ปัจจุบัน ครูชีวันได้รับการขนานนามว่า นักวาดภาพประกอบ นักเขียน และนักเล่านิทานที่ประสบความสำเร็จสูง ทุกลมหายใจเข้าออกตลอดระยะเวลาการทำงาน 35 ปี ของเขาเต็มไปด้วย ‘หนังสือเด็ก’ โดยทุกเล่มที่รังสรรค์ออกมาล้วนโดดเด่นด้วยการกลั่นกรองความรู้สึกจากประสบการณ์ การศึกษาค้นคว้าที่แสดงให้เห็นทั้งทฤษฎี และเทคนิควิธีอันเฉียบคม สมกับที่เป็นบุคคลสำคัญลำดับต้นๆ ที่ช่วยพัฒนาหนังสือภาพสำหรับเด็กไทย
เมื่อวันพุธ (16.พ.ค.61) ที่ผ่านมา ครูชีวันให้เกียรติมาเป็นวิทยากรบนเวที ‘อ่านสร้างสรรค์ สู่จินตการสร้างศิลป์’ กิจกรรมหนึ่งในโครงการจินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทยกับอินทัช (INTOUCH) ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 12 พร้อมถ่ายทอดเทคนิคการเล่าเรื่อง มุมมองการวาดภาพ และการฝึกฝนจินตนาการสำหรับการ ‘อ่านภาพ’ เพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ
เมื่อเอ่ยคำถามยอดฮิตว่า ‘แรงบันดาลใจเริ่มต้นจากตรงไหน?’ บางคนอาจเลือกตอบว่า ‘ความรัก’ ขณะที่หลายคนมักให้คำตอบยอดฮิตว่า ‘หาได้ทุกที่’ แต่สำหรับครูชีวันแล้ว เขาเลือกเปิดฉากด้วยการหยิบหนังสือ ‘Fishes’ ผลงานของไบรอัน ไวลด์สมิธ (Brian Wildsmith) ขึ้นมา พร้อมกับอธิบายให้ฟังว่า มันเป็นหนังสือภาพที่สร้างความรู้สึกประทับใจแรกพบ จนนำมาสู่การศึกษาค้นคว้าเทคนิควิธี และเปลี่ยน ‘ความรู้สึก’ ประทับใจแรกพบเป็น ‘ความรู้’ เพื่อสร้างสรรค์ทางเลือกใหม่ในแบบฉบับของตนเอง
“ตอนแรกเราไม่รู้จักไบรอัน ไวลด์สมิธ แต่พอไปเห็นหนังสือของเขาที่ร้านหนังสือเก่า บวกกับเรียนมาทางด้านศิลปะการทำหนังสือภาพสำหรับเด็ก จึงไวต่อหนังสือที่ทรงพลัง เพราะงานของเขาให้ความรู้สึกถึงผิวสัมผัส ทิศทาง และอารมณ์ของภาพ แม้เป็นภาพปลาก็ทำให้เราเลือกศึกษางานของเขาลึกซึ้ง ทั้งเทคนิควิธีการสร้างภาพ และเทคนิคการใช้สี” ครูชีวันตอบยิ้มๆ
นอกจากนั้น ผลงานของมอริส เซนดัค (Maurice Sendak) และอีริค คาร์ล (Eric Carle) นักสร้างสรรค์หนังสือภาพระดับโลก ก็เป็นสิ่งที่เซียนนิทานพยายามศึกษาทั้งเทคนิคการเล่าเรื่อง การตีความ และวิธีการออกแบบ
ครูชีวันให้ความรู้ต่ออีกว่า ‘การอ่านภาพ’ หรือวิธีเล่าเรื่องด้วยภาพ แท้จริงแล้วมันแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมการใช้สี ลวดลาย ตัวละคร สถานที่ และสถาปัตยกรรม ทว่าการเล่าเรื่องมักมาพร้อมกับไวยากรณ์ ซึ่งรับรู้จากโครงสร้าง สัมผัส หรืออายตนะของคน ทำให้สามารถอ่านภาพเข้าใจตรงกัน
“เหมือนกับพอเป็นภาพปลา คนทุกชาติจะอ่านภาพปลาได้ตรงกัน เพราะมันมีทิศทาง และถ้าหากคนใช้หนังสือภาพเป็น เมื่อหยิบหนังสือขึ้นมาเล่าเรื่องปลาก็จะขยับหนังสือนิดๆ หน่อยๆ เพื่อให้เกิดการอ่านภาพที่มีความเคลื่นไหว เป็นรีดดิ้งเอนิเมชั่น”
จากนั้น ครูชีวันเผยเทคนิคการสร้างสรรค์ภาพให้อ่านง่ายว่า ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในกระบวนการรับรู้ของผู้รับสาร ซึ่งต้องใช้ ‘ความรู้’ บวกกับ ‘ความรู้สึก’ ไม่ใช่แค่ความรู้เพียงอย่างเดียว ดังนั้น หากสื่อสารกับใครก็จำเป็นต้องทราบขอบเขต และข้อจำกัดของเขา เพื่อเลือกส่งต่อเรื่อราวตามเงื่อนไข
อย่างไรก็ตาม ครูชีวันเน้นย้ำเสมอว่า สิ่งสำคัญของการรังสรรค์หนังสือภาพต้องไม่หยุดแค่ความสวย ทว่านักสร้างสรรค์ทุกคนตระหนักในความสำคัญของการ ‘ตั้งคำถาม’ ซึ่งเป็นเรื่องยากกว่าการ ‘หาคำตอบ’ หนังสือภาพที่ดีจึงควรปลุกจตินตนาการให้เด็กๆ ฉุกคิด ติดตาม และอยากตั้งคำถาม
“เราต้องพูดกันเยอะๆ พูดกันบ่อยๆ โดยเฉพาะแวดวงการสื่อสาร แวดวงการศึกษา หรือคนทำงานเรื่องการเรียนรู้ของเด็ก ว่าการตั้งคำถามยากกว่าการหาคำตอบ ถ้าพูดขำๆ นะ เวลาไปฟังสัมมนาแล้วตอนสุดท้ายผู้บรรยายมักถามว่า ใครต้องการถามอะไรไหม ซึ่งคนส่วนใหญ่มักเงียบ มันเป็นภาพสะท้อนว่าสิ่งที่ฟังมาทั้งหมดเหมือนจะรู้เรื่อง แต่จริงๆ แล้วอาจไม่เข้าใจ ทำให้เกิดเป็นมายาคติหรอกตัวเองว่า เรารู้เรื่อง เราเข้าใจ แต่พอให้ตั้งถามกัลบอึ้ง เพราะการตั้งคำถามมันต้องผ่านกระบวนการวิเคราะห์ ย่อยข้อมูล และจับประเด็น”
ขณะเดียวกัน การเรียนการสอนในสังคมไทยๆ ครูทุกคนมักคาดหวังให้เด็กหาคำตอบ และครูเป็นฝ่ายตั้งคำถาม แต่ตามความเป็นจริง คำตอบล้วนหาได้จากหนังสือ คำตอบอยู่รอบตัว และหากฝึกเด็กๆ รู้จักตั้งคำถามจะช่วยให้เกิดการวิเคราะห์คำตอบจากสิ่งที่พวกเขาเห็น
“ถ้าหนังสือเด็กชวนตั้งคำถามจะดีต่อชีวิต ดีต่อระบบการศึกษา ดีต่อการเรียนรู้ แต่หนังสือเด็กในปัจจุบันส่่วนใหญ่ยังไม่ไปถึงขั้นตั้งคำถาม เท่าที่สังเกตุเห็นเป็นการให้คำตอบแบบสำเร็จรูปมากกว่า และเน้นเรื่องคุณธรรมตัวอย่าง คืออ่านแล้วเด็กๆ จะอยากเป็นแบบตัวละคร แต่กลับไม่มีแง่มุมให้ขบคิด ให้แก้ปัญหา เพราะหนังสือแก้ปัญหาหมดแล้ว มันสำเร็จรูปมากเกินไป ผู้ใหญ่มักมองว่า เรื่องราวที่เด็กๆ ควรสัมผัสต้องสนุก สดใส ร่าเริง ซึ่งในชีวิตจริงไม่ใช่” ครูชีวันกล่าวทิ้งท้าย