นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ประเทศไทย มีแรงงานที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนกว่า 60,000 คน โดยแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง กลุ่มประเทศแอฟริกา กลุ่มประเทศเอเชีย กลุ่มประเทศยุโรป กลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ กลุ่มประเทศอเมริกาใต้ และกลุ่มประเทศออสเตรเลียและโอเชียเนีย ข้อมูลแรงงานที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศในปี 2560 ซึ่งมีแรงงานไทยไปทำงานมากเป็นอันดับหนึ่งคือกลุ่มประเทศเอเชีย ได้แก่ ประเทศไต้หวัน จำนวน 23,544 คน ญี่ปุ่น จำนวน 7,429 คน และสาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 6,057 คน นอกจากนี้ในประเทศไทยยังมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานหลายเดือน ปีหนึ่งๆ นับหลายแสนคน
นายสุทธิ กล่าวว่า สถานประกอบกิจการหลายแห่งมีความต้องการแรงงานที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารหรือมีความรู้ภาษาอื่นๆ ซึ่งจะพิจารณาเป็นอันดับแรกและจากการลงพื้นที่ EEC
เมื่อช่วงระหว่างวันที่ 20 – 21 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา สถานประกอบกิจการส่วนใหญ่ต้องการให้ กพร. เพิ่มทักษะด้านภาษาให้กับแรงงาน ทั้งแรงงานใหม่ที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานและคนทำงานที่อยู่ในสถานประกอบ���ิจการด้วย ซึ่งยังขาดทักษะด้านนี้เป็นจำนวนมาก ในปี 2561 กพร.จึงจัดฝึกอบรมภาษาต่างประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาเกาหลี ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน ภาษาท้องถิ่น และภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ภาษาพม่า ภาษากัมพูชา เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตั้งเป้าหมายฝึกกว่า 14,000 คน ดำเนินการแล้ว 3,581 คน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรื่องการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน และสอดรับกับความต้องการของแรงงานไทยที่จะไปทำงานต่างประเทศ
การพัฒนาทักษะในด้านภาษา นอกจากจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับแรงงานไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้นแล้ว ยังเพิ่มโอกาสในการทำงาน การเลื่อนระดับ การขึ้นเงินเดือน หรือได้รับคัดเลือกให้ติดต่อประสานงานด้านธุรกิจกับสถานประกอบกิจการในต่างประเทศ ทำให้มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในตำแหน่งหน้าที่มากขึ้น ซึ่งการฝึกอบรมด้านภาษานั้น อบรมฟรี มีระยะเวลาการฝึก 30 ชั่วโมง เน้นให้ผู้เข้าอบรมสามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติ ใช้สื่อสารในการทำงานและชีวิตประจำวันได้