ไม่พบผลการค้นหา
กรมราชทัณฑ์ประหารชีวิตนักโทษคดีฆ่าผู้อื่นเพื่อชิงทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ด้วยการฉีดยาพิษ ถือเป็นผู้ต้องขังรายที่ 7 ที่ถูกประหารตามกฎหมายใหม่ และเป็นรายแรกในรอบ 9 ปี

พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2561 เวลา 15.00 – 18.00 น. กรมราชทัณฑ์ ได้ดำเนินการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วยการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชายธีรศักดิ์ หลงจิ อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้าย เพื่อชิงทรัพย์ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 เหตุเกิดที่จังหวัดตรัง ซึ่งนักโทษเด็ดขาดดังกล่าวได้ทำร้ายและบังคับให้เอาทรัพย์สิน คือ โทรศัพท์มือถือ และกระเป๋าสตางค์ รวมทั้งใช้มีดแทงผู้ตาย รวม 24 แผล เป็นเหตุให้เหยื่อถึงแก่ความตาย

ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน เป็นผลให้คดีถึงที่สุด

"การบังคับโทษประหารชีวิตดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 ประกอบมาตรา 19 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พ.ศ.2546 ซึ่งกำหนดให้ดำเนินการด้วยวิธีการฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย นับเป็นผู้ต้องขังรายที่ 7 นับแต่มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2546 ซึ่งเปลี่ยนวิธีการบังคับโทษประหารชีวิตจากการยิงเสียให้ตายเป็นการฉีดสารพิษ" พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าว

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังเปิดเผยต่อไปว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2478 ถึงปัจจุบันมีการบังคับโทษประหารชีวิตมาแล้ว จำนวน 325 ราย โดยแยกเป็น การใช้อาวุธปืนยิงจำนวน 319 ราย (ยิงรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2546) การฉีดยาสารพิษ จำนวน 6 ราย (ฉีดสารพิษครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2546 และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552)

แถลงการณ์ของกรมราชทัณฑ์ระบุว่า สำหรับการประหารชีวิต ถือเป็นบทลงโทษทางอาญาที่หนักที่สุดตามกฎหมายไทย ซึ่งมีโทษ 5 อย่าง คือ ปรับ ริบทรัพย์สิน กักขัง จำคุก และประหารชีวิต แม้หลายประเทศได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้วก็ตาม แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่เช่นเดียวกับประเทศไทย อาทิ สหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งเน้นการปกป้องสังคมและพลเมืองส่วนใหญ่ให้พ้นจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมมากกว่าเน้นสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่กระทำผิดกฎหมาย กรมราชทัณฑ์ หวังว่าการประหารชีวิตในครั้งนี้ จะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ที่คิดจะก่ออาชญากรรมร้ายแรงหรือกระทำผิดกฎหมายได้ยั้งคิดถึงบทลงโทษนี้

อย่างไรก็ตาม บทลงโทษประหารชีวิตในสหรัฐฯ ไม่ได้มีการบังคับใช้ทั่วประเทศ โดยกว่า 30 รัฐยังมีการประหารชีวิต แต่อีก 19 รัฐมีกฎหมายห้ามประหารชีวิต ขณะที่ข้อมูลของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ระบุว่า 142 ประเทศทั่วโลกยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว ส่วนไทยยังคงเป็นหนึ่งใน 56 ประเทศที่ยังใช้โทษประหารชีวิตอยู่ และ 5 ประเทศที่มีการประหารชีวิตมากที่สุด คือ จีน อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย อิรัก ปากีสถาน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ

นอกจากนี้ นักกิจกรรมและอาสาสมัครของแอมเนสตี้ ประเทศไทย จะรวมตัวกันบริเวณด้านหน้าเรือนจำบางขวาง กรุงเทพมหานครฯ เวลา 14.00-14.30 น. วันพรุ่งนี้ (19 มิ.ย) เพื่อไว้อาลัยกับบุคคลที่ถูกประหารชีวิต และยืนยันจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต 

นักกิจกรรมจะใส่เสื้อดำ ถือป้ายข้อความแสดงเชิงสัญลักษณ์ วางดอกไม้และเทียนเพื่อไว้อาลัย เนื่องจากโทษประหารชีวิตไม่ได้ลดอาชญากรรม และโทษประหารชีวิตคือการฆ่าคนโดยถูกกฎหมาย จึงควรร่วมกันยุติวงจรแห่งความรุนแรง

(ภาพประกอบ AFP: ฟิลิปปินส์เป็นอีกประเทศหนึ่งในอาเซียนที่มีการฉีดยาประหารชีวิต)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: