ที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวเรื่องความหลากหลายทางเพศในไทยมักเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาวะทางเพศ รวมถึงการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคม แต่ประเด็นด้านสิทธิและกฎหมายกลับไม่ค่อยได้รับความสนใจมากเท่าที่ควร และไม่เคยมีพรรคการเมืองใดในไทยพยายามชูเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศขึ้นมาเป็นนโยบายหาเสียง
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นช่วงต้นปี 2562 ทำให้พรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่มีความกะตือรือร้นในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งอาจดึงดูดให้คนรุ่นใหม่หันไปเลือกพรรคที่ชูประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ 'วอยซ์ ออนไลน์' จึงพูดคุยกับตัวแทนจาก 4 พรรคการเมืองว่า ยังมีประเด็นอะไรเกี่ยวกับ LGBT ที่ควรต้องแก้ไข
หน่วยงานราชการคือกลุ่มที่ปรับตัวช้า
'สุรชาติ เทียนทอง' อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย มองว่าสังคมไทยเปิดกว้างสำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศมากแล้ว ทั้งวงการบันเทิงและภาคธุรกิจ แต่ภาคส่วนที่ยังปรับตัวช้า คือหน่วยงานราชการ เพราะหน่วยงานราชการมีความยืดหยุ่นน้อย จึงเชื่อว่าเรื่องนี้สามารถแก้ไขได้ไม่ยากนัก
(สุรชาติ เทียนทอง อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย)
"คำว่าราชการบางครั้งขาดความยืดหยุ่น ถ้าบอกว่าจะรับผู้ชายเข้ามาทำงานก็คือ ผู้ชายคนนั้นต้องเป็นผู้ชาย การรับผู้หญิงเข้ามา คนนั้นต้องเป็นผู้หญิง เพราะฉะนั้น ต้องมองข้ามเรื่องพวกนี้ไป
"เรื่องนี้ไม่ยากครับ ไม่มีอะไรซับซ้อน มันคือเรื่องธรรมชาติ เราแค่ยอมรับธรรมชาติ เราก็ปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมชาติให้เป็นธรรมชาติซะเท่านั้นเอง หน่วยงานราชการต้องมองคนทุกคนเป็นคนหนึ่งคน ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร ไม่ว่าเขาจะมีความต้องการทางเพศแบบไหน เขาก็คือคนหนึ่งคน เพราะฉะนั้นเรามาดูกันที่ความสามารถ แต่เรื่องนี้ผมว่าเป็นเรื่องที่ผลักดันได้เลย เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่กระทบโครงสร้าง
"ส่วนเรื่องของการละเมิดสิทธิ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่ราชการที่มีปัญหา อย่างที่บอก เรามีการยอมรับมากมายเท่าไหร่ก็แล้วแต่ แต่ก็มีสังคมอีกส่วนที่อาจไม่คุ้นชินและยอมรับ เรื่องนี้ เราต้องมาดูกันให้เป็นกิจลักษณะ วันนี้ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็แล้วแต่ นอกจากคุณหวงสิทธิของคุณ คุณต้องรักษาสิทธิของผู้อื่น เราจะต้องไม่ปล่อยให้การละเมิดสิทธิทางเพศ เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในสังคม เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่
"ผมมองว่า เมื่อทุกพรรคสนับสนุนเรื่อง LGBT กันหมด คุณก็กลับไปเลือกพรรคที่คุณชอบในการเลือกตั้ง แล้วเมื่อฝ่ายไหนก็ตามเสนอกฎหมายที่ส่งเสริม LGBT ขึ้นมา ทุกพรรคก็สนับสนุนอยู่แล้ว"
พ.ร.บ. คู่ชีวิต รูปธรรมของสังคมยอมรับความหลากหลายทางเพศ
'วิรัตน์ กัลยาศิริ' อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ส่งเสริมความหลากหลายทางเพศมาโดยตลอด และมีส่วนร่วมอย่างมากในการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่จะอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถซื้อบ้านร่วมกัน หรือ มีสิทธิ์ในมรดกเมื่อคู่รักเสียชีวิตไป และยังต้องผลักดันสิทธิด้านอื่นๆ ต่อไป เช่น การรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน
(วิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์)
"ยูเอ็นหรือสหประชาชาติและสหรัฐอเมริกาประชุมเรื่องนี้กันทุกปี ล่าสุดไม่เกินหนึ่งเดือนมานี้ คุณกลิน เดวีส์ ทูตสหรัฐฯ ก็เชิญผมไปบ้านพักทูต มีเข้าร่วมหลายร้อยคน ถือว่าเป็นเรื่องที่นานาชาติสนับสนุน ส่วนคนไทยจะจะสนับสนุนหรือไม่ ก็ต้องพยายามชี้แจง
"สิ่งที่ทุกคนเห็นว่ายังไม่ควร คือเรื่องบุตรบุญธรรม คือบุตรบุญธรรม ถ้าใช้กฎหมายเดิม ก็ให้เป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิต ก.ไก่ หรือคู่ชีวิต ข.ไข่ แต่มาเป็นบุตรบุญธรรมของทั้ง ก.ทั้ง ข.ยังไม่ได้ อันนี้เป็นมุมที่ขับเคลื่อนมาก แต่ก็ยังไม่ผ่าน มุมเดียวก็คือเรื่องบุตรบุญธรรม เพราะเพศเดียวกันก็ไม่สามารถมีบุตรได้ ก็ต้องมีบุตรบุญธรรม หลายคู่ก็ต้องเลี่ยงไปจดรับบุตรบุญธรรมแยกกัน แล้วกันเหนียวเอาไว้ก็ทำพินัยกรรมเสียให้ถูกต้อง ก็จบ ประเด็นอื่นไม่มี"
ผลิตนโยบายเข้าสภา สร้างรูปธรรมสิทธิของคนหลากหลายทางเพศ
'ชุมาพร แต่งเกลี้ยง' ผู้ร่วมจัดตั้งพรรคสามัญชน เห็นว่า แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ควรมาจากกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นโดยตรง และเข้าไปนำเสนอนโยบายในรัฐสภา ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่พรรคการเมืองในหลายประเทศใช้กันมานานแล้ว
(ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ผู้ร่วมจัดตั้งพรรคสามัญชน)
"มันมีการทำงานกฎหมายใหญ่ 3 ประเด็นที่จะการันตีได้ว่าความแตกต่างหลากหลายทางเพศคือ
"1.การรับรองอัตลักษณ์บุคคล การเปลี่ยนคำนำหน้านาม คุณคิดว่าคุณเป็นนายหรือนางสาว หรือคุณไม่อยากระบุเป็นเพศไหน คุณมีสิทธิ์
"2.พ.ร.บ.ว่าด้วยเรื่องของการเลือกปฏิบัติ ซึ่งเรามีอยู่แล้ว คือ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศปี 2558
"3.ที่สำคัญอีกอันที่พยายามผลักดันกันอยู่ คือ การจัดตั้งครอบครัวที่เท่าเทียม ซึ่งมี 2 แนวทาง คือ คุณอาจเลือกรับรองสิทธิสมรสด้วยการแก้ไขกฎหมายเดิม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 บรรพ 6 หรืออีกทางนึง คุณจะร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตใหม่ขึ้นมา ซึ่ง 3 ประเด็นหลักนี้เป็นเรื่องที่การขับเคลื่อนเรื่อง LGBT จะต้องครอบคลุมและไปถึง
"พรรคสามัญชนกำลังทำเรื่องใหม่ สามัญชนกำลังเปิดพื้นที่ให้กับสามัญชน ประชาชน และประชาชนที่เป็นเกย์ กะเทย ทอม ดี้ สามารถผลิตนโยบายเองได้เพื่อเข้าสู่สภา นี่มันเป็นประเด็นใหญ่ที่เรารู้สึกว่าเราอยากเห็นการขับเคลื่อนในรูปแบบเหล่านี้ ต้องยอมรับว่าการขับเคลื่อนของพรรคการเมืองเป็นการขับเคลื่อน ถ้าไม่มาจากเสียงส่วนใหญ่ ก็มาจากคนที่มีอำนาจทางด้านเศรษฐกิจ ชนชั้น หรือ อำนาจด้านสังคมเข้าไปอยู่ในพรรคการเมือง ไม่เคยเปิดพื้นที่ให้คนชายขอบหรือกลุ่มประชากรที่มีแหล่งอำนาจน้อย เข้าไปในพื้นที่การเมือง เลยคิดว่าการทำงานเคลื่อนไหวกับสามัญชนน่าจะเป็นการเคลื่อนไหวระยะยาวที่จะทำให้นโยบาย LGBT ไปจนถึงสุดขอบความเป็นไปได้"
ผลักดัน 'แต่งงานเพศเดียวกัน เปลี่ยนคำนำหน้า'
ด้าน 'อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์' ผู้ร่วมจดจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ มองว่าการขับเคลื่อนประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศจะต้องทำงานในระยะยาว ไม่เพียงแต่จะต้องผลักดันกฎหมาย แต่ยังต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสังคม
(อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ ผู้ร่วมจดจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่)
"สองเรื่องหลักๆ ที่คนสนใจ คือเรื่องการแต่งงานเพศเดียวกันและการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อของบุคคลข้ามเพศ หลักๆ ก็จะต้องผลักดันสองเรื่องนี้ แต่ส่วนหนึ่งที่เราสนใจร่วมทำงานกับพรรคอนาคตใหม่ เพราะเห็นตรงกันกับพรรคว่า เราต้องมั่นใจให้ได้ว่า คนเข้าถึงสถานการณ์หรือเข้าถึงความรู้ที่จะเสนอเป็นนโยบายแล้วหรือยัง
"กลไกที่พรรคควรจะทำคือการเปิดให้มันเป็นพื้นที่ที่สร้างความรู้ รวมถึงการรับฟังปัญหาของผู้คน ประชาชนสามารถจะให้ข้อคิดเห็นโดยตรงกับประเด็นที่เขาสนใจ อย่างเรื่อง LGBT ประชาชนไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็น LGBT เท่านั้นที่จะเป็นคนพูด แต่เราก็อยากให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจเรื่องนี้ หรือมองเห็นตรงนี้เป็นปัญหาร่วมกัน แสดงความคิดเห็นเข้ามาด้วย ตรงนี้ก็เป็นจุดที่พรรคพยายามจะทำ
"เรื่อง LGBT จะจัดอยู่ในหมวดเดียวกับคนพิการ เพศภาวะ รวมถึง สถานการณ์ทางสังคมอื่นๆ เราเลยเรียกรวมเรื่องนี้ว่าเป็นนโยบายสร้างความเท่าเทียมในสังคม ฉะนั้น ในหมวดความเท่าเทียมทางสังคมจึงมีหลายกลุ่มอย่างที่พูดไป แล้วก็ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีแค่นี้ สมมติว่าเราไปลงพื้นที่แล้วไปเจอปัญหาอื่นๆ ที่มีคนสะท้อนกลับมา ฝ่ายนโยบายก็จะต้องนำกลับมาทำต่อ"
เปิดเวที เปิดพื้นที่ เลิก หลบๆ ซ่อนๆ
เมื่อถามความเห็นของ 'อาจารย์ภาวิน มาลัยวงศ์' หนึ่งในอาจารย์ผู้สอนหลักสูตร Queer Studies คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองว่าควรไปในแนวทางไหน ท่ามกลางข้อเสนอที่หลากหลายจากนักเคลื่อนไหวแต่ละกลุ่ม
(อาจารย์ภาวิน มาลัยวงศ์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ )
"จริงๆ เห็นด้วยกับหลายท่านว่าในกลุ่ม LGBT ไม่ได้เห็นตรงกันทุกเรื่อง มันยังมีความขัดแย้งในกลุ่มอยู่ ผมไม่แปลกใจในเชิงนโยบายแล้ว พรรคการเมืองก็ยังไม่รู้ว่าจะทำยังไง
"ความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า เราไม่ได้อยากได้นโยบายที่ชัดเจน แต่เราอยากได้พื้นที่พูดคุย ตอนนี้การพูดคุยถูกจำกัดอยู่ในวงแคบๆ สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นไม่ได้อยากให้พรรคการเมืองไหนฟันธงลงมาเลยว่าในเชิงนโยบาย เช่น เราจะต่อสู้ให้กฎหมายการแต่งงานเพศเดียวกันเป็นไปได้ ส่วนตัวคิดว่าก็เป็นเผด็จการแบบหนึ่ง ถ้าไปคิดแทนทั้งหมด เพราะในกลุ่มเองก็ยังมีความแตกแยกอยู่ เพราะฉะนั้น ไม่คิดว่านั่นควรเป็นนโยบายที่ควรจะเกิดขึ้น
"สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นคือ อยากให้เปิดเวที ก่อนที่จะเปิดเวที อยากให้การพูดคุยในประเด็นพวกนี้มันเป็นเรื่องปกติที่ทำกัน ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปทำในที่หลบซ่อนในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ให้คุยกันอย่างเปิดเผย เป็นสาธารณะ และได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เพื่อให้คนที่มีความเห็นต่างกันมาสร้างบทสนทนาว่าสุดท้ายแล้วเราอยากได้นโยบายแบบไหน" อาจารย์ภาวิน กล่าว
เรื่องที่เกี่ยวข้อง :