อง” ร่วมชาติ ที่กำลังเรียนรู้และเติบโต เช่นเดียวกับผู้ใหญ่อย่างเราๆ ที่ก็ยังเรียนรู้และเติบโตทางความคิดได้ทุกวันค่ะ"
อดีตผู้บริหาร มธ.ชี้การกระทำนิสิตสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2563 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า กรณีนิสิตหญิงจุฬาฯคนหนึ่งที่เป็นแกนนำจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง และเป็นแกนนำจัดชุมนุมประท้วงการยุบพรรคอนาคตใหม่ ที่จุฬาฯ พยายามนำธงสีดำขึ้นแทนธงไตรรงค์บนเสาธงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อมหาวิทยาลัย และยังสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายด้วย แต่นิสิตหญิงคนนี้อ้างว่าใครๆเขา ก็ทำกัน เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ นั่นก็จริง เวลามีการชุมนุมประท้วงก็มักมีการกระทำอะไรทำนองนี้บ่อยๆ แต่ต่างกันกับกรณีนี้ตรงที่ว่า เคยเห็นแต่คนที่เขาทำไปโดยรู้ว่าผิด แต่ก็จะทำ แต่เพิ่งเห็นครั้งนี้เป็นครั้งแรก เมื่อ รปภ. ของมหาวิทยาลัยมาขัดขวาง ข้อโต้แย้งของเธอคือ “ เป็นการไม่ให้สิทธิเสรีภาพแก่นิสิตจุฬาฯ” แปลว่าเสรีภาพคือจะทำอะไรก็ได้ทั้งสิ้นหรือ
"ลองไปทำอย่างนี้ในมหาวิทยาลัยอื่นๆทั่วโลก แล้วอ้างว่านี้คือเสรีภาพ แล้วดูซิว่า มีมหาวิทยาลัยไหนบ้างในโลกจะยอมให้เธอทำบ้าง" รศ.หริรักษ์ ถาม
ล่าสุด ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล การ์ดชาตินิยม โพสต์เฟซบุ๊กระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า "เมื่อทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด แล้วยังมีการปกป้องคนผิด แล้วยังกล่าวโทษ รปภ.ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ จึงต้อง #จัดหนักสถานเดียว ภารกิจ ตัดเนื้อร้ายทิ้ง เพื่อรักษาเกียรติภูมิจุฬาฯ"
โดย ร.อ.ทรงกลด ได้นัดหมาย ยื่นหนังสือถึงอธิการบดีในวันที่ 4 มี.ค. 2563 เวลา 13.00 น. และจะดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ณ สน.ปทุมวัน ในเวลา 14.00 น.