ไม่พบผลการค้นหา
สธ. ชี้ไข้หวัด เจ็บคอ ไอ ร้อยละ 90 เกิดจากไวรัส เตือนไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง เพราะเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส ไม่ช่วยลดอาการหรือหายเร็วขึ้น เสี่ยงเกิดเชื้อดื้อยา

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงนี้เป็นฤดูฝน อากาศเปลี่ยนแปลง ประชาชนมักป่วยเป็นไข้หวัด คออักเสบ มีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก มีไข้ เจ็บคอ ไอ หรือเสียงแหบจากหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน จึงขอเตือนประชาชนว่า อย่าซื้อยาปฏิชีวนะ หรือที่มักเรียกกันว่า "ยาแก้อักเสบ" มากินเอง 

เนื่องจากไข้หวัดกว่าร้อยละ 90 เกิดจากเชื้อไวรัส แต่ยาปฏิชีวนะเป็นยารักษาโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จึงไม่ช่วยลดความรุนแรงหรือช่วยให้หายเร็วขึ้น ที่สำคัญคืออาจทำให้เชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในร่างกายกลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยาได้ ซึ่ง ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายให้โรงพยาบาลทุกแห่งมีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลใน 3 โรคที่พบบ่อย คือ หวัด-เจ็บคอ โรคท้องร่วง และแผลเลือดออก

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า ในการสังเกตว่าเป็นหวัดจากไวรัสหรือแบคทีเรีย สามารถทำได้เองโดยใช้ไฟฉายส่องในช่องปากและดูภายในลำคอจากกระจก หรือใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพ หากเป็นหวัดจากเชื้อไวรัส จะมีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ คอหอยและต่อมทอนซิลจะเป็นสีแดง เพียงผู้ป่วยพักผ่อน ดื่มน้ำมากขึ้น ดูแลร่างกายให้อบอุ่น กินยารักษาตามอาการ ได้แก่ ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ อาการจะดีขึ้น ไข้จะค่อยๆ ลดลงใน 3- 4 วัน และหายเองได้ภายใน 7 วัน ส่วนอาการไออาจจะนานถึง 21 วัน แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ไข้ไม่ลดภายใน 2 – 3 วัน ขอให้ไปพบแพทย์ 

กรณีที่มีไข้สูง เจ็บที่ต่อมน้ำเหลืองด้านข้างลำคอ คอหอยและต่อมทอนซิลแดงจัด และมีฝ้าขาวหรือตุ่มหนอง อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ขอให้ไปพบแพทย์ และเมื่อได้รับยาปฏิชีวนะ ขอให้รับประทานยาตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด จนหมดแม้ว่าอาการจะดีขึ้นก็ตาม เพื่อให้หายขาด ไม่กลับเป็นซ้ำ ลดความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนจากหวัด เช่น หัวใจพิการเป็นต้น ลดปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตปีละกว่า 30,000 ราย

โรคไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส เมื่อหายป่วยร่างกายจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนั้น แต่เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดมีหลายสายพันธุ์แตกต่างกันตามช่วงเวลา จึงมีโอกาสติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่นอีก ประชาชนควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการป่วย โดยพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ล้างมือบ่อย ๆ ไม่ใช้มือสัมผัสใบหน้าตนเองโดยไม่จำเป็น และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยไข้หวัด สำหรับไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการรุนแรงกว่า จึงขอให้กลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หญิงที่ตั้งครรภ์อายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ และลดการเสียชีวิต 

โดยข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานตั้งแต่ 1 ม.ค. –27 ส.ค. 2561 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 95,239 ราย จาก 77 จังหวัด เสียชีวิต 14 ราย