ไม่พบผลการค้นหา
มิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติคนใหม่ เรียกร้องให้มีกลไกตรวจสอบหลักฐานสำหรับการยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีกับกองทัพเมียนมาต่อศาลอาญาโลก ในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมสงคราม

นางมิเชล บาเชเลต์ อดีตประธานาธิบดีชิลี กล่าวสุนทรพจน์แรก นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHRC เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นแบบแผนเน้นย้ำว่ากองกำลังด้านความมั่นคงของเมียนมามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด

นอกจากนี้ นางบาเชเลต์ยังรู้สึกยินดีที่อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC ได้ยื่นคำร้องให้ศาลพิจารณากรณีการปราบปรามขับไล่ชาวโรฮิงญาออกจากรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา ถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ โดยเธอระบุว่า นี่เป็นก้าวสำคัญมากที่จะนำไปสู่การนำคนผิดมาลงโทษ อีกทั้งยังยินดีที่ได้เห็นความพยายามของประเทศสมาชิกในการสร้างกลไกอิสระระหว่างประเทศสำหรับเมียนมา ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ปกป้องรักษาและวิเคราะห์หลักฐานการก่ออาชญากรรมร้ายแรงเช่นนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการไต่สวนคดีอย่างยุติธรรมและเป็นอิสระ ทั้งศาลภายในประเทศและศาลอาญาระหว่างประเทศ

นางบาเชเลต์กล่าวว่า กลไกใหม่ ซึ่งคล้ายกับที่ใช้กับซีเรีย จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการสืบสวนสอบสวนของอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ เธอจึงเรียกร้องให้คณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติผ่านมติร่วมกัน เพื่อส่งเรื่องนี้ต่อให้กับสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติหรือ UNGA ทำไปบังคับใช้ต่อไป

ใบแถลงข่าวของศาลอาญาโลกให้รายละเอียดว่า คณะผู้พิพากษาของศาลได้ลงมติกันด้วยคะแนนเสียงสองต่อหนึ่งสรุปว่า ศาลมีอำนาจในอันที่จะพิจารณาข้อกล่าวหาต่อเมียนมาในฐานะก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ การพิจารณาดังกล่าวเป็นไปตามคำร้องของอัยการที่เสนอว่า แม้เมียนมาไม่ได้เป็นสมาชิกของศาลโลก แต่ความผิดนี้ยังเกิดขึ้นเมื่อชาวโรฮิงญาจำนวนมากถูกผลักดันด้วยความรุนแรงจนต้องหนีตายเข้าสู่บังกลาเทศ และบังกลาเทศนั้นเป็นสมาชิกของศาล ทำให้ศาลมีอำนาจในอันที่จะพิจารณาได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตราที่ 119 ของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ผู้พิพากษายังเห็นว่า นอกจากข้อหานี้แล้วยังอาจรวมการกระทำผิดอื่นๆ ที่เป็นการกระทำรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยนี้ได้อีกด้วย

ที่มา: Japan Times

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :