ไม่พบผลการค้นหา
・ การศึกษาใหม่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization – ILO) ระบุว่า แรงงานข้ามชาติมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 4.3

・ ปัจจุบันอุตสาหกรรมประมง และอาหารทะเลไทย เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดอันดับ 4 ของโลก ซึ่งพึ่งพาแรงงานข้ามชาติมากกว่า 302,000 คน

・ กลุ่มแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยส่วนใหญ่มาจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา และลาว

・ ขณะเดียวกัน แรงงานข้ามชาติยังประสบกับการละเมิดอย่างต่อเนื่อง อาทิ ร้อยละ 34 ของแรงงานประมงไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ และร้อยละ 24 ระบุว่า ค่าจ้างบางส่วนถูกนายจ้างยึดนานกว่า 1 ปี

・ เมื่อปี 2533 สหประชาชาติประกาศให้วันที่ 18 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันเฉลิมฉลองของแรงงานข้ามชาติสากล (International Migrants Day) โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มขึ้นของแรงงานข้ามชาติบนโลก และบทบาทของแรงงานข้ามชาติต่อเศรษฐกิจโลก

18 ธันวาคมของทุกปี ตรงกับวันแรงงานข้ามชาติสากล และแน่นอนว่า หันไปทางไหนก็จะเห็นแรงงานข้ามชาติจากเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในภาคการผลิตระดับล่างอยู่เต็มไปหมด จนพวกเขาถูกเปรียบเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย

เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็เกิดคำถามตามมามากมายว่า ทำไมแรงงานข้ามชาติยังต้องเผชิญกับคุณภาพชีวิตติดลบ ปัญหาค่าตอบแทนต่ำ และไม่มีความมั่นคงในอาชีพ ซึ่งคำถามดั���กล่าวอาจดูยากจะตอบ คงต้องอาศัยงานวิจัยเล่มหน้ามารองรับ


ILO_Songkhla_Songkhla_Port2_20171005_Sankham-5425.jpg

อย่าไรก็ตาม ครั้งหนึ่ง เรื่องราวการต่อสู้ของแรงงานข้ามชาติในตลาดอุตสาหกรรมประมงไทยเคยรายงานออกไปทั่วโลก ซึ่งความสนใจจากเวทีระดับโลกช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกฏหมายแรงงาน และความพยายามอื่น ๆ เพื่อปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติภาคประมงจากประเทศเพื่อนบ้าน

วอยซ์ ทีวี จึงอยากชวนทุกคนทำความเข้าใจบทบาทของแรงงานข้ามชาติต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในแวดวงอาหารทะเล ผ่านบทสนทนาของ ‘พิ้งค์ - สุภาวดี โชติกญาณ’ ผู้ประสานงานโครงการ ‘สิทธิจากเรือสู่ฝั่ง (Ship to Shore Rights)’ ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หน่วยงานภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ


Sequence 2.jpg

ภาพรวมของแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมงไทย ณ วันนี้ เป็นอย่างไร

สุภาวดี – เนื่องจากปัจจุบันสื่อต่างประเทศมักนำเสนอข่าวแรงงานข้ามชาติในเชิงลบค่อนข้างเยอะ ทำให้ภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมไทยที่เกี่ยวเนื่องกับแรงงานข้ามชาติในเวทีโลกไม่สวยงามเท่าไร ทางรัฐบาลไทยพยายามกำหนดนโยบายออกมาค่อนข้างเยอะ เพื่อปรับสภาพการทำงานของแรงงานข้ามชาติให้ดีขึ้น และไอแอลโอกำลังจะออกรายงานการวิจัยฉบับหนึ่งในปีหน้า โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากแรงงานข้ามชาติที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งผลการศึกษาบางส่วนระบุว่า สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติกำลังเป็นไปในทิศทางดีขึ้น การทำร้ายร่างกายบนเรือประมงน้อยลง พบแรงงานข้ามชาติอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานอยู่บนเรือประมงน้อยมาก และกว่าร้อยละ 60 ได้รับค่าแรงขั้นต่ำแล้ว แต่ก็ยังคงมีอีก 1 ใน 3 ได้เงินเดือนไม่ถึง 9,000 บาท หรือกฎหมายที่กำหนดให้แรงงานข้ามชาติต้องมีสัญญาจ้าง ส่วนใหญ่พวกเขาก็หันมาทำสัญญาจ้างงานกันแล้ว แต่อาจจะยังมีหลาย ๆ สิทธิไม่เท่าเทียม เช่น การหักค่าจ้างของแรงงาน หรือความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง เพราะการออกเรือประมงเป็นผู้ชาย และผู้หญิงจะอยู่ตามโรงงานแปรรูป ทำให้เฉลี่ยแล้วผู้หญิงรายได้เงินเดือนไม่ถึง 9,000 บาท ซึ่งทางไอแอลโอกำลังผลักดันให้แรงงานข้ามชาติทุกคนมีสิทธิขึ้นพื้นฐาน กล้าแสดงออก และได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น

แรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมงส่วนใหญ่มาจากประเทศไหน

สุภาวดี – อุตสาหกรรมประมงไทยมีแรงงานข้ามชาติทำงานอยู่ประมาณ 302,000 คน ส่วนใหญ่มาจากเมียนมา กัมพูชา และลาว โดยเมียนมาจะอันดับ 1 แต่เมียนมาส่วนใหญ่จะอยู่ตามโรงงานแปรรูป และเป็นผู้หญิงมากด้วย คือเมื่อก่อนแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมงเมียนมาเยอะจริง ๆ แต่จากแบบสำรวจที่ทำล่าสุดเริ่มเป็นจากกัมพูชาแล้ว

จากตัวเลข 302,000 คน พวกเขาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้านใดบ้าง

สุภาวดี – พวกเขามีส่วนช่วยให้ประเทศไทยส่งออกอาหารทะเลได้ถึง 6.6 ร้อยล้านบาท จนกลายเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลระดับ 4 ของโลก และล่าสุดมีรายงานฉบับหนึ่งของไอแอลโอทำร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development – OECD) เพิ่งออกมาเมื่อ 2 เดือนก่อน ระบุว่า ตัวเลขในปี 2553 แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของผลิตผลมวลรวมประชาชาติประมาณร้อยละ 4.3 – 6.6% ถือเป็นระดับที่ค่อนข้างสูง ทำให้แรงงานข้ามชาติมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก จึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของจำนวนแรงงานข้ามชาติที่เพิ่มขึ้น และบทบาทของพวกเขาต่อเศรษฐกิจในประเทศไทย และเศรษฐกิจสากลด้วย

การจ้างแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมงไทยมีสัดส่วนสูงมากแค่ไหน เมื่อเทียบกับสาขาอื่น ๆ

สุภาวดี – ยังไม่สูงสุด ปัจจุบันแรงงานข้ามชาติอยู่ในระบบทั้งหมดประมาณ 2,000,000 คน ส่วนใหญ่จะมาก่อสร้าง บริการท่องเที่ยว และทำงานตามร้านอาหาร โดยกระทรวงแรงงานมีการเก็บข้อมูลว่า แรงงานข้ามชาติทำงานสาขาใดบ้าง แต่ยังคงมีแรงงานตกหล่น และไม่ถูกนับในระบบ เพราะพวกเขาอาจจะไม่ได้เข้ามาทำงานตามช่องทางที่ถูกต้อง หรือข้ามมาทางชายแดน ส่งผลให้ตัวเลขไม่แน่ชัด แต่หากต้องประเมินก็น่าจะอีกเท่าตัว

ประเด็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และการแสดงออกของแรงงานข้ามชาติพัฒนาแค่ไหน

สุภาวดี – นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ทางไอแอลโอพยายามทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมมาตลอด เพราะปัจจุบันแรงงานข้ามชาติไม่กล้าแสดงออก หรือเรียกร้องสิทธิของตัวเอง เนื่องจากพวกเขามองไม่เห็นช่องทางในการออกมารวมตัวกัน ทางไอแอลโอต้องการผลักดันให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ อาจจะเป็นระดับชุมชนก่อนก็ได้ เช่น โครงการส่งเสริมให้มีการสร้างเครือข่ายผู้นำในชุมชน เพื่อให้ผู้นำออกมาเป็นตัวแทนของแรงงานข้ามชาติในการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง แต่ส่วนใหญ่แรงงานข้ามชาติมักอยากทำงาน อยากสร้างรายได้ ดังนั้น การสร้างผู้นำต้องใช้เวลานานพอสมควร เนื่องจากมีอุปสรรคทั้งด้านภาษา และความรู้เรื่องสิทธิ


ILO_Songkhla_Songkhla_Port2_20171005_Sankham-5303.jpg

ในระดับโลก การปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมงไทยต่ำกว่ามาตรฐานระหว่างประเทศหรือเปล่า

สุภาวดี – แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมีพัฒนาการค่อนข้างเยอะ แต่ในเวทีสากลอยากเห็นประเทศไทยพยายามแก้ไขปัญหาให้เกิดเป็นรูปธรรม เพราะยังมีช่องว่างที่ต้องพัฒนา และสื่อจากต่างประเทศกำลังจับตามอง อย่างไรก็ตาม ช่วงหลัง ๆ ปัญหาลดน้อยลงแล้ว แต่ยังไม่หมด ยังมีแรงงานข้ามชาติประสบกับการละเมิดต่อเนื่อง โดยร้อยละ 34 ของแรงงานข้ามชาติประมง และอาหารทะเล ไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ และร้อยละ 24 ของแรงงานประมงแจ้งว่า ค่าจ้างบางส่วนถูกนายจ้างยึดนานกว่า 1 ปี

ปัญหาที่มักเกิดกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติในเมืองไทยคือ

สุภาวดี – ขาดความรู้มากกว่า บางทีพวกเขาไม่ทราบว่า สิทธิคืออะไร บางทีพวกเขาไม่แน่ใจว่า ตัวเองอยู่ในอำนาจที่ต่อรองเรื่องสิทธิได้มากน้อยขนาดไหน มันมีปัญหาตั้งแต่ว่า นายจ้างจ่ายเงินไม่ครบบ้าง หรือเวลาไม่สบายก็ไม่รู้จะเข้าระบบรักษาสุขภาพอะไร

แล้วกฎหมายไทยช่วยส่งเสริม หรือคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติอย่างไร

สุภาวดี – มีกฎหมายรองรับค่อนข้างหลายตัว แต่กฎหมายไทยเปลี่ยนแปลงบ่อย และบางทีแรงงานข้ามชาติก็ไม่มีความรู้ ทางไอแอลโอต้องลงไปในพื้นที่ เพื่อให้ข้อมูลกับแรงงานข้ามชาติเรื่องสิทธิ แล้วเวลาพวกเขากลับไปคุยกับนายจ้างจะสามารถรู้ได้ว่า ตัวเองควรจะรับอะไร ขนาดไหน หรือพอเขามีปัญหาต้องแก้ไขอย่างไร ความจริงนโยบายของรัฐบาลพยายามให้ทุกคนอยู่ในระบบ เพื่อจะได้มอบการคุ้มครองที่ครอบคลุม และสามารถกำกับดูแลได้ ทำให้ส่วนใหญ่แรงงานข้ามชาติที่ถูกละเมิดมักเป็นแรงงานที่หลบหนีเข้ามา แล้วเวลาเผชิญปัญหาไม่กล้าไปแจ้งตำรวจ หรือร้องเรียนทางภาครัฐ เพราะพวกเขากลัวจะถูกส่งกลับประเทศ

มีเหตุผลอะไรที่แรงงานข้ามชาติไม่อยากเข้าสู่ระบบ

สุภาวดี – ส่วนใหญ่แรงงานข้ามชาติจะมาจากชุมชนที่ค่อนข้างกันดาร ทำให้พวกเขาไม่ค่อยมีความรู้ จึงต้องพึ่งนายหน้าในการส่งตัวเข้ามาทำงาน ซึ่งกระบวนการมีทั้งแบบถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย แต่จริง ๆ แล้วแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่จะอยากเข้าสู่ระบบ แต่บางครั้งระบบอาจจะยังไม่เอื้อกับพวกเขา ยกตัวอย่างเช่นในประเทศกัมพูชาที่ต้องเสียค่าทำพาสปอร์ตราคาหมื่นกว่าบาท ทำให้แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่มักลับลอบเข้ามา เพราะง่ายกว่า เร็วกว่า ถูกกว่า คือกระบวนการที่ถูกต้องนั้นราคาแพง และล่าช้า สุดท้ายแม้ไม่มีการคุ้มครองพวกเขายังมาทำงานด้วยเหตุผลหลักคือ เก็บเงินกลับบ้าน

การเก็บเงินกลับบ้านส่วนใหญ่ใช้เวลานานเท่าไหร่

สุภาวดี – ที่สำรวจมาอยู่กันประมาณ 3-4 ปี แต่ส่วนใหญ่เมื่อเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง พวกเขาต้องการกลับบ้านกันทั้งนั้น


ILO_Songkhla_Songkhla_Port2_20171005_Sankham-5311.jpg

ข้อมูลน่าตกใจจากการเก็บข้อมูลขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศคือ

สุภาวดี – ตลอดปี 2560 ไอแอลโอทำการสัมภาษณ์กลุ่มแรงงานข้ามชาติจำนวน 430 ราย โดยครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานประมงจาก 10 จังหวัด ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเล ประเด็นเกี่ยวกับสภาพการทำงาน ความเป็นอยู่ และวิธีการแก้ไขปัญหาเวลาหาป่วย นอกจากนั้น ยังมีช่องทางไหนที่ทำให้พวกเขามีการรวมกลุ่มกันได้ ไม่น่าเชื่อว่า แรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมงมีสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น เพราะเบื้องต้นคาดการณ์กันว่า แรงงานข้ามชาติเด็กมีปริมาณมาก แต่ความจริงใน 430 ราย พบแค่ 2 ราย นั่นแสดงให้เห็นว่า นโยบายห้ามจ้างแรงงานข้ามชาติอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังคงปฏิบัติได้จริง หรือการกำหนดให้แรงงานข้ามชาติทุกคนต้องมีสัญญาจ้าง การสำรวจทำให้พบตัวเลขคนไม่มีสัญญาจ้างประมาณ 1 ใน 3 คือแม้นโยบายบางข้อจะกำหนดไปแล้ว แต่พอนำไปปฏิบัติอาจพบช่องว่างบางส่วน

เป้าหมายขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศในการแก้ปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติในอนาคต

สุภาวดี – ไอแอลโอมีการกำหนดอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศไว้หลายฉบับ เราอยากจะเห็นทั้งแรงงานไทย และแรงงานข้ามชาติ ได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน เราอยากเห็นสภาพการทำงาน สภาพการกินอยู่ของทุกคนดีขึ้น คือสุดท้ายแล้วหากมีมาตรฐานแรงงานดี หรือยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้น ทางไอแอลโอก็คงไม่ต้องทำงานต่อในประเทศไทย แต่เมื่อแรงงานข้ามชาติยังคงมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจไทยค่อนข้างเยอะ เราก็อยากให้พวกเขาอยู่ดี กินดี เหมือนพลเมืองไทยคนหนึ่ง