ไม่พบผลการค้นหา
โพลเผย ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อหากบัตรแมงมุมทำให้ครอบคลุมทั้งระบบได้ จะทำให้การเดินทางของคนในกรุงเทพฯสะดวกขึ้น แต่ยังกังวลว่าระบบขนส่งบางประเภทอาจไม่เชื่อมต่อ หรืออุปกรณ์ไม่พร้อม ทำให้ใช้ประโยชน์จากบัตรแมงมุมไม่เต็มที่

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีการเปิดตัวและแจก “บัตรแมงมุม” เพื่อนำร่องใช้สำหรับรถไฟฟ้าฟ้าสายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน จำนวน 200,000 ใบ ให้กับประชาชน ในทุกสถานีของรถไฟฟ้าสายสีม่วงจนกว่าจะหมด 

กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงทำการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “บัตรแมงมุม บัตรร่วมโดยสาร เดินทางได้ทุกระบบของคนกรุงเทพฯ ” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ รวมทั้งสิ้น 1,184 คน ได้ผลว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 52.9 ระบุว่า ปัจจุบันมีความยุ่งยากในการใช้บัตรโดยสารขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ ที่มีความหลากหลายและใช้ร่วมกันไม่ได้ เพราะต้องพกบัตรทีละหลายใบทั้ง MRT, BTS, Airport Rail Link ฯลฯ รองลงมาร้อยละ 24.7 ระบุว่า ต้องเสียเวลาต้องต่อคิวซื้อตั๋วใหม่เวลาเปลี่ยนประเภทการเดินทาง และร้อยละ 22.4 ระบุว่า ไม่มีปัญหาเพราะเคยชินแล้ว

ส่วนทราบหรือไม่ว่ารัฐบาลมีโครงการจัดทำ “บัตรแมงมุมหรือ ตั๋วร่วมเดินทางได้ทุกระบบ” ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.6 ระบุว่าทราบ ขณะที่ร้อยละ 46.4 ระบุว่าไม่ทราบ

สำหรับการแจก “บัตรแมงมุม” เพื่อนำร่องใช้สำหรับรถไฟฟ้าฟ้าสายสีม่วงและสายสีน้ำเงินก่อน จำนวน 200,000 ใบ ให้กับประชาชน ในทุกสถานีของรถไฟฟ้าสายสีม่วงจนกว่าจะหมดนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 67.4 ระบุว่ายังไม่ทราบ ขณะที่ร้อยละ 32.6 ระบุว่าทราบแล้ว

ทั้งนี้การที่บัตรแมงมุมในช่วงแรกใช้ได้เฉพาะรถไฟฟ้าสายสีม่วง-สายสีน้ำเงินในเดือน มิถุนายน โดยจะขยายไปใช้ร่วมกับ แอร์พอร์ตเรลลิ้งค์และรถเมล์ ในเดือนตุลาคมนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 52.7 ระบุว่า คนที่ใช้บริการเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีม่วง MRT Airport Rail Link และรถเมล์ จะสะดวกขึ้น รองลงมาร้อยละ 26.7 ระบุว่าอาจจะยังไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควรเพราะยังไม่ครอบคลุมทุกการเดินทาง และร้อยละ 20.2 ระบุว่าการเดินทางเหมือนเดิมเพราะใช้ BTS เป็นหลัก

หากบัตรแมงมุม สามารถทำได้ครอบคลุมระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภทในกรุงเทพฯ ชีวิตคนกรุงเทพฯ จะเป็นเช่นไรนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 65.1 ระบุว่า การเดินทางสะดวกสบายขึ้นเพราะไม่ต้องพกบัตรหลายใบ/ต่อแถวซื้อตั๋วบริเวณจุดเชื่อมต่อ รองลงมาร้อยละ 21.8 ระบุว่า เหมาะกับยุคสมัยที่อนาคตจะเป็นสังคมไร้เงินสด มีบัตรเดียวใช้ได้กับขนส่งสาธารณะทุกระบบ และร้อยละ 12.2 ระบุว่า จะทำให้คนกรุงเทพฯ จะหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น

สำหรับเรื่องที่ห่วงหรือกังวลมากที่สุดหากมีการใช้ “บัตรแมงมุม” พบว่าร้อยละ 37.8 กังวลว่าจะใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่เพราะระบบขนส่งบางประเภทอาจไม่เชื่อมต่อหรืออุปกรณ์ติดตั้งไม่พร้อม รองลงมาร้อยละ 28.2 กังวลว่าระบบการชำระเงินหรือตัดยอดเงินไม่พร้อมและมีปัญหาการใช้งานเมื่อเปลี่ยนประเภทการเดินทาง และร้อยละ 24.7 กังวลเรื่องความเข้าใจของประชาชนในการใช้บัตรแมงมุม