ไม่พบผลการค้นหา
เดชรัต สุขกำเนิด ชี้งบประมาณรายจ่ายบุคลากรกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้น 1.7% ขณะที่สาธารณสุขลดลง 1.33% และศึกษาธิการลดลง 6% ย้ำการเพิ่มขึ้นในส่วนของกลาโหมสวนทางกับการปรับลดอัตรากำลังพลที่เกิดขึ้นทั่วโลก

เดชรัต สุขกำเนิด อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงความเห็นเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายบุคลากรของกระทรวงกลาโหม ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า จากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในส่วนของงบประมาณของกระทรวงกะลาโหม หนึ่งในหมวดที่มีงบประมาณเพิ่มขึ้นจากงบปี 2564 คือ งบประมาณรายจ่ายบุคลากรของกระทรวงกลาโหมที่เพิ่มขึ้นจาก 103,293.6 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2564 ขึ้นเป็น 105,034 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565 หรือเพิ่มขึ้น 1,741 ล้านบาท

แปลว่า งบประมาณรายจ่ายบุคลากรของกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้น 1.7% จากปีก่อน ในขณะที่งบประมาณทั้งหมดของประเทศปรับลดลงถึง 5.7% เรียกว่า สวนทางกับงบประมาณทั้งประเทศ ถ้าเปรียบเทียบกับงบประมาณรายจ่ายบุคลากรทั้งประเทศ กล่าวง่ายๆ คือ ค่าตอบแทนสำหรับข้าราชการ พนักงาน ทั้งประเทศ พบว่า งบประมาณบุคลากรต่องบประมาณบุคลากรทั้งประเทศกำลังเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13.2 ในปี 2564 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 13.7 ในปี 2565 หรือกล่าวได้ว่า เรากำลังจ่ายงบประมาณสำหรับบุคลากรของกระทรวงกลาโหมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับบุคลากรทั้งประเทศ

และถ้าที่ลองเปรียบเทียบกับงบบุคลากรของกระทรวงที่ถูกปรับลด เราจะเห็นว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รับงบรายจ่ายบุคลากรลดลงจาก 116,557.7 ล้านบาท ในปี 2564 เหลือ 115,008.3 ล้านบาท ในงบปี 2565 หรือลดลง 1,549.4 ล้านบาท (หรือลดลงร้อยละ 1.33) และกระทรวงศึกษาธิการ งบรายจ่ายบุคลากรลดลงจาก 225,446.3 ล้านบาท ในปี 2564 เหลือ 211,889.3 ล้านบาทในงบปี 2565 หรือลดลงถึง 13,557 ล้านบาท (หรือลดลงถึงร้อยละ 6 เลยทีเดียว)

เดชรัต ระบุว่า นับเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า ที่ประเทศไทยเรากำลังเพิ่มความสำคัญของกำลังพลของกองทัพ มากกว่ากำลังคนในภาคสาธารณสุขและการศึกษา นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของกำลังพลและงบบุคลากรของกองทัพยังมีผลเสียต่องบประมาณของกระทรวงกลาโหมเองด้วยครับ เพราะหากเทียบกับงบประมาณทั้งหมดของกระทรวงกลาโหมเอง เราจะพบว่า งบรายจ่ายบุคลากรกำลังมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 45.4 ของงบประมาณกลาโหม ในปี 2563 มาเป็นร้อยละ 51.7 ในปีงบประมาณ 2565

นั่นแปลว่า งบประมาณของกระทรวงกลาโหมจะถูกแบ่งไปยังเป็นงบรายจ่ายบุคลากรมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผลน่าจะสวนทางกับเทคโนโลยีในการป้องกันประเทศ ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่ากำลังพลแบบเดิม หรืออาจจะกล่าว งบประมาณที่กองทัพจะมาลงทุนในอาวุธยุทโธปกรณ์ กลับหมดไปกับค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของกองทัพมากขึ้นเรื่อยๆ

เพื่อให้เห็นภาพแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในด้านกำลังพลของทั่วโลก จะพบว่า ข้อมูลจาก Our World in Data เทียบเป็นอัตรากำลังพลของกองทัพต่อประชากร พบว่า กองทัพไทยมีอัตรากำลังพลเพิ่มขึ้นจาก 0.45% ของประชากร ในปี 2528 เป็น 0.66% ของประชากร ในปี 2558 หรือเพิ่มขึ้น 45% โดยเปรียบเทียบ

ในขณะที่ภาพรวมของโลกมีอัตรากำลังพลลดลงจาก 0.46% ของประชากรในปี 2528 (มากกว่าไทยในปีนั้นเล็กน้อย) มาเป็น 0.37% ของประชากร ในปี 2558 (น้อยกว่าไทยเกือบครึ่งหนึ่ง) หรือหากเทียบระหว่าง 2 ช่วงเวลา ภาพรวมของกองทัพทั้งโลกต่อประชากรลดลงถึง 19%

หากพิจารณาจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง (Middle income countries) อัตรากำลังพลลดลงจาก 0.38% มาเป็น 0.34% ในช่วงเวลาเดียวกัน หรือลดลง 8% ส่วนประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper middle income countries) อัตรากำลังพลลดลงจาก 0.44% มาเป็น 0.38% ของประชากรในช่วงเวลาเดียวกัน หรือลดลง 14% โดยเปรียบเทียบ

หรือหากเปรียบเทียบต่อกำลังแรงงานจากข้อมูลของ World Bank พบว่า กองทัพไทยของเรามีอัตรากำลังพลต่อกำลังแรงงานเพิ่มขึ้น จาก 0.95% ของกำลังแรงงาน ในปี 2533 มาเป็น 1.17% ของกำลังแรงงาน ในปี 2561 (หรือเพิ่มขึ้น 23% โดยเปรียบเทียบ) ในขณะที่ภาพรวมของทั้งโลกลดลงจาก 1.11% (มากกว่าไทย) มาเป็น 0.81% (น้อยกว่าไทย) ของกำลังแรงงาน ในช่วงเวลาเดียวกัน (หรือลดลง 27% โดยเปรียบเทียบ)

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง ที่มีอัตรากำลังพล 0.75% ของกำลังแรงงานในปี 2561 และ กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงที่มีอัตรากำลังพล 0.70% ของกำลังแรงงานในปีเดียวกัน) แล้วพบว่า ประเทศไทยมีอัตรากำลังพลต่อกำลังแรงงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งสองกลุ่มประเทศ (ที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่) ถึง 56% และ 67% ตามลำดับ

แปลว่า ประเทศไทยของเราจะมีอัตรากำลังพลเพิ่มขึ้นสวนทางกับภาพรวมของโลก และสูงกว่ากลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง และกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง เป็นอย่างมาก

การที่อัตรากำลังพลของเราเดินทางสวนทางของโลก ทำให้งบประมาณรายจ่ายบุคลากรเพิ่มมากขึ้น จนเป็นภาระกับงบประมาณของกระทรวงกลาโหม และเป็นภาระของประชาชนด้วย การลดอัตรากำลังพล เพื่อลดงบประมาณรายจ่ายบุคลากรของกองทัพลง จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเร่งด่วนอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชน และประโยชน์ของกองทัพเองด้วย