ผู้จัดการด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในค่ายผู้ลี้ภัยค็อกซ์บาซาร์ของบังกลาเทศ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Asian Correspondent โดยอ้างอิงรายงานของสหประชาชาติและคำบอกเล่าของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่ให้ไว้กับ องค์กร Save the Children พบว่าการปราบปรามชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่รุนแรงที่สุดในช่วงเดือนสิงหาคมและ กันยายนปี 2017 โดยมีการข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงชาวโรฮิงญา จึงคาดว่าจะมีเด็กเกิดใหม่ในช่วงกลางปีนี้จำนวนมาก
เจ้าหน้าที่ระบุว่า ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากว่า 700,000 คนที่ลี้ภัยมาจากรัฐยะไข่ล้วนบอกเล่าความรุนแรงที่พวกเขาต้องเผชิญ โดยผู้หญิงและเด็กผู้หญิงจำนวนมากกล่าวว่าพวกเธอถูกทั้งทหารพม่าและพลเรือนชาวพุทธข่มขืน ส่งผลให้หลายคนตั้งครรภ์ในช่วงการปราบปรามชาวโรฮิงญา
องค์กรต่างๆ จึงคาดว่าช่วงที่จะมีเด็กเกิดใหม่สูงที่สุดคือช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ซึ่งประเมินว่าในปีนี้น่าจะมีเด็กเกิดใหม่ในค่ายผู้ลี้ภัยค็อกซ์บาซาร์มากกว่า 48,000 คน หรือเฉลี่ย 131 คนต่อวัน
ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ต้องเผชิญอุปสรรคมากมายในการให้ความช่วยเหลือในค่ายผู้ลี้ภัยค็อกซ์บาซาร์ เนื่องจากมีบุคลากรไม่เพียงพอที่จะดูแลผู้ลี้ภัยอย่างทั่วถึง จึงทำให้เจ้าหน้าที่กังวลว่าหญิงตั้งครรภ์หลายคนอาจเข้าไม่ถึงเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในเวลาที่พวกเธอกำลังจะคลอด
องค์กร Save the Children และองค์กรอื่นๆ พยายามร่วมกันเก็บข้อมูลผู้ถูกคุกคามทางเพศและข่มขืน และเตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่รู้วิธีช่วยเหลือแม่และเด็กเกิดใหม่ ทั้งด้านสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ก็ยังกังวลว่า ผู้หญิงหลายคนยังรู้สึกหวาดกลัวและอับอายที่จะไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข จึงเลือกที่จะคลอดลูกเอง โดยเจ้าหน้าที่ขององค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) กล่าวว่า เจ้าหน้าที่พยายามโน้มน้าวให้หญิงตั้งครรภ์ไปคลอดบุตรในคลินิก แต่มีเด็กที่เกิดในคลินิกเพียงร้อยละ 23 ของเด็กทั้งหมดที่เกิดในค่าย
ในเดือนพฤศจิกายนปี 2017 ฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) องค์ด้านสิทธิมนุษยชนสากล พบว่า ผู้หญิงและเด็กผู้หญิง 2 ใน 3 ของทั้งหมดที่สัมภาษณ์กับ HRW เปิดเผยว่าพวกเธอไม่ได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์หรือทางการบังกลาเทศ ว่าถูกข่มขืน เพราะกลัวจะถูกตีตราว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี หรือกลัวว่าหากครอบครัวรู้ว่าเด็กคนนี้เกิดจากการข่มขืน ครอบครัวอาจไม่ยอมรับและเลี้ยงดูเด็กคนนั้น
ที่มา: Asian Correspodent
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: