ไม่พบผลการค้นหา
กทม.ทุ่มงบ 48 ล้านบาท เปลี่ยนโฉม "ถนนข้าวสาร" ทำทางเท้า-ผิวจราจร ปูด้วยหินแกรนิตพ่นไฟ เริ่ม ต.ค.นี้ คาดแล้วเสร็จ ก.พ.63

นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงแผนการพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนข้าวสาร ว่า การปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณแหล่งท่องเที่ยวสำคัญหรือจุดที่เป็นแลนด์มาร์ก เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีและผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งที่มองเอาไว้มี 2 พื้นที่ คือ ถนนเยาวราชและถนนข้าวสาร ซึ่งเยาวราชก็เริ่มปรับปรุงบางส่วนแล้ว 

ในส่วนของถนนข้าวสารหลังจากมีการจัดระเบียบผู้ค้าเมื่อปี 2561 ก็พบว่า ขณะนี้ยังมีปัญหาความไม่เป็นระเบียบอยู่หลายเรื่อง ทั้งเรื่องของการต่างคนต่างขาย ขายไม่เป็นเวลา ขายทั้งวันทั้งคืน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ การตั้งแผงค้าที่บดบังหน้าร้านอาคารพาณิชย์และมีการเรียกรับผลประโยชน์ รวมถึงการขายสินค้าที่ผิดกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ สินค้าลามกอนาจาร และยังมีรถเข็นที่ขายอยู่บนถนน ซึ่งกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าเป็นคนต่างด้าว

พลิกโฉมด้วยหินแกรนิตพ่นไฟ

นายสกลธี กล่าวว่า การปรับปรุงให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม เบื้องต้นที่หารือกับสำนักงานเขตพระนครในฐานะเจ้าของพื้นที่ สำนักโยธา รวมถึงผู้ประกอบการ จะปรับปรุงโดยทำให้พื้นทางเท้าและพื้นผิวจราจรถนนข้าวสารที่ยาว 400 เมตร อยู่ในระดับเดียวกันทั้งหมด โดยอาจจะสกัดทางเท้าให้ลงมาเท่ากับถนน หรือยกระดับถนนให้เท่ากับทางเท้า แต่จะไม่โดดไปกว่าถนนหลักด้านนอกถนนข้าวสาร และจะปูพื้นทั้งหมดด้วยหินแกรนิตพ่นไฟ ซึ่งจะใช้สีที่แตกต่างกันในการแบ่งโซน เช่น สีดำใช้เป็นพื้นถนน สีแดงเป็นทางเท้า เป็นต้น 

โดยถนนจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 1.ทางเท้าหน้าแนวอาคาร 2 เมตร 

2.ทางเดิน 1 เมตร 

3.แผงค้า 3 เมตร โดยจะเป็นแผงค้า 2 แผงที่หันหลังชนกันแผงละ 1.5 เมตร 

4.ทางเดิน 1 เมตร 

5.ถนน 5 เมตร

6.ทางเท้าหน้าแนวอาคาร 2 เมตร 

นอกจากนี้ จะทำระบบรางระบายน้ำใหม่ให้สวยงาม เป็นรางสแตนเลสแนบไปกับตัวพื้น และระหว่างทางเดินกับถนนจะติดตั้งเสาเหล็กยืดหดได้สูง 60 เซนติเมตร ตลอดแนวถนนข้าวสาร ส่วนแผงค้าจะออกแบบร่วมกับผู้ค้าและมีการติดไฟส่องสว่างด้วย

นายสกลธี กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวจะใช้งบประมาณ 48 ล้านบาท โดยคาดว่าจะจัดหาผู้รับจ้าง และจัดซื้อจัดจ้างตามระบบอี-บิดดิง และลงนามสัญญาจ้างได้ภายใน ต.ค.นี้ โดยจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4-5 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน ก.พ. 2563 

โดยการก่อสร้างจะแบ่งการดำเนินการ อาจทำทีละฝั่ง หรือแบ่งโซนในการทำ เพราะไม่สามารถปิดถนนข้าวสารยาวนานหลายเดือนได้ จะพยายามทำให้กระทบผู้ค้าและการท่องเที่ยวให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ กทม.จะทำให้ถนนข้าวสารเป็นจุดผ่อนผันถูกต้องตามกฎหมาย ตั้งแต่เวลา 09.00 - 21.00 น. หรืออาจจะถึง 24.00 น. เพื่อให้นักท่องเที่ยวและประชาชนได้รับความปลอดภัย

"สำหรับลักษณะของแผงค้า กำหนดให้มีขนาด 1.5x2 เมตร หันหลังชนกัน จะเว้นระยะห่าง 2 เมตรในทุกๆ 10 ล็อก โดยจะรองรับผู้ค้าได้ 236-240 ราย และจะแบ่งพื้นที่เป็นโซนของกิน โซนขายของ เพื่อไม่ให้ปะปนกัน"

ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้ามาขายนั้นเป็นผู้ค้าแผงลอยเดิมที่ลงทะเบียนกับทาง กทม.ไว้แล้ว ซึ่งเงื่อนไข คือ จะต้องมีตัวตนจริง ห้ามให้คนอื่นมาเซ้งต่อ และอาจจับฉลากผู้ค้าทุก 1-2 ปี และไม่ให้มีต่างด้าวเข้ามาแอบแฝงการค้า และไม่มีการอนุญาตให้นำรถเข็นเข้ามาขาย มีการคัดกรองสินค้าไม่ให้มีสินค้าผิดกฎหมาย ลามกอนาจาร ละเมิดลิขสิทธิ์เข้ามาขาย เพื่อให้เป็นมิตรกับประชาชนและนักท่องเที่ยว ไม่ใช่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถซื้อสินค้าผิดกฎหมายได้ รวมถึงจะมีการเก็บค่าเช่าผู้ค้า ซึ่งคิดว่าไม่แพงมาก โดยจะต้องไปศึกษาว่าจะเก็บได้แค่ไหนอย่างไร เพราะถือว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ จะปล่อยให้ฟรีคงไม่ได้ อย่างน้อยก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในเรื่องของการเก็บขยะและบำรุงรักษาระบบระบายน้ำ 

นายสกลธี กล่าวว่า ถนนข้าวสารจะเป็นพื้นที่นำร่อง โดยเฟสต่อไปจะดำเนินการบนถนนที่เชื่อมต่อกัน เช่น ถนนรามบุตรี ถนนตานี ถนนสิบสามห้าง เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: