โดยทั่วไป 'รัฐ' มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานอย่างสุขสบาย ยิ่งเมื่อว่ากันตามกฎหมาย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวดที่ 5 หน้าที่ของรัฐ ชี้ชัดว่า นอกจากประชาชนทุกคนต้องได้รับการศึกษาขั้นต่ำ 12 ปี พวกเขายังต้องเข้าถึงบริการสาธารณสุขและสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง ตลอดจนผลประโยชน์อื่นๆ
มาตราที่ 51 ระบุเพิ่มว่า "การใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐตามหมวดนี้ ถ้าการนั้นเป็นการทำเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยตรง ย่อมเป็นสิทธิของประชาชนและชุมชมที่จะติดตามและเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ รวมตลอดทั้งฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง..."
ประโยคนิติศาสตร์ข้างต้น อาจแปลโดยง่ายว่า หากรัฐไม่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์แก่พลเมืองอย่างที่ควร ประชาชนย่อมมีสิทธิฟ้องร้องผู้มีอำนาจได้
'วอยซ์' พาไปฟังเสียงสะท้อนของผู้คนตั้งแต่ช่วงอายุที่ทำงานแล้ว ไล่ลงมายังนักเรียน นิสิต นักศึกษา ว่าในฐานะพลเมืองของราชอาณาจักรไทย พวกเขาต้องการเห็นภาษีของตนแปลงสภาพออกมาเป็นสิ่งใด และหากต้องจ่ายเพิ่มเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ พวกเขายอมหรือไม่
เมื่อถาม 'นักเรียนชายวัยมัธยมปลาย' รายหนึ่งว่าเขาต้องการให้นำภาษีมาพัฒนาสิ่งใด คำตอบเด่นชัดที่ได้กลับมาคือ 'การศึกษา'
เด็กชายอธิบายเพิ่มว่า เขาเคยลองไปเปิดงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการดู ก่อนพบว่า "ตัวงบการศึกษา จริงๆ มันเยอะแล้ว แต่เหมือนเงินอยู่ตรงนี้มันไม่ไปต่อ" โดยเขามองว่า การบริหารจัดการที่อยากเห็นเป็นอันดับแรกคือประสิทธิภาพการศึกษา บุคลากรครูและอาจารย์มีคุณภาพอย่างแท้จริง ผู้คนมีสิทธิเข้าถึงการศึกษาในทางปฏิบัติไม่ใช่เพียงแค่ระบุไว้ในตัวกฎหมาย
"ถ้าทุกโรงเรียนมีคุณภาพพอ เราก็ไม่ต้องติวเพิ่ม" นร.ชาย คนหนึ่งกล่าว
ขณะที่ 'นักศึกษาหญิง' ในวัยใกล้เคียงกันมองต่าง เธอไม่ได้ต้องการให้เงินภาษีส่วนหลักมาลงกับการศึกษาเป็นอันดับแรก แต่เป็น 'การกินได้-นอนหลับ' หรือภาวะที่พลเมืองมีความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานที่เหมาะสม ไม่อัตคัดขัดสน
"เพื่อนของหนู เขาก็จะเลือกว่าอยากให้ลงที่การศึกษา อยากให้คนมีการศึกษาที่ดีเพื่อพัฒนาประเทศ แต่ถ้าเด็กยังกินไม่อิ่มนอนไม่หลับ หนูก็คิดว่าเราควรจะเอาภาษีมาเทลงตรงนี้ก่อน แล้วค่อยพัฒนาต่อไปเป็นลำดับขั้นตอน"
ชายวัยยี่สิบต้น เสริมว่า เขาอยากให้รัฐสวัสดิการของประเทศพัฒนามากกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากไทยยังเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ "เราเดินไปบนถนน เราเห็นคนที่นั่งเก็บขยะเพื่อหาเงินไปประทังชีวิต เรารู้สึกว่าเขาสมควรได้รับสิ่งที่รัฐควรให้เขาได้มากกว่านี้"
พร้อมกันนี้ยังวิจารณ์รูปแบบการบริหารจัดงานเงินภาษีของรัฐบาลว่าสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นและเหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่อีกมาก "เท่าที่เห็นจากงบประมาณปีที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะรัฐบาลนี้ ใช้ไปกับอุปกรณ์ด้านการทหาร เรือดำน้ำ ในสัดส่วนที่อาจจะเป็นอันดับหนึ่งด้วยซ้ำ"
ประชาชนอีกมากที่ 'วอยซ์' ได้พูดคุย ต้องการกระจายเงินทุนจากภาษีลงไปสู่ประเด็นต่างๆ อาทิ คมนาคมที่ไม่กระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวงแต่แผ่กว้างออกไปทั่วประเทศ ระบบเกษตรกรรมที่สนับสนุนคนให้เดินไปข้างหน้าแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และสาธารณสุขที่ไม่ต้องปล่อยให้คนไข้ยอม 'เจ็บจนตาย' เพราะไม่มีแม้แต่ค่าเดินทางมาโรงพยาบาล เป็นต้น
แม้บริการข้างต้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้อย่างไม่ต้องสงสัย ทว่าที่ผ่านมา กลับมีการตั้งคำถามทั้งจากประชาชนส่วนหนึ่งว่าการเรียกร้องเหล่านั้น 'หวังสูง' เกินไปหรือไม่ หรือแม้แต่ผู้นำประเทศยังเคยออกมาวิจารณ์ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่ามีต้นทุนสูงเกินไป
14 พ.ค. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย กล่าวถึงนโยบาย '30 บาท รักษาทุกโรค' ไว้ตอนหนึ่งว่า "ตั้งแต่ผมเข้ามา 4 ปี ได้แก้ปัญหา 30 บาท โดยหาเงินกองกลางไปจ่ายค่าหมอพยาบาลที่ค้างไว้เป็นปีๆ บางโรงพยาบาลแทบล้มหมดเพราะงบสะสมหมด ถือเป็นการทำงานที่ไม่ครบระบบ ทุกคนอาจรักและชอบ ทุกคนอาจไม่รู้เบื้องหลังว่าเป็นอย่างไร"
ซ้ำร้าย วาทะข้างต้นไม่ใช่ครั้งแรก ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาวิจารณ์ความไม่คุ้มค่าของโครงการสิทธิเข้าถึงสาธารณะสุขของประชาชนซึ่งกำหนดไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อ 1 พ.ค. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ เคยโจมตีโครงการข้างต้นว่า :
"งบประมาณสาธารณสุขมันไม่พอ เพราะไปทำรักษาทุกโรคไงเล่า มันเป็นได้หรือไม่ มันเป็นประชานิยม แต่เป็นธรรมกับประชาชนได้รับ ผมไปทำอะไรไม่ได้ แต่เรามีความพร้อมหรือยัง เฉลี่ยแล้วคนละ 2,900 บาท รักษาพอหรือไม่ ทุกโรคเนี่ย ไหวหรือไม่ โรงพยาบาลก็จะเจ๊ง"
"อีกไม่กี่ปีโรงพยาบาลจะเจ๊งทั้งหมดแล้วจะทำอย่างไร แล้วก็ชื่นชมเข้าไปคนคิดอันนี้ขึ้นมา คนจนคนรวยดูแลเท่ากันหมดใครจะดูได้ เราเป็นประเทศมหาอำนาจขนาดนั้นหรือ เข้าใจตรงนี้บ้าง แต่ผมไม่ฝืน ผมยกเลิกตรงนี้ไม่ได้"
เมื่อถามว่าประเทศไทยมีรายได้เพียงพอกับการมอบบริการขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนจริงหรือไม่ ข้อมูลจากเว็บไซต์ Thailand Government Spending ชี้ว่า ในปี 2562 ประเทศสามารถจัดเก็บภาษีได้รวม 3 ล้านล้านบาท
กรมสรรพากรเป็นผู้หารายได้เข้ารัฐมากที่สุดด้วยสัดส่วนราว 66% หรือคิดเป็นมูลค่า 2 ล้านล้านบาท โดยมีกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และหน่วยงานอื่นๆ ตามมาในมูลค่า 5 แสนล้านบาท, 1 แสนล้านบาท และอีก 3 แสนล้านบาท ตามลำดับ และเมื่อหักรายจ่ายอื่นๆ ออก รัฐบาลมีรายได้สุทธิราว 2.5 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ รายได้ภาษีเกือบ 8 แสนล้านบาทจากกรมสรรพากร มาจาก 'ภาษีมูลค่าเพิ่ม' หรือ แวต (VAT) ในอัตรา 7% ซึ่งเรียกเก็บในสินค้าอุปโภคบริโภคที่ซื้อขายกันทั่วไปในสังคม รองลงมาคือภาษีเงินได้นิติบุคคล ราว 7 แสนล้านบาท และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกประมาณ 3.3 แสนล้านบาท
ขณะที่อีกฝั่งของสมการ เมื่อมองงบประมาณที่รัฐบาลนำมาจัดสรรในปี 2563 พบเป็นเงินทั้งสิ้น 3.2 ล้านล้านบาท โดยหากแบ่งตามลักษณะงาน สามารถจำแนกได้ทั้งสิ้น 10 ประเภท
วงเงินใหญ่ๆ แบ่งไปสู่ การบริหารทั่วไปของรัฐ ซึ่งกว่า 1 ใน 3 คืองบเพื่อชำระหนี้เงินกู้ ขณะที่ฝั่งเศรษฐกิจโดยรวม ถูกกระจายไปยังฝั่ง เกษตร-ป่าไม้-ประมง-สงวนพันธ์ุสัตว์ป่า ในสัดส่วนสูงถึง 1.9 แสนล้านบาท ก่อนไล่ลงมาที่ด้านขนส่งในเม็ดเงินใกล้เคียงกัน
การศึกษามีเม็ดเงินสูงถึง 3 แสนล้านบาท กระจุกตัวในระดับมัธยมศึกษา ขณะที่งบราว 1 แสนล้านบาท ถูกใช้กับอุดมศึกษา โดยอีก 2.6 หมื่นล้านบาทถูกจัดสรรให้ระดับประถมศึกษา ขณะเงินสนับสนุนการศึกษาของเด็กก่อนวัยเรียนมีเพียง 200 ล้านบาทเท่านั้น
ด้านสังคมสงเคราะห์ เม็ดเงินราว 3.3 แสนล้านบาท ถูกใช้เป็นสวัสดิการผู้สูงอายุ ซึ่งรวมถึงเบี้ยยังชีพสำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป เริ่มจากเดือนละ 600 บาท ไล่ไปจนถึงเดือนละ 1,000 บาท สำหรับผู้สูงวัยที่มีอายุ 90 ปี ขึ้นไป
แม้เห็นว่ามีความพยายามกระจายเงินลงไปยังภาคส่วนต่างๆ แต่ข้อมูลจากรายงานวิเคราะห์งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของสำนักนายรัฐมนตรี ชี้ชัดว่า จากการศึกษาอย่างถี่ถ้วน พบว่าหลายหน่วยงานของไทยมีลักษณะการใช้งบประมาณคล้ายคลึงกัน คือ กำหนดเป้าหมายไว้สูงกว่าสิ่งที่ทำได้จริง
อีกทั้งหลายแผนงานยังไม่สร้างให้เกิดรูปธรรมอย่างแท้จริง มากไปกว่านั้น รายงานวิเคราะห์งบฯ ยังชี้ว่า ส่วนราชการ/หน่วยงานของรัฐ จำนวนไม่น้อยได้รับงบประมาณในส่วน 'รายจ่ายอื่น' เป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องมีการตรวจสอบให้ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์จริงหรือไม่
ที่ผ่านมา คนไทยจำนวนไม่น้อยนิยมเปรียบเทียบสวัสดิการของรัฐไทยกับประเทศเนเธอร์แลนด์ เนื่องด้วยรัฐบาล ให้การสนับสนุนพลเมืองในหลายมิติ ทั้งสิทธิรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน เงินสนับสนุนเลี้ยงดูบุตร ที่พักของรัฐสำหรับผู้สูงอายุ ไปจนสาธารณูปโภคสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม เนเธอร์แลนด์มีระบบการจัดเก็บภาษีโดยรวมที่สร้างรายได้มากกว่าไทยอย่างมีนัยสำคัญ
ตามข้อมูลจาก องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) นับตั้งแต่ปี 2543-2561 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์มีรายได้จากการจับเก็บภาษีเทียบกับจีดีพี (tax-to-GDP ratio) เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 35% ทั้งสิ้น โดยปี 2561 อยู่ที่ระดับ 38.8% ในช่วงเวลาเดียวกัน ไทยกลับจัดเก็บภาษีได้ในระดับ 16%-17% เท่านั้น โดยในปี 2561 รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้ในระดับ 17.5% เมื่อเทียบกับจีดีพี
ต้นทุนในการบริหารจัดการประเทศที่ห่างกันถึง 1 เท่า เป็นตรรกะที่เข้าใจได้ว่าเหตุใดสวัสดิการของไทยกับเนเธอร์แลนด์จึงต่างกันมาก อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ร่วมพูดคุยกับ 'วอยซ์' ชี้ว่า พวกเขาไม่ได้มีปัญหากับระบบอัตราภาษีที่อาจต้องปรับสูงขึ้นหากแลกมากับผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม แต่ตั้งข้อสังเกตว่า เพียงประเทศบริหารจัดการภาษีในระดับของตัวเองได้ดีกว่านี้ ประชาชนอาจมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกมาก
หญิงสาวคนหนึ่ง เผยกับวอยซ์ ว่า "ตอนนี้ ภาษีเราก็แพงมากแล้ว คือไม่รู้ว่าจะขยับไปถึงไหน แต่ถ้าตอนนั้น ระบบขนส่งมันเห็นได้ชัดว่าดีจริงๆ นำมาใช้กับประชาชนจริงๆ แล้วสามารถตรวจสอบได้ว่าเงินที่เราเสียไปตอนนี้มันนำมาใช้จริงๆ มันก็น่าที่จะคุ้มอยู่ ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ เรียกร้องได้"
ท้ายที่สุด ประเด็นหลักจึงไม่ได้อยู่ที่ประชาชนผู้เรียกร้องอยากเห็นสภาพบ้านเมืองที่ดีกว่านี้พร้อมหรือไม่พร้อมในการจ่ายเงินมากขึ้น แต่เป็นการบริหารราชการแผ่นดินที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีเป้าหมายเพื่อความผาสุกของพลเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน