Station F ซึ่งตั้งอยู่กลางกรุงปารีส มองเผินๆก็เหมืออาคารสำนักงานสมัยใหม่ทั่วไป ที่มีอยู่มากมายในปารีสและเมืองใหญ่ทั่วโลก แต่นี่คือปรากฏการณ์ใหม่ที่กำลังได้รับการจับตามองจากวงการสตาร์ทอัพทั้งโลก เพราะอาคารแห่งนี้เป็นออฟฟิศสตาร์ทอัพขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในโลก รองรับสตาร์ทอัพจากหลากหลายประเทศได้กว่า 1,000 ราย ที่ผ่านระบบการคัดสรรอย่างเข้มงวด เพื่อให้สถานที่แห่งนี้เป็นบ้านของสตาร์ทอัพที่ส่งเสริมความหลากหลาย เปิดกว้างต่อผู้ประกอบการรายเล็ก และเท่าเทียมอย่างแท้จริง
กระบวนการสรรหาสตาร์ทอัพที่จะเข้ามาใช้ออฟฟิศใน Station F 200 เจ้าแรก หรือที่เรียกว่าเป็น "สมาชิกก่อตั้ง" เรียกว่าแข่งขันกันสูงพอควร มีผู้สมัครขอใช้อาคารกว่า 2,300 บริษัทจาก 21 ประเทศทั่วโลก โดยสตาร์ทอัพส่วนใหญ่มาจากสหรัฐฯ อังกฤษ จีน อินเดีย และเยอรมนีตามลำดับ แต่ผู้ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกก่อตั้งของ Station F จะถูกคัดกรองให้มาจากหลากหลายอุตสาหกรรม อายุ และเชื้อชาติ โดยมีการเปิดเผยว่าช่วงอายุของเจ้าของสตาร์ทอัพที่ได้รับเลือก มีตั้งแต่ 20-71 ปี และร้อยละ 40 มีเจ้าของเป็นผู้หญิง นอกจากนี้ยังมีไม่ถึงร้อยละ 20 ที่มีรายได้เกิน 500,000 ดอลลาร์ หรือ 15 ล้านบาทแล้ว
เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ไปร่วมพิธีเปิด Station F
ซาเวียร์ เนียล ผู้ก่อตั้ง Station F ใช้เงินลงทุนเกือบหมื่นล้านบาทและเวลา 5 ปีเพื่อเปลี่ยนอาคารแห่งนี้ให้กลายเป็นโค เวิร์คกิง สเปซ ขนาดใหญ่ที่รองรับทุกกิจการสตาร์ทอัพ แต่ค่าเช่าที่จะเก็บจากผู้เช่ากลับถูกอย่างเหลือเชื่อ เพียง 7,600 บาทต่อโต๊ะ ซึ่งหมายความว่ายิ่งบริษัทเล็ก ก็ยิ่งเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง แต่ความสะดวกสบายที่ได้รับถือว่าครบครัน ไม่ว่าจะเป็นออฟฟิศที่มีลักษณะฟรีสไตล์ ห้องออกกำลัง ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ห้องประชุม 60 ห้อง หรือแม้กระทั่งแฟลทสำหรับให้ผู้ประกอบการเช่าอยู่ในอาคาร รองรับคนได้ 600 คน ในแฟลทแบบแชร์ 100 ยูนิต และยังมีระบบ AI ของไมโครซอฟท์ ทำหน้าที่เชื่อมต่อการทำงานภายในอาคารกับเครือข่ายจากทั่วโลกอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
Station F ได้รับการจับตามองจากนักลงทุนทั่วโลก ในฐานะส่วนหนึ่งของการสร้างแรงจูงใจในการเข้าไปลงทุนในฝรั่งเศส โดยเฉพาะในธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ เนื่องจากปารีสอยู่ในสหภาพยุโรป มีข้อได้เปรียบด้านภาษีในการขยายเครือข่ายในกลุ่มอียู รวมถึงสหรัฐฯ และยังมีบุคลากรด้านไอที นวัตกรรม รวมถึงศิลปะอยู่มาก เมื่อผนวกรวมกับกฎหมายที่เปิดกว้าง และการสร้างสาะารณูปโภครองรับสตารืทอัพอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปารีสอาจกลายเป็นหนึ่งในเมืองหลวงสตาร์ทอัพของโลกได้ในอนาคต