ไม่พบผลการค้นหา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนาคมนาคม เตรียมเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน เฟสแรก เข้า ครม. พรุ่งนี้ (12 ธ.ค.) เพื่อขออนุมัติการก่อสร้าง หลังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เห็นชอบรายงาน EIA ขณะที่กรมทางหลวง (ทล.) เตรียมนำเครื่องจักรเข้าพื้นที่ภายในสัปดาห์นี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) มีมติเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.35 กิโลเมตร โดยเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติให้กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการก่อสร้าง ตอนที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม. (สถานีกลางดง-ปางอโศก) ในวันที่ 12 ธันวาคม 2560 เพื่อเริ่มต้นตอกเสาเข็มการก่อสร้างโครงการฯ ในวันที่ 21 ธันวาคมนี้

ด้านนายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า ทล.เตรียมเข้าพื้นที่ พร้อมนำเครื่องจักรและอุปกรณ์การก่อสร้างเข้าบริเวณที่จะก่อสร้างภายในสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะเคลียร์พื้นที่การก่อสร้าง และเร่งนำเข้าวัสดุจากจีนบางส่วน รวมทั้งการถอดแบบก่อสร้างในการใช้วัสดุก่อสร้างภายในประเทศ คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างประมาณ 4-6 เดือน โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาตกลงราคาค่าก่อสร้างของคณะกรรมการร่วมระหว่างกรมทางหลวง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และฝ่ายจีน ในกรอบงบประมาณราคากลางวงเงิน 425 ล้านบาท คาดว่าจะได้ข้อสรุปและลงนามในบันทึกข้อตกลงภายในเดือนธันวาคมนี้ ทั้งนี้ ยืนยันว่า ทล.พร้อมดำเนินการก่อสร้างอย่างเต็มที่ โดยจะเน้นคุณภาพ ความคุ้มค่า รวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ 

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงินลงทุนรวม 179,412.21 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 14 สัญญา และดำเนินการ 4 ตอน ประกอบด้วย ตอนที่ 1 กลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. โดย รฟท.จะว่าจ้าง ทล.ดำเนินการก่อสร้างในรูปแบบหน่วยงานรัฐต่อรัฐเพื่อให้ก่อสร้างงานโยธา , ตอนที่ 2 ปากช่อง-คลองขนานจิตร ระยะทาง 11 กม. , ตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 119.5 กม. และตอนที่ 4 แก่งคอย-บางซื่อ ระยะทาง 119 กม.