นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ขสมก.ได้ติดตั้งเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) บนรถโดยสารธรรมดา จำนวน 800 คัน รวม 75 เส้นทาง (เส้นทางรถเมล์ฟรีเดิม) และได้มีการทดสอบระบบแล้ว พบว่ามีความเสถียรสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงพร้อมให้ประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นำบัตรรุ่นแรก (เวอร์ชั่น 2.0) มาใช้สิทธิขึ้นรถโดยสารดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป
ส่วนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่นำบัตรไปลงทะเบียนกับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่ออัพเกรดให้เป็นเวอร์ชั่น 2.5 ยังสามารถนำบัตรมาใช้สิทธิขึ้นรถโดยสารดังกล่าวได้ตามปกติ โดยพนักงานเก็บค่าโดยสาร จะฉีกคูปองให้กับผู้ถือบัตร เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการใช้สิทธิ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้บริการแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะต้องนำบัตรมาแตะที่เครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E - Ticket) ที่ติดตั้งบริเวณประตูรถทั้ง 2 ข้าง ทั้งขณะขึ้นและลงรถ เพื่อให้ระบบหักค่าโดยสารออกจากวงเงินในบัตร ตามอัตราค่าโดยสารที่กำหนดไว้ ดังนี้
1. รถโดยสารธรรมดาเส้นทางปกติ อัตราค่าโดยสาร 6.50 บาท
2. รถโดยสารธรรมดา ขึ้นทางด่วน อัตราค่าโดยสาร 8.50 บาท
3. รถโดยสารธรรมดา กะสว่าง อัตราค่าโดยสาร 8.00 บาท
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2561 ระบุว่า ครม.จึงเห็นชอบว่าตราบใดที่ยังมีเงินในบัตรเหลืออยู่ ผู้มีบัตรจะสามารถชำระค่าโดยสารได้อีก 1 ครั้งต่อเดือน โดยจำนวนเงินส่วนที่เกินไปจาก 500 บาทนั้นให้นำไปตัดจากวงเงินในบัตรของเดือนต่อไป
โดยครม. ได้พิจารณาแนวทางการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าตามที่กระทรวงการคลังเสนอ พร้อมกับมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2560 (เรื่อง ประชารัฐสวัสดิการ การให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) ข้อ 1 จากเดิม ระบุว่า "1. ...(3) วงเงินค่าโดยสารรถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ระบบ e-Ticket/รถไฟฟ้า จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน (4) วงเงินค่าโดยสารรถ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน และ (5) วงเงินค่าโดยสารรถไฟ จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน"
เป็นระบุใหม่ว่า "1. ... (3) วงเงินค่าโดยสารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ระบบ e-Ticket/รถไฟฟ้า จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน และอนุญาตให้จ่ายเงินชำระค่าโดยสารได้เกินวงเงิน 500 บาท 1 ครั้งต่อเดือน โดยวงเงินที่เกินจะนำไปหักจากวงเงินในเดือนถัดไป (4) วงเงินค่าโดยสารรถบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน และ (5) วงเงินค่าโดยสารรถไฟ จำนวน 500 บาท ต่อคนต่อเดือนเหมือนเดิม"
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :