สาธารณชนไทยได้รับรู้กรณีสินบนโรลส์-รอยซ์เมื่อสื่อต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2560 ในเวลานั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตของไทย และองค์กรที่ตกเป็นข่าวต่างประกาศจะสอบสวนข้อเท็จจริงในเร็ววัน ทว่าเวลาผ่านมาแล้ว 1 ปี ยังไม่มีปรากฏผลสอบใดๆ
ป.ป.ช.อังกฤษ สอบพบสินบน
โรลส์-รอยซ์ บริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์อากาศยาน เครื่องจักร และอุปกรณ์ด้านสาธารณูปโภค สัญชาติอังกฤษ ตกเป็นข่าวว่าจ่ายสินบนในหลายประเทศเมื่อทางบริษัทตกลงชดใช้ค่าใช้จ่ายในการสอบสวนให้แก่หน่วยงานปราบปรามการทุจริตของอังกฤษ สหรัฐฯ และบราซิล เป็นเงิน 808 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 28,500 ล้านบาท โดยศาลฎีกาของอังกฤษอนุมัติให้ชะลอการไต่สวนคดีนี้ไว้ก่อน
สำนักงานปราบปรามการทุจริตของอังกฤษ หรือเอสเอฟโอ (Serious Freud Office) พบว่า นอกจากโรลส์-รอยซ์จ่ายสินบนในประเทศทั้งสามแล้ว ยังจ่ายเงินใต้โต๊ะให้แก่ผู้ซื้อในประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย รัสเซีย ไนจีเรีย จีน มาเลเซีย และไทยด้วย
การบินไทย 1,200 ล้าน
ในส่วนของประเทศไทยนั้น เอสเอฟโอตรวจสอบพบว่า โรลส์-รอยซ์จ่ายเงินให้แก่นายหน้าซึ่งทำงานกับการบินไทย รวมเป็นเงิน 36.3 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 1,285 ล้านบาท เหตุเกิดในช่วงเวลาระหว่างปี 2534 จนถึงปี 2548
เงินเหล่านั้นเข้ากระเป๋าผู้แทนของสายการบินไทย และเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้โรลส์-รอยซ์ได้รับคำสั่งซื้อเครื่องยนต์อากาศยาน รุ่น เทรนต์ 800 (The Nation, 21 January 2017 ; Bangkok Post 19 January 2017)
การจ่ายสินบนของโรลส์-รอยซ์ ที่เกี่ยวข้องกับการบินไทย คาบเกี่ยวกับรัฐบาลไทยหลายสมัย ครอบคลุมยุครัฐบาลพล.อ.สุจินดา คราประยูร จนถึงภายหลังการรัฐประหารโค่นรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตรในปี 2549
โรลส์-รอยซ์จ่ายสินบนในไทย แบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา คือ
ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2534 - 30 มิถุนายน 2535 ในช่วงเวลานั้น การบินไทยสั่งซื้อเครื่องบินโบอิง 777 จำนวน 6 ลำก่อนเพิ่มเป็น 8 ลำในภายหลัง โรลส์-รอยส์ตกลงจ่ายเงิน 18.8 ล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 660 ล้านบาทให้แก่นายหน้า เพื่อให้โน้มน้าวให้เกิดการตัดสินใจสั่งซื้อ
ครั้งที่สอง ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2535 - 31 มีนาคม 2540 โรลส์-รอยซ์ตกลงจ่ายเงิน 10.38 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 365 ล้านบาทให้แก่นายหน้า เงินส่วนหนึ่งจ่ายต่อไปยังพนักงานของการบินไทยเพื่อให้โรลส์-รอยซ์ได้ขายเครื่องยนต์รุ่น ที800 ในเวลานั้น การบินไทยได้ซื้อโบอิง 777 เป็นครั้งที่สอง จำนวน 6 ลำ
ครั้งที่สาม ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2547 - 28 กุมภาพันธ์ 2548 โรลส์-รอยซ์ตกลงจ่ายเงินเกือบ 7.2 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 250 ล้านบาทให้แก่นายหน้า เงินจำนวนหนึ่งจ่ายให้แก่ตัวแทนของประเทศไทยหรือพนักงานการบินไทย ด้วยความคาดหวังว่าคนเหล่านี้จะทำให้การบินไทยสั่งซื้อเครื่องยนต์ ที 800
ในห้วงเวลาดังกล่าว การบินไทยมีกรรมการผู้อำนวยการใหญ่รวม 5 คน คือ พล.อ.อ.วีระ กิจจาทร, ร.ต.ท.ฉัตรชัย บุญยะอนันต์, นายธรรมนูญ หวั่งหลี, นายพิสิฐ กุศลาไสยานนท์, และนายกนก อภิรดี
สรุปผลสอบใน 30 วัน
เมื่อกรณีสินบนกลายเป็นข่าวร้อน ผู้เกี่ยวข้องให้คำมั่นกับสาธารณชนที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงให้กระจ่าง
นายวิทยา อาคมพิทักษ์ หนึ่งในกรรมการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) บอกว่า ป.ป.ช.ไทยจะขอข้อมูลจากป.ป.ช.อังกฤษ เพื่อสอบสวนกรณีนี้
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บอกว่า กรรมการบริหารของการบินไทยจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อหาตัวบุคคลที่พัวพันกับการจ่ายและรับสินบน และบอกด้วยว่า โรลส์-รอยซ์ได้ให้ข้อมูลมาแล้ว คาดว่าผลสอบจะสรุปได้ภายใน 30 วัน (The Nation, 21 January 2017)
ปตท. 380 ล้าน
ไม่กี่วันหลังมีการเปิดเผยเอกสารของป.ป.ช.อังกฤษ กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯได้เปิดเผยผลสอบการจ่ายสินบนของโรลส์-รอยซ์ ในกรณีการขายเครื่องจักรในกิจการพลังงานในประเทศต่างๆ รวมถึงไทย
รายงานของสหรัฐฯ ระบุว่า โรลส์-รอยซ์ และโรลส์-รอยซ์ เอนเนอร์จี ซินเต็ม อิงก์ ได้จ่ายสินบนมูลค่า 11 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 385 ล้านบาท ในโครงการของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) รวม 5 โครงการ และโครงการของปตท.สำรวจและผลิต 1 โครงการในช่วงระหว่างปี 2543-2556 (ไทยโพสต์, 21 มกราคม 2560)
จากการตรวจสอบพบว่า การจ่ายสินบนในโครงการเหล่านี้ เกิดขึ้นภายใต้การบริหารของรัฐบาลไทยหลายชุดคาบเกี่ยวกัน
1.) สินบน 4.9 ล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 87 ล้านบาท ในโครงการโรงแยกก๊าซที่ 5 (GSP-5) ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2546-16 พฤศจิกายน 2547
ช่วงเวลาดังกล่าว ตรงกับสมัยของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร
2.) สินบน 1.38 ล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 48 ล้านบาท ในโครงการสถานีเพิ่มความดันท่อเส้นที่ 3 (OCS3) ระหว่างวันที่ 19 มกราคม 2549-24 มกราคม 2551
ช่วงเวลาดังกล่าว คาบเกี่ยวสมัยของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร กับรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
3.) สินบน 1.09 ล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 38 ล้านบาท ในโครงการแหล่งสัมปทานอาทิตย์ในอ่าวไทย (PTT Arthit) ระหว่างวันที่ 19 มกราคม 2549-18 มกราคม 2551
ช่วงเวลาดังกล่าว คาบเกี่ยวสมัยของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร กับรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
4.) สินบน 2.07 ล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 70 ล้านบาท ในโครงการ PCS ระหว่างวันที่ 29 กันยายน 2549-11 กันยายน 2551
ช่วงเวลาดังกล่าว คาบเกี่ยวสมัยของรัฐบาลของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ภายใต้คณะรัฐประหารของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช และรัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์
5.) สินบน 1.93 ล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 67.5 ล้านบาท ในโครงการโรงแยกก๊าซอีเทน (Project ESP-PTT) ระหว่างวันที่ 24 พฤษภาคม 2550-18 กุมภาพันธ์ 2556
ช่วงเวลาดังกล่าว คาบเกี่ยวสมัยของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
6.) สินบน 2.28 ล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 80 ล้านบาท ในโครงการแยกก๊าซโรงที่ 6 (Project GSP-6) ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม 2551-13 พฤศจิกายน 2552
ช่วงเวลาดังกล่าว คาบเกี่ยวสมัยของรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช จนถึงรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ในช่วงปี 2543-2556 ปตท.มีประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ คาบเกี่ยว 3 คน ได้แก่ นายวิเศษ จูภิบาล, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์, และนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร
เมื่อปตท.ตกเป็นข่าวเกี่ยวโยงกับสินบนข้ามชาติ นายเทวินทร์ วงศ์วาณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.บอกกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 ว่า ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการที่ใช้เครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทภายใน 30 วัน
นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. บอกทำนองเดียวกันว่า ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว เพื่อรายงานคณะกรรมการบริษัทภายใน 30 วัน
ในเรื่องกำหนดวันเสร็จสิ้นการสอบสินบนโรลส์-รอยซ์นั้น พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. บอกว่า คงกำหนดไม่ได้ว่า ป.ป.ช.จะสรุปข้อเท็จจริงเสร็จเมื่อใด เพราะต้องขอข้อมูลจากต่างประเทศ แต่จะเร่งรัดสรุปให้เร็วที่สุด
กฟน.-กฟภ.-ทีโอที
กรณีบริษัทต่างชาติจ่ายสินบนในไทย ไม่ได้มีแต่โรลส์-รอยซ์เท่านั้น
เอกสารแถลงข่าวของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2559 ระบุว่า บริษัท เจนเนอรัล เคเบิล ผู้ผลิตสายเคเบิลและเส้นลวดในมลรัฐเคนทักกี จ่ายสินบนแก่ลูกค้าและเจ้าหน้าที่ระดับกระทรวงในประเทศไทย
ข้อมูลของสหรัฐฯระบุว่า บริษัทสาขาของเจนเนอรัล เคเบิล ได้จ่ายเงินกว่า 1.5 ล้านดอลลาร์ฯ ให้แก่ผู้กระจายสินค้าในไทยรายหนึ่งในช่วงปี 2555-2556 โดยทราบดีว่าเงินบางส่วนในจำนวนดังกล่าวจะใช้เพื่อการขายสินค้าให้แก่รัฐวิสาหกิจไทย 3 แห่ง คือ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (ผู้จัดการรายวัน, 24 มกราคม 2560)
หลังจากสื่อมวลชนรายงานข่าวนี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย สั่งการให้กฟน.และกฟภ.ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นายเสริมสกล คล้ายแก้ว บอกว่า ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว เชื่อว่าภายใน 15 วันจะรายงานให้สาธารณชนรับทราบได้ ขณะเดียวกัน ปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น นายกฤษฎา บุญราช ในฐานะประธานบอร์ด การไฟฟ้านครหลวง บอกว่า ได้มอบหมายให้ผู้ว่าการกฟน.ตั้งกรรมการแล้ว เพื่อขอทราบผลการตรวจสอบโดยเร็วที่สุด (ผู้จัดการรายวัน, 24 มกราคม 2560)
จนถึงวันนี้ ยังไม่มีหน่วยงานใด แถลงผลสอบต่อสาธารณชน