นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2560 พบว่าประชากรสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) มีจำนวน 11.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.7 ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มประชากรสูงอายุจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ประชากรวัยเด็กและวัยทำงานลดลง ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุคที่เรียกว่า 'สังคมผู้สูงอายุ' (Aging Society) ภายในปี 2564
การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างของประชากรดังกล่าวส่งผลให้อายุเฉลี่ยของแรงงานไทยจะสูงขึ้น แรงงานที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปจะมีจำนวนมากขึ้นและมีบทบาทสำคัญในการสร้างผลิตภาพแรงงาน
ขณะเดียวกัน แรงงานเหล่านี้จะก้าวเข้าสู่การเกษียณในอีก 10 ถึง 15 ปีข้างหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานกลุ่มนี้ก้าวเข้าสู่การเป็นประชากรสูงวัยที่มีคุณภาพ ทั้งในแง่ของคุณภาพชีวิต และคุณภาพสังคม
กสร.ได้จัดทำโครงการส่งเสริมสวัสดิการแรงงานสูงอายุขึ้น โดยส่งเสริมความรู้ให้แก่ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการที่มีอายุ 45 ปีขึ้น โดยมุ่งเน้นใน 3 มิติสำคัญ ได้แก่
1) มิติทางเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถดำรงชีพภายหลังเกษียณ โดยปลอดจากภาระหนี้สิน ด้วยการส่งเสริมการใช้ชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ให้ความรู้ในเรื่องวินัยการออม การจัดทำบัญชีครัวเรือนลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ สร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพเสริมหรือเป็นอาชีพภายหลังเกษียณ
2) มิติด้านสุขภาพ การให้ความรู้ในเรื่องดูแลสุขภาพทั้งกายและจิตใจ เพื่อให้เกิดความสมดุลชีวิต
3) มิติด้านสังคมเพื่อให้อยู่ในสังคมอย่างมั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐ
อธิบดีกสร. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการจัดสวัสดิการเพื่อเตรียมความพร้อมแก่แรงงานที่จะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ เช่น การส่งเสริมการออม การจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการ และสวัสดิการด้านสุขภาพ เช่น การให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพการตรวจสุขภาพประจำปี ให้แก่ลูกจ้างด้วย โดยในปีงบประมาณ 2561 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ส่งเสริมการจัดสวัสดิการแรงงานสูงอายุเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ลูกจ้างไปแล้วกว่า 6,000 คน
ข่าวเกี่ยวข้อง :