ไม่พบผลการค้นหา
ภาคประชาสังคมจับผิด 'กรมทรัพย์สินทางปัญญา' ด้อยประสิทธิภาพ ปล่อยคำขอสิทธิบัตรกัญชา 12 ฉบับ ชี้ทำชาติเสียหาย สนช. เลื่อนพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ใหม่เป็นอังคารหน้า พร้อมเชิญตัวแทนกรมทรัพย์สินทางปัญญาชี้แจงอีกหน หวั่นโดนฟ้อง เอื้อประโยชน์ต่างชาติ

หลังจากเมื่อวานนี้ (13 พ.ย. 25561) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เนื่องจากที่ผ่านมา พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานและมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

อีกทั้งในส่วนของกัญชาปรากฏผลวิจัยว่าสารสกัดจากกัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ หลายประเทศทั่วโลกจึงได้มีการผ่อนปรนโดยการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย อนุญาตให้ประชาชนใช้พืชกระท่อมและกัญชาทางการแพทย์ หรือเพื่อการนันทนาการได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

แต่สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันพืชกระท่อมและกัญชายังคงเป็นสิ่งเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มีการกำหนดโทษทั้งผู้เสพและผู้ครอบครอง ทั้งที่ในสภาพความเป็นจริง พบว่ามีผู้ป่วยบางส่วนลักลอบใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคมานานหลายปีแล้ว ทั้งผลิตใช้เองและผลิตในเชิงพาณิชย์ เป็นผลให้มีราคาแพงและอาจไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการแพทย์และตำรับยา สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำกัญชาและพืชกระท่อมไปทำการศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสามารถนำไปใช้ในการรักษาภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ 

ภาคประชาสังคมโต้กรมทรัพย์สินทางปัญญา หมกเม็ดข้อมูลคำขอรับสิทธิบัตรกัญชา

ขณะที่วันนี้ (14 พ.ย.) ภาคประชาสังคมแถลงโต้ข้ออ้างของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ว่าไม่สามารถยกเลิกคำขอรับสิทธิบัตรกัญชาได้ และต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ แต่ไม่ได้หมายความว่าคำขอเหล่านี้จะได้รับความคุ้มครอง

โดยชี้ถึงการทำผิดกฎหมายและกฎกระทรวงของกรมทรัพย์สินฯ จุดอ่อนในระบบสิทธิบัตรไทย ทัศนคติที่เข้าข้างนักลงทุน ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ของสาธารณชน ทั้งที่เป็นหลักการสำคัญของระบบทรัพย์สินทางปัญญาจนทำให้ประเทศชาติเสียหายผู้ป่วยเดือดร้อน 

ล่าสุดยังพบว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.เลื่อนพิจารณา พ.ร.บ.ยาเสพติดที่อนุญาตให้พืชกัญชาและกระท่อมใช้ในทางการแพทย์ได้ออกไปไม่มีกำหนด เพราะกังวลเรื่องความไม่ชัดเจนของสิทธิบัตรกัญชา

โดยปรากฎตามการโพสต์เฟซบุ๊ก นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ที่ ครม. รับหลักการเมื่อวาน จำเป็นต้องเลื่อนไป 1 สัปดาห์เพื่อรอการชี้แจงจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องสิทธิบัตร เนื่องจากมีบริษัทต่างชาติยื่นขอสิทธิบัตรแล้วถึง 10 บริษัท ซึ่งกรมฯ รับเอกสารไว้แล้ว แต่ยังไม่สามารถอนุมัติให้จดสิทธิบัตรได้ เพราะกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5

อีกทั้งการจดสิทธิบัตรจะเป็นขั้นตอนและวิธีการสกัด Cannabinoid โดยเฉพาะ THC และ CBD ซึ่งเป็นสารอยู่ในกัญชา ดังนั้น วิป สนช.จะเชิญข้าราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญามาชี้แจงในวันอังคารหน้า (20 พ.ย.)


"เพราะการออกกฎหมายห้ามจดสิทธิบัตรอาจขัดต่อความตกลง TRIPS แต่ถ้าไม่ห้าม ก็อาจทำให้นักวิจัยในประเทศไม่ได้รับประโยชน์ กลายเป็นออก ก.ม.เอื้อต่อบริษัทต่างชาติ จึงต้องรอความชัดเจน และปรึกษานักกฎหมายเพื่อให้ผลประโยชน์เกิดกับคนไทยในประเทศ"


ชี้กรมทรัพย์สินฯ ทำผิด พ.ร.บ.สิทธิบัตร เหตุยกคำขอก่อนประกาศโฆษณา

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ชี้ว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาทำผิด พ.ร.บ.สิทธิบัตร ที่มีขั้นตอนการยกคำขอโดยกรมได้ก่อนการประกาศโฆษณาเมื่อตรวจพบคำขอที่ขัดมาตรา 9 ซึ่งในกรณีกัญชา มีทั้งสารสกัดจากพืช การใช้เพื่อรักษาโรค แล้วอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังอ้างว่าไม่สามารถทำได้ โดยอ้างกระบวนการในต่างประเทศ ทั้งที่ผิดมาตรา 9 ทั้งสิ้น และยังผิดขั้นตอนการรับและตรวจสอบกฏกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 22 พ.ศ.2542 แต่กรมฯ กลับละเลยปล่อยคำขอเหล่านั้นออกมา ซึ่งอาจสะท้อนนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล คสช.ด้วย

"นอกเหนือจากเป็นความบกพร่องของกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว เรื่องนี้ยังเป็นความรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งประกาศยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจะใช้ฐานความหลากหลายทางชีวภาพและองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นรากฐานของการพัฒนานวัตกรรมและเศรษฐกิจชีวภาพ แต่กลับปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดให้มีรับจดสิทธิบัตรรับคำขอรับสิทธิบัตร ซึ่งจะทำลายการต่อยอดนวัตกรรมของประเทศ หรือเป็นเพียงวาทกรรมของรัฐบาล คสช. ที่หวังการลงทุนจากต่างชาติระยะสั้นๆ แทนที่จะมองความเข้มแข็งของประเทศระยะยาว" นายวิฑูรย์ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อปี 2559 กระทรวงพาณิชย์ และ คสช.มีความพยายามออกมาตรา 44 เพื่อปล่อยคำขอสิทธิบัตรคงค้างกว่า 12,000 คำขอ โดยอ้างว่าทำให้ประเทศไทยเสื่อมเสียที่ตรวจสอบไม่เร็วพอ ซึ่งถูกคัดค้านว่าจะเป็นการ 'ปล่อยผีสิทธิบัตร' จนขัดขวางการเข้าถึงยา

ร้องกรมทรัพย์สินฯ แบข้อมูลคำขอสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชาปัจจุบันมีเท่าไร

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการเค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) กล่าวว่า ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องเปิดเผยมาทั้งหมดว่าจนถึงขณะนี้มีคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับกัญชาจริงๆ แล้วกี่คำขอฯ รายละเอียดข้อถือสิทธิเป็นเช่นไร ต้องเปิดเผยทั้งหมดต่อสาธารณะ และต้องประกาศให้ชัดเจนว่าจะไปดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว 

ถ้าไม่ทำ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต้องไปดำเนินการเอาผิด ซึ่งในวันอังคารที่ 20 พ.ย. นี้ ตัวแทนของภาคประชาสังคมจะไปร่วมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเรียกกรมทรัพย์สินทางปัญญามาเพื่อซักถามเรื่องนี้ 

"ขณะนี้ ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว สนช.ไม่กล้าพิจารณากฎหมายปลดล็อกกัญชา ประชาชนได้รับผลกระทบ ภาคประชาสังคมเสนอให้องค์การเภสัชกรรม และมหาวิทยาลัยรังสิต ที่มีงานวิจัยและเตรียมขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับกัญชา ฟ้องร้องดำเนินคดีกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตามมาตรา 157 ฐานะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และการทำผิดและละเว้นไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร และกฎกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 22 พ.ศ.2542 โดยภาคประชาสังคมพร้อมสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการและความเชี่ยวชาญต่างๆ และขอให้รัฐบาลแสดงความชัดเจนในเรื่องนี้ ที่เห็นแก่ประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ด้วยการเอาผิดเจ้าหน้าที่และอธิบดีกรมฯ และต้องลงมือปฏิรูประบบทรัพย์สินทางปัญญา ไม่เช่นนั้นจะถือว่ารัฐบาลเจตนาที่จะให้ต่างชาติเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพโดยหวังเพียงตัวเลขการลงทุนระยะสั้นๆ"

ขั้นตอนขอสิทธิบัตรไทยมีจุดอ่อน

ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี นักวิชาการด้านระบบทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา ชี้ว่า จากกรณีศึกษาเรื่องสิทธิบัตรกัญชานั้น พบว่าตามขั้นตอนการขอรับสิทธิบัตรประเทศไทย จะมีจุดที่เป็นปัญหาและต้องได้รับการแก้ไขและพัฒนาเพื่อให้เกิดกับประเทศไทยหลายขั้นตอน ได้แก่ 

1) ฐานข้อมูลสิทธิบัตร - ตั้งแต่เป็นข่าวสิทธิบัตรกัญชาจะเห็นได้ว่ามีการแถลงพบคำขอสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 9 คำขอฯ เป็น 10-12 คำขอฯ แสดงให้เห็นว่า การที่จะค้นหาข้อมูลเรื่องคำขอรับสิทธิบัตรจากฐานข้อมูลสิทธิบัตรเป็นเรื่องยากและไม่มีความแน่นอน ซึ่งประเด็นนี้ กรมทรัพย์สินฯ ต้องเปิดเผยมาทั้งหมดว่าจนถึงขณะนี้มีคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับกัญชาจริงๆ แล้วกี่คำขอฯ และต้องเปิดเผยทั้งหมดต่อสาธารณะ

2) ขั้นตอนการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตร

  • 2.1 คำขอรับสิทธิบัตรที่ยื่นต่อกรมทรัพย์สินฯ แล้ว แต่ยังไม่ประกาศโฆษณาในหมวดนี้ เนื่องจากคำขอฯ ที่เราสามารถสืบค้นได้จะเป็นเฉพาะคำขอฯ ที่ได้ประกาศโฆษณาแล้ว แต่จากข้อมูลคำขอรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับกัญชาที่เราค้นเจอ พบว่ากรมทรัพย์สินฯ ใช้เวลาที่ยังไม่เปิดเผยคำขอรับสิทธิบัตรนั้น (จากวันที่ยื่นคำขอรับฯ ถึงวันประกาศโฆษณามีตั้งแต่ 2-5 ปี

ดังนั้น สาธารณชนหรือแม้แต่นักวิชาการที่ติดตามเรื่องนี้ จึงไม่สามารถรู้ได้ว่า ยังมีอีกกี่คำขอฯ ที่ได้ยื่นต่อกรมฯ แล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่นประกาศโฆษณา ดังนั้นจึงขอให้กรมทรัพย์สินฯ เร่งตรวจสอบคำขอฯ ที่เกี่ยวกับกัญชาทั้งหมดตามมาตรา 28 พ.ร.บ. สิทธิบัตร คือ คำขอฯ นั้นไม่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 9 ให้รีบสั่งยกคำขอฯ นั้น ส่วนคำขอฯ ใดที่เห็นว่าถูกต้องในขั้นตอนนี้ ให้รีบประกาศโฆษณาให้สาธารณชนรับทราบ

  • 2.2 คำขอรับสิทธิบัตรที่ได้ประกาศโฆษณาแล้ว จากคำขอฯ ที่ค้นพบ 12 คำขอฯ พบว่าอยู่ระหว่างประกาศโฆษณา 6 คำขอ จึงขอให้อธิบดีปฏิบัติตามมาตรา 30 คือ เมื่อประกาศแล้ว ถ้าคำขอฯ ไม่ชอบด้วยมาตรา 5, 9, 10, 11 หรือ 14 ให้อธิบดีสั่งยกคำขอสิทธิบัตรนั้น
  • 2.3 คำขอรับสิทธิบัตรที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบการประดิษฐ์ จากคำขอฯ ที่พบ 12 คำขอฯ พบว่าอยู่ในระหว่างยื่นตรวจสอบขั้นตอนการประดิษฐ์ 5 คำขอ ขอให้กรมฯ เร่งดำเนินการตามมาตรา 24, 25 ถ้าคำขอฯ ใดไม่มีความใหม่หรือขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น หรือไม่สามารถคุ้มครองได้ตามมาตรา 9 ให้เริ่มยกคำขอฯ นั้น

ระบบสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรหายาก ใช้เวลา เอื้อบริษัทใหญ่ได้เปรียบ

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงการรักษา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า กรณีจดสิทธิบัตรกัญชาเป็นเพียงยอดภูเขาของปัญหาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นตัวอย่างความหย่อนยานและหละหลวมของกรมฯ ที่ปล่อยให้มีคำขอรับสิทธิบัตรและยอมให้จดสิทธิบัตรในสิ่งที่ไม่สมควรได้

ในเรื่องของสิทธิบัตรยามีให้เห็นเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่าง การใช้ยาชนิดหนึ่งเพื่อรักษาโรคชนิดหนึ่งถูกจดและให้สิทธิบัตรเป็นจำนวนมาก เช่น กรณียาต้านไวรัสเอชไอวีและยารักษาไวรัสตับอักเสบซี ทั้งๆ ที่การใช้ยาเพื่อการรักษาระบุในกฎหมายว่าขอสิทธิบัตรไม่ได้

ระบบฐานข้อมูลและการสืบค้นของกรมฯ มีปัญหาอย่างมาก แม้แต่คนของกรมฯ ที่ดูแลรับผิดชอบเอง ยังต้องใช้เวลาค้นหานานและให้ข้อมูลคาดเคลื่อน กรณีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้น คือ คำขอฯ ยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ชื่อย่อว่า TAF มูลนิธิเข้าถึงเอดส์มีจดหมายถามกรมฯ ไปว่ามีการยื่นขอสิทธิบัตรไหม กรมฯ ใช้เวลานานหลายเดือนก่อนที่จะตอบกลับว่า 'ไม่มี' แต่มาพบภายหลังว่ามีและเลยกำหนดที่จะยื่นคัดค้านแล้ว 

กรณีเช่นนี้สร้างความเสียหายให้กับประเทศ เพราะเปิดช่องให้บริษัทยาผูกขาด โดยอาศัยการยื่นจดสิทธิบัตรที่ด้อยคุณภาพ หรือที่เรียกว่า 'สิทธิบัตรไม่มีวันที่สิ้นสุดอายุ' ผ่านระบบการตรวจสอบและคัดกรองที่หย่อนศักยภาพของกรมฯ  

กรมฯ มักจะอ้างว่ายังไม่ได้ให้สิทธิบัตร แค่รับยื่นจดฯ แต่กฎหมายระบุว่าการคุ้มครองสิทธิบัตรเกิดขี้นนับตั้งแต่วันยื่นขอจดฯ แม้ในระหว่างรอพิจารณาซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 7-8 ปี ใครมาขอจดซ้ำหรือคิดจะผลิต จะถูกบริษัทยาที่ยื่นขอจดคาไว้ขู่จะดำเนินคดี ถ้าเขาได้สิทธิบัตร

การยื่นคำขอฯ แบบกันท่าเช่นนี้ เท่ากับเป็นการกันท่าโดยเอาชีวิตคนป่วยเป็นตัวประกัน กอปรกับระบบที่หย่อนยานในการตรวจสอบและคัดกรอกของกรมฯ ยิ่งทำให้เกิดการผูกขาดที่ไม่เป็นธรรมและยาราคาแพง

ไม่เพียงแต่ทำให้ประเทศสูญเสียงบประมาณากค่ายาแพง เพราะการผูกขาดผ่านสิทธิบัตรยาที่ด้อยคุณภาพ แต่เท่ากับเป็นฆาตกรรมคร่าชีวิตผู้ป่วยทางอ้อมด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น กรมฯ กำลังพยายามแก้ไข พ.ร.บ. สิทธิบัตร โดยที่ไม่รับฟังการท้วงติงและข้อเสนอแนะ ที่ภาคประชาสังคมยื่นผ่านการรับฟังความคิดเห็นออนไลน์ 

ภาคประชาสังคมเสนอให้แก้ไขหลักเกณฑ์การพิจาณาสิทธิบัตร โดยเฉพาะยา ให้มีความรัดกุมและเล็งเห็นประโยชน์ของสาธารณะมากขึ้น รวมไปถึงการขยายเวลาการยื่นคัดค้าน และความโปร่งใสในการพิจารณาสิทธิบัตร  

กรมฯ ยังเสนอให้ยกเลิกหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจใช้มาตรการซีแอลให้เหลือเพียงกระทรวง แทนที่จะขยายให้หน่วยงานรัฐอื่นๆ เช่น สปสช. ประกาศใช้ซีแอลได้ ตามที่ภาคประชาสังคมเสนอ  

อีกทั้งยังเสนอเพิ่มในร่างกฎหมายให้บริษัทผู้ทรงสิทธิ์ฟ้องร้องต่อศาล ให้มีคำสั่งยกเลิกมาตรการซีแอลได้ในกรณีที่ภาวะวิกฤตหมดไปแล้วหรือไม่มีความจำเป็นแล้ว แต่การเปิดช่องไว้เช่นนี้จะยิ่งทำให้รัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจ หรือชะลอการตัดสินใจนำมาตรการซีแอลมาบังคับใช้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาและทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษา ซึ่งถือเป็นอำนาจบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ของประชาชน

นักวิชาการย้ำหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะด้วย

ทางด้าน ผศ.ดร.ภญ.อุษาวดี สุตะภักดิ์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ชี้ว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญานั้นเริ่มต้นจากหลักคิดที่ผิดเพี้ยนไป สะท้อนจากการให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเอง ที่เห็นว่า การยื่นขอรับสิทธิบัตรเป็นสิทธิที่ผู้ประดิษฐ์พึงจะดำเนินการได้ตามกฎหมายสิทธิบัตร แต่กรมไม่ได้ตระหนักถึงหน้าที่ของตนเองในการคุ้มครองประโยชน์ของสาธารณะ เนื่องจากระบบสิทธิบัตรมีผลกระทบโดยตรงต่อคนทั้งประเทศ หากกรมตระหนักถึงหน้าที่ต่อสาธารณะก็จะต้องกลั่นกรองคำขอรับสิทธิบัตรในแต่ละขั้นตอนอย่างรอบคอบและใช้วิจารณญาณอย่างเต็มที่ และแม้กฎหมายสิทธิบัตรของไทยอาจไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ยังมีแนวคิดของการคุ้มครองสาธารณะอยู่ โดยเฉพาะ มาตรา 9 ของกฎหมายสิทธิบัตรนั้นเป็นตะแกรงร่อนเอาคำขอรับสิทธิบัตรที่ไม่ได้รับความคุ้มครองออกไปตั้งแต่ต้น ขณะที่ผู้มีอำนาจกลับไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย และแม้รู้ว่าเป็นข้อผิดพลาดของการปฏิบัติงานก็กลับไม่ใช้อำนาจในการแก้ไขให้ถูกต้อง  

ชู 5 ข้อเสนอจัดระเบียบการขอจดสิทธิบัตร

ข้อเสนอระยะยาว 

1. ต้องใช้คู่มือแนวทางการตรวจสอบสิทธิบัตร (patent examination guidelines) ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมพัฒนาขึ้นอย่างจริงจัง และต้องอบรมให้ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรรายใหม่เข้าใจและใช้คู่มือดังกล่าวอย่างจริงจัง

2. พิจารณาใช้คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและคำวินิจฉัยอื่นเป็นแนวทางในการอนุมัติสิทธิบัตรที่มีความคล้ายคลึงกัน 

3. ต้องมีการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ของผู้ทรงสิทธิต่อสิทธิบัตรที่ได้รับอนุมัติไปแล้ว และดำเนินการเมื่อไม่มีการใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตรนั้นๆ อย่างแท้จริง

4. แก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรให้คำขอสิทธิบัตรแสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมาย ให้มีประกาศกระทรวงฯ กำหนดให้การแสดงรายละเอียดนี้ อยู่ในเงื่อนไขการขอสิทธิบัตรเพื่อตรวจสอบความใหม่ และความเชื่อมโยงกับ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชปี 2542

5. เฝ้าระวังการเจรจาการค้า CPTPP ญี่ปุ่นต้องการเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพของไทย ต้องการให้คุ้มครองนักลงทุนเพื่อฟ้องรัฐได้ รัฐบาลต้องไม่ยอมประเด็นเหล่านี้

ทั้งนี้ ภาคประชาสังคม ประกอบด้วย ประกอบไปด้วย มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ และนักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :