มหกรรมการวิ่งมาราธอนที่เก่าแก่และโด่งดังที่สุดโปรแกรมหนึ่งในโลก ก็คือ Boston Marathon ที่วิ่งกันมาทุกเดือนเมษายนตั้งแต่ปี 1897 ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมถึงปีละเกือบ 40,000 คน ผู้เข้าร่วมวิ่งจะต้องจ่ายเงินค่าสมัคร 180 ดอลลาร์ สำหรับชาวอเมริกันเจ้าถิ่น และนักวิ่งต่างชาติต่างจ่าย 240 ดอลลาร์ หรือ 5,700-7,600 บาท
แต่จะมีนักวิ่งจำนวนมากที่ไม่ผ่านการคัดเลือกที่เข้มข้นของผู้จัดงาน ทำให้คนจำนวนหนึ่งต้องสมัครวิ่งโดยร่วมกับทีมการกุศล ระบบดังกล่าวทำให้เงินจากการวิ่งจะถูกแบ่งแจกจ่ายไปยังกิจการสาธารณกุศลต่างๆอย่างเป็นระบบผ่านองค์กรกลาง นักวิ่งสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าร่วมทีมใด แต่ละทีมการกุศลก็จะมีค่าใช้จ่ายและเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป
กองเชียร์คอยจับมือให้กำลังใจนักวิ่งเมื่อผ่านช่วง 6 กิโลเมตรแรกของบอสตัน มาราธอน ภาพจากมหกรม Boston Marathon 2017
สำหรับการวิ่ง Boston Marathon ปี 2018 มีองค์กรการกุศลที่ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในองค์กรที่จะได้ร่วมระดมทุนผ่านงานนี้ 34 องค์กร ส่วนใหญ่เป็นองค์กรการกุศลช่วยเหลือผู้ป่วยโรคต่างๆ เช่นโรคมะเร็งในเด็ก มะเร็งเม็ดเลือด รวมถึงโรงพยาบาลต่างๆในบอสตัน ทำให้การวิ่งมาราธอนโปรแกรมนี้ ไม่ได้เป็นแค่การร่วมกิจกรรมกีฬาหรือสันทนาการ แต่ยังเป็นการทำเพือระดมทุนช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาส รวมถึงผู้มีปัญหากลุ่มอื่นๆในสังคมด้วย
นักวิ่งแต่งชุดแรด เพื่อวิ่งระดมทุนให้มูลนิธิ Save The Rhino กองทุนช่วยเหลือด้านการอนุรักษ์พันธุ์แรดในแอฟริกา ในมหกรรม London Marathon 2017
อีกหนึ่งกิจกรรมวิ่งที่เก่าแก่และได้รับความนิยม ก็คือ London Marathon มหกรรมการวิ่งที่มีผู้เข้าร่วมจากทั่วทุกมุมโลกเกือบ 40,000 คน จากผู้สมัครนับแสนคน โปรแกรมวิ่ง London Marathon จัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน เดือนที่อากาศแจ่มใสที่สุดของอังกฤษ และแม้ว่าจะไม่มีการจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อจัดสรรเงินไปยังองค์กรการกุศลต่างๆอย่างเป็นทางการเท่ากับ Boston Marathon แต่กิจกรรมการวิ่งนี้ก็เป็นช่องทางขององค์กรการกุศลต่างๆที่จะใช้ระดมทุน โดยอาจมาในรูปแบบของการเข้าร่วมการวิ่งเพื่อใช้มหกรรมวิ่งเป็นช่องทางโฆษณารับบริจาค โดยมีกิมมิกเป็นคอสตูมแปลกๆ
ตัวอย่างของการระดมทุนใน London Marathon ก็เช่นในการวิ่งมาราธอนปีนี้ มีชายคนหนึ่งแต่งกายเป็นกอริลลา เข้าร่วมวิ่งระยะ 42 กิโลเมตร โดยใช้เวลานาน 6 วันกว่าจะเข้าเส้นชัย เนื่องจากเขาใช้วิธีคลานสี่เท้า เคลื่อนไหวเลียนแบบกอริลลา แต่สุดท้ายมิสเตอร์กอริลลาก็ได้รับเงินบริจาคจำนวนมากถึง 23,000 ปอนด์สำหรับมูลนิธิกอริลลา ที่ทำหน้าที่รณรงค์อนุรักษ์พันธุ์กอริลลาในรวันดา คองโก และยูกันดา
ผู้เข้าร่วม Palestine Marathon ปี 2017 ต้องวิ่งผ่านกำแพงกั้นเยรูซาเลมกับเวสต์แบงค์ โดยมีทหารเฝ้ารักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด กำแพงนี้เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการจำกัดสิทธิเสรีภาพด้านการเคลื่อนย้ายของประชาชนปาเลสไตน์
แต่การวิ่งเพื่อสังคม ไม่ได้มีเฉพาะการระดมทุนด้านสาธารณสุขหรือแก้ปัญหาสังคมทั่วๆไป การวิ่งที่เป็น "การเมือง" อย่างชัดเจนก็มีเช่นกัน อย่าง Palestine Marathon มหกรรมการวิ่งที่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2013 เพื่อตอกย้ำถึงการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายของประชากรปาเลสไตน์ เนื่องจากตลอดระยะทาง 42 กิโลเมตรของการวิ่งในเมืองเบธเลเฮม ผู้เข้าร่วมจะต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย ทั้งด่านตรวจของตำรวจ ทหาร จุดสกัด ไปจนถึงกำแพงที่กั้นระหว่างพื้นที่ยึดครองของอิสราเอลและปาเลสไตน์
จากจุดเริ่มต้นในปีแรก ที่มีผู้เข้าร่วมวิ่งเพียงประมาณ 500 คน ปัจจุบัน Palestine Marathon มีผู้ร่วมวิ่งปีละกว่า 16,000 คน ล่าสุดในการวิ่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ชาวปาเลสไตน์เข้าร่วมวิ่งในรายการนี้ 10,000 คน และมีนักวิ่งต่างชาติเข้าร่วมอีก 6,200 คน และชื่อของ Palestine Marathon ก็กลายเป็นมหกรรมการวิ่งที่ได้รับการยอมรับในแวดวงนานาชาติเท่ากับโปรแกรมเก่าแก่อื่นๆเรียบร้อยแล้ว
แม้ว่ามหกรรมมาราธอนจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆของความพยายามของชาวปาเลสไตน์ที่จะเรียกร้องให้ทั่วโลกตระหนักถึงการถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในทุกๆด้านที่พวกเขาเผชิญอยู่ทุกวัน และอิสราเอลเองก็ไม่ได้ใส่ใจความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกเลิกการจำกัดเสรีภาพของชาวปาเลสไตน์ผ่านช่องทางนี้มากนัก แต่ก็ถือว่า Palestine Marathon ช่วยส่งเสริมทั้งเศรษฐกิจท้องถิ่น และยังทำให้โลกไม่หลงลืมการต่อสู้เพื่อสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตตนเองของชาวปาเลสไตน์ ที่ดำเนินมากว่าครึ่งศตวรรษ