การที่นายหลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และหารือเรื่องการวางแนวทางปฏิบัติระดับภูมิภาคในทะเลจีนใต้ หรือ "ซีโอซี" ซึ่งจะนำไปใช้ในการจัดการพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ ถือเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพ เนื่องจากก่อนหน้านี้ จีนกระทำการหลายอย่างที่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงการสร้างเกาะเทียมขึ้น 7 แห่งในทะเลจีนใต้ ซึ่งมีทั้งลานบินและฐานยิงขีปนาวุธติดตั้งอยู่บนเกาะเหล่านั้นด้วย
แม้อาเซียนจะกำหนดกรอบเงื่อนของซีโอซีสำเร็จไปตั้งแต่เดือนสิงหาคม แต่ประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่กรณีกับจีนในประเด็นทะเลจีนใต้ ยังไม่อาจจัดการอะไรได้มากนัก เนื่องจากซีโอซีไม่มีการกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจน เช่น ไม่ได้กำหนดพื้นที่ในทะเลจีนใต้ที่จะใช้ซีโอซีในการบริหารจัดการ และไม่มีการระบุมาตรการตอบโต้หรือบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนแนวปฏิบัติ ทำให้ซีโอซียังไม่สามารถนำไปบังคับใช้ได้จริง ทำให้เกิดการผลักดันให้เดินหน้าเจรจากำหนดรายละเอียดซีโอซีในการประชุมอาเซียนครั้งนี้
ขณะที่นายลีเซียนหลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ซึ่งจะรับตำแหน่งประธานอาเซียนในปีหน้า (2018) ต่อจากฟิลิปปินส์ กล่าวว่าการประชุมอาเซียนปีนี้มีความคืบหน้าเรื่องทะเลจีนใต้และการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจไปนอกภูมิภาค เห็นได้จากการที่ผู้นำหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ แคนาดา เกาหลีใต้ และจีน ต่างแสดงเจตนาที่จะร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนร่วมกับอาเซียนเพิ่มขึ้น แต่นายลีเตือนว่าปีหน้าอาเซียนจะเผชิญหน้าภัยคุกคามจากกลุ่มติดอาวุธและกลุ่มก่อการร้ายในภูมิภาคเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือด้านการต่อต้านก่อการร้ายเพิ่มเติมจากโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรและข้อมูลด้านความมั่นคงภายในภูมิภาค
ในปีหน้า สิงคโปร์จะเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกซ้อมรบของกองทัพเรืออาเซียนร่วมกับกองทัพเรือจีนเป็นครั้งแรก โดยหวังว่าความร่วมมือดังกล่าวจะนำไปสู่การยอมรับและเคารพต่อแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ในอนาคต แต่ในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการประชุมเรื่องทะเลจีนใต้ในเวทีอาเซียนที่ฟิลิปปินส์ ก็ได้มีการฝึกซ้อมรบร่วมกันของตัวแทนกองทัพเรือจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพ โดยถือเป็นการ 'ฝึกผสมแบบพหุภาคี' ครั้งแรกในรอบ 50 ปีนับตั้งแต่มีการก่อตั้งอาเซียนเป็นต้นมา
การฝึกซ้อมร่วมกันของกองทัพเรืออาเซียน เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 จนถึง 21 พฤศจิกายน บริเวณพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี จังหวัดใกล้เคียง และพื้นที่อ่าวไทยตอนบน และจะมีพิธีสวนสนามทางเรือในวันที่ 20 พฤศจิกายน โดยมีเรือรบ 26 ลำจาก 19 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมด้วย รวมถึงกองเรือแปซิฟิกของรัสเซีย 2 ลำที่แวะเทียบท่าในไทยเพื่อร่วมสังเกตการณ์ ทำให้เว็บไซต์เดอะดิโพลแมทซึ่งเป็นสื่อด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานว่าการฝึกซ้อมทางเรือในไทยครั้งนี้เป็นสิ่งที่น่าจับตามอง โดยเชื่อว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์แห่งใหม่ในการส่งเสริมความร่วมมือทางทะเลระหว่างประเทศ
(แฟ้มภาพ AFP: เรือหลวงรัตนโกสินทร์เทียบท่าที่สิงคโปร์เมื่อปี 2011)