ไม่พบผลการค้นหา
'พี่สาววันเฉลิม' ยื่นหนังสือติดตามความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย ฟาก 'ที่ปรึกษา ปธ.สภาฯ' เผยอาจไม่ทันสมัยประชุมนี้

นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน รับหนังสือเปิดผนึกจากเครือข่ายญาติผู้สูญหาย เรื่องขอเร่งรัดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำร่าง พ.ร.บ.ทรมานอุ้มหายเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร

รังสิมันต์ กล่าวว่า ตนอยากให้ทุกพรรคการเมืองสนุบสนันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งหากไม่ทันในสมัยประชุมนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องให้สมาชิกมาพูดคุยหารือกันว่า การพิจารณากฎหมายที่ค้างอยู่ในสภาจะสามารถทำอย่างไรให้มีการพิจารณาได้โดยไว

ขณะที่หนึ่งในตัวแทนผู้ยื่นหนังสือ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีความสำคัญมากต่อสิทธิของประชาชน ซึ่งร่างฉบับเเรกของพรรคประชาชาติได้ยื่นมาหลายเดือนแล้ว จึงต้องการมาถามความคืบหน้า

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งถูกอุ้มหายตัวไปในประเทศกัมพูชากล่าวว่า ปัจจุบันทุกคนมีความเสี่ยง จากการออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ จึงอยากออกมาให้มีการปกป้องประชาชนหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ

นพ.สุกิจ ระบุร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้มี 3 ฉบับ จากพรรคประชาธิปัตย์, พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาชาติ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ซึ่งหลังจากที่รับหนังสือวันนี้ ก็จะนำส่งต่อสภาฯ ได้ดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม จะต้องเป็นไปตามขั้นตอนทางกฏหมายและข้อบังคับสภาฯ ซึ่งตนมองว่าด้วยวาระที่เข้ามามากมาย ร่างพ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับนี้อาจจะไม่ทันในสมัยประชุมนี้ 

อุ้มหาย.jpg


โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ตัวแทนประชาชน และญาติบุคคลที่ถูกซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย เข้ายื่นหนังสือเปิดผนึกถึงประธานรัฐสภา 'ชวน หลีกภัย' เนื่องด้วยเครือข่ายญาติผู้เสียหายจากการทรมานและการบังคับสูญหาย องค์กรเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน ตัวแทนภาคประชาชนทราบว่า ทางคณะกรรมาธิการกฏหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฏรได้นำ (ร่าง) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ….(ฉบับประชาชน) มาปรับปรุงรายมาตราสำเร็จเป็นร่างกฎหมายสมบูรณ์แล้ว ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. 2562 และได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจากพรรคการเมืองต่างๆได้ร่วมกันลงชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาไปแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้นพรรคการเมืองบางพรรค โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัด เช่น พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาชาติ ก็ได้ยื่นร่างกฎหมายชื่อเดียวกันเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาด้วยเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าเป็นฉันทามติของบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนหนึ่งที่ต้องการให้ประเทศไทยมีกฎหมาย ที่ยืนยันสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ที่ทุกคนปลอดพ้นจากการทรมานและอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ถือว่าการกระทำทรมานหรืออุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอาชญากรรม โดยจะกระทำต่อบุคคลใดๆ มิได้

ไม่ว่าโดยข้ออ้าง เหตุผลหรือภายใต้สถานการณ์ใดๆ เช่นภาวะสงคราม กฎอัยการศึกหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งการเลือกปฏิบัติไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ที่ห้ามผลักดันบุคคลใดๆ ออกนอกราชอาณาจักรหากบุคคลนั้นอาจต้องเผชิญกับการทรมาน ที่ผู้บังคับบัญชาที่ละเลยหรือรู้เห็นเป็นใจจะต้องร่วมรับผิดต่อการกระทำผิดของผู้ใต้บังคับบัญชา ที่กำหนดมาตรการป้องกันการทรมานและอุ้มหายโดยให้มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ ให้สิทธิในการพบญาติ พบและปรึกษาทนายความ ที่ให้ศาลพลเรือนเท่านั้นมีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับการทรมานและการอุ้มหาย มีอำนาจตรวจสอบและสั่งระงับการกระทำผิด รวมทั้งเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายเป็นต้น

เนื่องในโอกาสวันรำลึกถึงผู้ถูกบังคับให้สูญหายสากล ที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 ส.ค.2563 นี้เครือข่ายญาติผู้เสียหาย องค์กรเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน ตัวแทนภาคประชาชน ซึ่งเห็นการตรากฎหมายนี้โดยเร็วจะทำให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองจากการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ตัวแทนญาติ และภาคประชาชน จึงเข้ายื่นหนังสือเปิดผนึกต่อประธานรัฐสภา ในวันนี้ (27 ส.ค.) ณ สัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภา เพื่อให้เร่งรัดดำเนินการในประเด็นดังกล่าวต่อไป