ภาพชาวบ้านจาก อ.จะนะ จ.สงขลา ปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลมาตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค. โดยมีตู้คอนเทนเนอร์ขวางกั้นระหว่างรัฐบาลกับชาวบ้านคือภาพสะท้อนและน้ำหนักของการรับฟังใส่ใจจากผู้มีอำนาจได้อย่างแจ่มชัด
รัฐบาลโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อ้างการพัฒนา เดินหน้าผุดโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ มาตั้งแต่ปี 2559
โครงการกินพื้นที่ราว 16,753 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา 4,253 ไร่, พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก 4,000 ไร่, พื้นที่เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า 4,000 ไร่ จำนวน 4 โรง กำลังผลิตรวม 3,700 เมกะวัตต์, พื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ 2,000 ไร่, พื้นที่เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า 2,000 ไร่, พื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย จำนวน 500 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 18,680 ล้านบาท โดย ศอ.บต. อ้างว่านิคมอุตสาหกรรมจะนะนั้นจะสามารถจ้างงานได้กว่า 100,000 อัตรา
คำถามเบื้องต้นคือ โครงการเมกะโปรเจกต์ขนาดนี้ ถ้าไร้ปัญหาจริง ทำไมคนในพื้นที่ถึงคัดค้าน-ยกระดับการชุมนุมขึ้นมาเรียกร้องถึง กทม.
รุ่งเรือง ระหมันยะ แกนนำเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวว่า ในพื้นที่อำเภอจะนะมีความพยายามจากผู้มีอำนาจ จะพัฒนาพื้นที่โดย "ประชาชนไม่มีส่วนร่วม" เนื่องจากโครงการนิคมอุตสาหกรรมนี้ผลักดันในยุครัฐบาล คสช. โดย สนช.โหวตผ่านก่อนหมดวาระไม่กี่วัน
แกนนำเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวต่อว่า ปัญหาหลักคือการเปิดเวทีรับฟังความเห็นที่รัฐบาลพยายามกีดกันชาวบ้านฝ่ายคัดค้านซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และผู้มีอำนาจดึงดันที่จะผลักดันโครงการ
"ทุกอย่างควรเริ่มนับหนึ่งหรือเริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมด" รุ่งเรืองให้เหตุผลถึงความจำเป็นในการยกระดับการชุมนุม และย้ำว่าจะปักหลักชุมนุมต่อไป ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร จนกว่าจะได้รับคำตอบที่พอใจ
อย่างไรก็ตาม เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น มีข้อเรียกร้อง 2 ข้อ ได้แก่
หนึ่ง - ให้ยกเลิกทุกกระบวนการที่ดำเนินการโครงการจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตทั้งหมด หรือ ยุติการผลักดันโครงการไว้ก่อน และ
สอง - ให้รัฐบาลจัดให้มีการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA อย่างรอบคอบ เพื่อสร้างชุดข้อมูลทางวิชาการที่มีคุณภาพประกอบการตัดสินใจต่อแนวทางและโครงการพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ ของภาคใต้
คำถามต่อมา คือ เมื่อ ศอ.บต. ควรเป็นผู้บทบาทคลี่คลายความขัดแย้ง ทำไมถึงพยายามเดินหน้าผลักดันโครงการโดยไม่ฟังเสียงชาวบ้าน
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. ปัจจุบันเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ อธิบายไว้ในวงเสวนาเรื่อง "บทบาทนักการเมือง กรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ" ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อค่ำวันที่ 12 ธ.ค. โดยผู้ร่วมเสวนาอีกสองราย คือ เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.พรรคก้าวไกล และซูการ์โน มะทา ส.ส.พรรคประชาชาติ
เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า รัฐบาล คสช.ไม่ฟังประชาชน ใช้กฎหมายผิดเจตนารมณ์ ทำตัวเป็นศรีธนญชัย เจตนาเดิมของ ศอ.บต. คือเป็นหน่วยงานกลางเพื่อเคลียร์ปัญหาพี่น้องชายแดนใต้ ใช้ยุทธศาสตร์พัฒนาที่เน้นการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน แต่มาตรา 10 พ.ร.บ. ศอ.บต. มีการตุกติก อ้างว่าจะนะมีปัญหา ต้องมาพัฒนา
"จากเดิม ศอ.บต.ที่เป็นน้ำเย็นของทุกคน กลายเป็นหน่วยงานที่มาสร้างความขัดแย้ง การพัฒนาพื้นที่พิเศษทุกแห่ง เป้าหมายคือการเอาทรัพยากรธรมชาติ คือ ที่ดิน ทะเล มาประเคนนายทุนในนามการพัฒนา" พ.ต.อ.ทวี ย้ำ
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า อย่างโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก่อนประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจ ที่ดินราคาไร่ละ 1 ล้านบาท พอประกาศ นายทุนก็กว้านซื้อที่ดิน รัฐไม่กำหนดเพดานการซื้อ ราคาโดดไป 11 ล้านบาท ที่จะนะ ก็คล้ายกัน ถ้าโดนพัฒนา ผลประโยชน์จะตกที่คนสนับสนุนรัฐบาล ไม่ใช่ชาวบ้าน จะล้มวิถีชีวิตชาวบ้าน ล้มพหุวัฒนธรรมทั้งหมด
อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. ทิ้งท้ายว่า "การพัฒนาแบบนี้ขัดหลักสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นการไล่คนในพื้นที่ ไม่ได้ให้คนในพื้นที่กำหนดชีวิตตัวเอง รัฐบาลกำลังเอาอำนาจมาเปลี่ยนวิถีคนที่อยู่มายาวนาน แผนหรือมติ ครม.ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ควรต้องยกเลิกไป"
"ขณะที่ส่วนการทำไฟฟ้าที่ทำกันก็เอาไปขายให้รัฐบาล ทุกวันนี้คนไทยจ่ายค่าไฟแพงมาก เพราะรัฐบาลให้สัมปทานนายทุน แล้วมาเก็บค่าไฟประชาชน ไฟเกิน 40-50% ของประชาชนที่ใช้จริง รัฐบาลก็ต้องซื้อกับผู้ขายไฟ เพราะไปทำสัญญาไม่เป็นธรรม" พ.ต.อ.ทวี กล่าวทิ้งท้าย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ภาพเปิดจาก นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ