ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุม กนศ.เคาะหลักการดันรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินหลัก ยกระดับเขตอีอีซี เชื่อมสายตะวันออก ดัน 'อู่ตะเภา'สนามบินแห่งชาติแห่งที่ 3

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ครั้งที่ 2/2561 พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม พร้อมคณะร่วม เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็น 1 ใน 5 โครงการเร่งด่วนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลต่อความสำเร็จของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่พัฒนามาจากโครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก (ลาดกระบัง-ระยอง) ที่เป็นโครงการเดิม โดยได้ปรับปรุงหลักการให้เข้าเชื่อม 3 สนามบินอย่างไร้รอยต่อ อันจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศและประชาชนในอนาคต

โดยรถไฟความเร็วสูงเส้นนี้มีความสำคัญ 4 ด้านคือ 1) รถไฟความเร็วสูงสายนี้จะเข้าเชื่อมโยง 3 สนามบิน จะเป็นการยกระดับสนามบิน อู่ตะเภามาเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ให้ทำงานควบคู่กับสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีผู้โดยสารเกินความจุแล้ว 17 ล้านคนต่อปี

2) รถไฟความเร็วสูง เป็นการเปิดพื้นที่การพัฒนาจากกรุงเทพฯ เชื่อม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยจะมีสถานีรถไฟ 5 สถานี (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา อู่ตะเภา) เพื่อให้ประชาชนสามารถมาใช้บริการโดยนำรถยนต์ไปจอดที่สถานีเหล่านี้ได้ ทำให้ประหยัดเวลาการเดินทางมาก โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนซึ่งรถติดมาก 

 3) รถไฟความเร็วสูง ที่ความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชม. เป็นช่วงแรกของการเชื่อมโยงพื้นที่พัฒนาไปสู่ ระยอง จันทบุรี และตราดในอนาคตอันใกล้ 

4) ผลการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจตลอดทั้งโครงการประมาณ 700,000 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน)โดยแบ่งเป็น 50 ปีแรก มีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 400,000 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) ซึ่งมากกว่าเงินลงทุนประมาณ 200,000 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) จึงถือว่าเป็นผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุน เมื่อครบ 50 ปี รัฐบาลจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมด รวมรถไฟความเร็วสูง สถานี และอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 300,000 ล้านบาท

สำหรับโครงการนี้ครอบคลุมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินดอนเมือง-สนามบินอู่ตะเภา โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง รวมระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร คือ 1) รถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยาย แอร์พอร์ตลิงก์  ดอนเมือง-พญาไท ระยะทาง 21 กม.(อยู่ในแผนเดิมที่จะมีการก่อสร้าง ความเร็ว 160 กม./ชม.)

2) รถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ พญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 29 กม. (ดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน ความเร็ว 160 กม./ชม.) 

3) รถไฟความเร็วสูงจาก สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม. (ปรับจากแผนเดิมของรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก (ลาดกระบัง-ระยอง ความเร็ว 250 กม./ชม.) และ 4) พัฒนาพื้นที่สถานีและสนับสนุนการให้บริการผู้โดยสาร เช่น สถานีมักกะสันประมาณ 150 ไร่ สำหรับการเป็นสถานีหลักรถไฟความเร็วสูง รวมที่จอดรถและเชื่อมโยงกับรถไฟใต้ดิน สถานีศรีราชาประมาณ 100 ไร่ สำหรับการเป็นสถานี ที่จอดและอู่ซ่อม เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ เป็นต้น

ขณะเดียวกันในอนาคตรัฐบาลได้เตรียมรถไฟสายสีแดง (Missing Link) ขึ้นเพิ่มเติมจากบางซื่อ ถึงหัวหมาก ซึ่งจะแล้วเสร็จประมาณปี 2564

สำหรับการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเป็นรูปแบบ net cost เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู คือ ใครยื่นเสนอผลตอบแทนสูงสุดให้รัฐ จะเป็นผู้ชนะการประมูล ส่วนการดำเนินโครงการดังกล่าวจะมีการดูแล การใช้วิศวกรไทย และการใช้ชิ้นส่วนของประเทศไทยให้มากที่สุด ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดการส่งเสริมการลงทุน ที่กำหนดให้ผู้ลงทุนต้องมีการถ่ายทอดความรู้ผ่านสถาบันการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรไทยและเยาวชนให้เข้ามาทำงานในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงในอนาคต โดยจะให้เข้าร่วมการพัฒนาหลักสูตรในสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะในพื้นที่ EEC  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับค่าโดยสารจากสนามบินดอนเมือง-อู่ตะเภา 500 บาท/เที่ยว จากสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา 300 บาท/เที่ยว