ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม แนะทางออกเพื่อความสบายใจของผู้บริโภคเนื้อปลานำเข้าจากจังหวัดฟุกุชิมะ ด้วยการตรวจสอบซ้ำในลักษณะเป็นความเห็นที่สอง

จากกรณีที่สื่อ นำเสนอข่าวว่า ประเทศไทยนำเข้าเนื้อปลาจากจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ที่เคยประสบเหตุแผ่นดินไหวเมื่อปี พ.ศ 2554 ทำให้กัมมันตภาพรังสีรั่วไหลออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จนทำให้หลายคนเกิดความวิตกกังวลนั้น

ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเล และสิ่งแวดล้อม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กต่อกรณีดังกล่าวหลังจากมีนักข่าวหลายคนโทรศัพท์ไปสอบถามมากมาย ว่า การเรียกร้องให้เปิดเผยชื่อร้านอาหารที่เสิร์ฟปลาจากจังหวัดฟุกุชิมะได้หรือไม่ ข้อนี้เป็นเรื่องของกฎหมาย และระเบียบดังนั้นตนเองไม่สามารถตอบได้ เพราะไม่ชำนาญ

สำหรับเรื่องการตรวจสอบยืนยันนั้น ดร.ธรณ์ เชื่อว่าสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ น่าจะมีศักยภาพในการตรวจสอบเพื่อช่วยยืนยันในลักษณะของความเห็นที่สองหรือ Second opinion ได้ และหากมีการร้องขอผ่านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เพื่อให้มีต้นเรื่อง ก็อาจเป็นทางออกเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสบายใจ แต่การมีความเห็นที่สองนั้นไม่ได้หมายความว่าไม่เชื่อใจญี่ปุ่น แต่มีเพื่อความสบายใจของคนในประเทศ เพราะอย่าลืมว่า ไทยส่งสินค้าเกษตรและอาหารไปญี่ปุ่นจำนวนมาก ทำอะไรก็ต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วย 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์คัดค้านการนำเข้าปลาจากฟุกุชิมะ และขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยชื่อ 12 ร้านอาหารญี่ปุ่นให้ผู้บริโภคทราบ โดยตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 61 บอกไว้ว่า รัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไก ที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการรับรู้ข้อมูลที่เป็นจริง ด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นธรรมในการทำสัญญาหรือด้านอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค 

และตาม พ.ร.บ.อาหาร 2522 มาตรา 25 ประกอบมาตรา 26 บัญญัติชัดเจน ว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายซึ่งอาหารไม่บริสุทธิ์ มีสิ่งที่น่าจะ เป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ด้วย" ดังนั้น จึงเป็นสิทธิของประชาชนผู้บริโภคที่จะได้รับข้อมูลที่เพียงพอในการบริโภค และสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยในการบริโภค แน่นอนว่า "สุขภาพต้องมาก่อนการค้า" การอนุญาตให้นำเข้าอาหารทะเล หรือปลาจากฟุกุชิมะ จึงน่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพ จึงเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พร้อมกันนั้นยังเรียกร้องให้ อย.คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคโดยสั่งให้เปิดรายชื่อบริษัทตัวแทนนำเข้า และรายชื่อ 12 ร้านอาหารญี่ปุ่นที่ใช้ปลานำเข้าดังกล่าว แสดงฉลากหรือข้อมูลหน้าร้านให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภครู้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนใช้บริการ และหากเพิกเฉยสมาคมอาจใช้สิทธิในการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง