ไม่พบผลการค้นหา
ทางการสหรัฐฯ ส่งคืนวัตถุโบราณ 12 รายการ ที่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าเป็นศิลปะบ้านเชียง ยุคก่อนประวัติศาสตร์เก่าแก่สุด 4,300 - 1,800 ปี พร้อมติดตามความคืบหน้าการส่งคืนวัตถุโบราณอื่นๆ จากต่างประเทศกลับไทยด้วย

เมื่อวานนี้ (2 ส.ค. 2561) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ครั้งที่ 2/2561 ว่าที่ประชุมได้รับรายงาน กรณีนางแคทเธอรีน อาเยอร์ส - แมนนิกซ์ ชาวอเมริกัน แจ้งความประสงค์ส่งมอบโบราณวัตถุก่อนประวัติศาสตร์คืนให้แก่ประเทศไทย 12 รายการ และภาพถ่ายรวมโบราณวัตถุทั้ง 12 รายการ จำนวน 1 ภาพ

ทั้งนี้ ดร.จอยซ์ ไวท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะบ้านเชียงและผู้อำนวยการสถาบันโบราณคดีแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Institute for Southeast Asian Archaeology) มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้ให้ความเห็นว่าโบราณวัตถุดังกล่าวเชื่อว่าเป็นโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบ้านเชียงของไทย

ทั้งนี้ ขณะนี้สถานทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ได้จัดส่งโบราณวัตถุทั้งหมดมายังกระทรวงการต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว โดยขั้นตอนต่อไปกรมศิลปากรและกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกันตรวจสอบโบราณวัตถุและส่งมอบให้แก่กรมศิลปากร ซึ่งรายการโบราณวัตถุที่ส่งมอบคืน ได้แก่

1. ภาชนะดินเผาสีดำ อายุสมัยก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบ้านเชียง สมัยต้น ราว 4,300-3,000 ปี

2. ภาชนะดินเผาลายขูดขีดผสมการระบายสีแดง อายุสมัยก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบ้านเชียง สมัยต้น ระยะปลาย ราว 3,000 ปี

3. ภาชนะดินเผาลายขูดขีดผสมการระบายสีแดง อายุสมัยก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบ้านเชียง สมัยต้น ระยะปลาย ราว 3,000 ปี

4. ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบประดับด้วยเส้นนูน อายุสมัยก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบ้านเชียง สมัยต้นราว 4,300-3,000 ปี 

5. ภาชนะดินเผาลายเขียนสี อายุสมัยก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบ้านเชียง สมัยปลาย ราว 2,300-1,800 ปี 

6. ภาชนะดินเผาลายเขียนสี อายุสมัยก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบ้านเชียง สมัยปลาย ราว 2,300-1,800 ปี

7. ภาชนะดินเผาลายเขียนสี อายุสมัยก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบ้านเชียง สมัยปลาย ราว 2,300-1,800 ปี

8. ภาชนะดินเผาลายเขียนสี อายุสมัยก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบ้านเชียง สมัยปลาย ราว 2,300-1,800 ปี

9. ภาชนะดินเผาสีดำ

10. ลูกกลิ้งดินเผา อายุสมัยก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบ้านเชียง สมัยปลายราว 2,300-1,800 ปี

11. หินดุดินเผา อายุสมัยก่อนประวัติศาสตร์

12. กำไลสำริด อายุสมัยก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบ้านเชียง ราว 2,300-1,800 ปี

13. ภาพถ่ายรวมโบราณวัตถุทั้ง 12 รายการ

38186306_2027744080889065_656638132338294784_o.jpg

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบผลการศึกษาและวิเคราะห์ของคณะอนุกรรมการวิชาการเพื่อติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย และมีมติเห็นชอบให้ติดตามโบราณวัตถุกลับคืนประเทศไทย 9 รายการเพิ่มเติม ที่ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ Norton Simon มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยให้กรมศิลปากรทำหนังสือถึงสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา เนื่องจากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นโบราณวัตถุดังกล่าวเชื่อได้ว่ามีแหล่งกำเนิดในประเทศไทยและมีการนำออกจากประเทศไทยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  

โดยโบราณวัตถุทั้ง 9 รายการ ได้แก่

1.พระโพธิสัตว์ไมเตรยะ สำริด เป็นศิลปะลพบุรี (ศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทย) ก่อนเมืองพระนคร อายุราว พ.ศ.1300-1350

2.พระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรม สำริด เป็นลักษณะเฉพาะศิลปะแบบทวารวดี ในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 13-15

3.พระพุทธรูปประทับยืน หินทราย เป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะทวารวดี การทำอุณาโลมเป็นลักษณะใกล้เคียงกับศิลปะอินเดีย อาจสร้างขึ้นในระยะแรกราวพุทธศตวรรษที่ 13 

4.พระพุทธรูปางสมาธิ สำริด เป็นศิลปะทวารวดีตอนกลาง ราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 

5.พระพุทธรูปลีลา สำริด เป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย อายุราวพ.ศ.1800-2000

6.เศียรพระพุทธรูป หินทราย พระพุทธรูปแบบทวารวดีตอนกลาง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-15

7.พระสุริยะเทพ หินทราย เป็นประติมากรรมเทวรูปรุ่นเก่า สกุลช่างศรีเทพอายุราวพ.ศ.1100-1200 

8.นาคปัก หินทราย เป็นรูปแบบศิลปะขอม สมัยเมืองบาปวน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16

9.แผ่นทองคำดุนลวดลาย 5 แผ่น

นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทยกรณีทับหลังปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่ Asian Art Museum เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายของสหรัฐอเมริกา

38241959_2027751310888342_4083433963329159168_o.jpg

ซึ่งอธิบดีกรมศิลปากรได้ลงนามหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเข้าสู่กระบวนการขอคืนทับหลังทั้ง 2 รายการ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมได้รับรายงานว่า สหรัฐอเมริกาได้ตั้งอัยการเพื่อรับผิดชอบเรื่องดังกล่าวโดยตรง และมีการแจ้งขอหลักฐานของโบราณวัตถุทั้งสองรายการเพิ่มเติม ซึ่งกรมศิลปากรได้ทยอยส่งหลักฐานตามที่ขอไปแล้ว และพร้อมจะส่งหลักฐานเพิ่มเติมหากมีการร้องขอมาอีก อย่างไรก็ตาม ได้รับแจ้งว่า ขณะนี้โบราณวัตถุทั้งสองรายการได้ถูกนำไปเก็บไว้และไม่ได้มีการจัดแสดงแล้ว

สุดท้าย ที่ประชุมยังได้รับรายงานความคืบหน้าการขอคืนโบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะฮอนโนลูลู สหรัฐอเมริกา 17 รายการ กรมศิลปากร โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการวิชาการฯ ได้ศึกษาและวิเคราะห์โบราณวัตถุ 17 รายการดังกล่าว ผลสรุปว่า โบราณวัตถุดังกล่าว ยืนยันได้ว่ามีแหล่งกำเนิดในประเทศไทย 14 รายการ และได้ทยอยส่งมอบข้อมูลให้สำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกาผ่านกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลในการขอคืนไปเรียบร้อยแล้ว 

ภาพ : เฟซบุ๊ก/กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม