นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (18 ก.ค.61) ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาเรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเพื่อรองรับการสิ้นสุดสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) และ 1800 MHz ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย. 2561 และได้มีมติตามความเห็นของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม ครั้งที่ 14/2561 เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2561 ว่า เรื่องนี้ได้มีความเห็นของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. ให้ความเห็นว่า กสทช. มีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเพื่อรองรับการสิ้นสุดสัมปทานได้โดยนำข้อเท็จจริงมาพิจารณาตามความเหมาะสมแล้วแต่กรณี ซึ่งไม่ผูกพันที่ต้องนำประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 มาบังคับใช้ทุกกรณี
เนื่องจาก กสทช. ได้ออกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1740-1784/1835-1880 MHz เพื่อจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ล่วงหน้าก่อนสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย. 2561 และได้กำหนดให้มีการยื่นคำขอเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2561 แต่ผลปรากฏว่า ไม่มีผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเพื่อเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งรวมถึงบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือบริษัทในเครือด้วย จนกระทั่งต่อมา กสทช. จึงได้พิจารณาและมีมติปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ดังกล่าว รวมทั้งได้อนุมัติให้จัดประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz เพิ่มเติมด้วยโดยกำหนดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ในวันที่ 18 ส.ค. 2561 และกำหนดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในวันที่ 19 ส.ค. 2561 ซึ่งทั้งหมดนี้จะดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน
ดังนั้น โดยหลักการแล้ว เมื่อ กสทช. ดำเนินการจัดประมูลเพื่อเตรียมการรองรับผลของการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานดังกล่าวได้แล้วเสร็จก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน แต่ผู้รับสัมปทานหรือบริษัทในเครือไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว ย่อมไม่สามารถได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ได้ เนื่องจากถือเป็นกรณีที่ผู้รับสัมปทานไม่ประสงค์จะใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าให้เกิดความต่อเนื่องในการให้บริการอีกต่อไป
อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานหรือบริษัทในเครือเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวแล้ว แต่กระบวนการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ให้บริการรายใหม่จะต้องใช้ระยะเวลาช่วงหนึ่ง (ประมาณ 3 เดือน) ดังนั้น ไม่ว่าผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz จะเป็นผู้รับสัมปทานเดิมหรือบริษัทในเครือหรือไม่ก็ตาม ผู้รับสัมปทานเดิมย่อมได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ได้จนกว่า กสทช. จะได้จัดสรรคลื่นความถี่ให้กับผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่รายใหม่และกำหนดวันหยุดการให้บริการ เนื่องจากถือเป็นกรณีที่ผู้รับสัมปทานแสดงประสงค์จะใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าให้เกิดความต่อเนื่องในการให้บริการ และเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการให้ได้รับบริการให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากหลักการตามข้างต้นประกอบกับข้อเท็จจริงแล้ว ที่ประชุม กสทช. จึงได้พิจารณาแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการของ DTAC ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 และได้มีมติ ดังนี้
ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ติดตามตรวจสอบข้อมูลจำนวนผู้ใช้บริการคงเหลือพร้อมเงินคงค้างในระบบให้ กสทช. ทราบเป็นระยะ
อ่านเพิ่มเติม :