การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเชฟชาอูนไม่ใช่การทาสีเขียวแค่อาคาร บ้านเรือน และสิ่งปลูกสร้าง แต่จะเป็นสีเขียวที่ฝังลึกลงในวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และอุปนิสัยของผู้คน โดยเน้นย้ำเรื่องการดำเนินชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการพัฒนาเมืองที่น่าสนใจ
แม้เชฟชาอูนจะเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวต้องการมาชมบ้านเรือนเฉดสีฟ้านับร้อยนับพันหลัง แต่ ‘มูฮัมเมด เซเฟียน’ นายกเทศมนตรีเมืองเชฟชาอูน ซึ่งปัจจุบันดูแลผู้อยู่อาศัยประมาณ 45,000 คน กลับบอกว่า จริง ๆ แล้วเชฟชาอูเริ่มเป็นสีเขียวเมื่อ 7 ปีก่อน เนื่องจากเดือนเมษายนปี 2010 สภาเทศบาลเมืองมีมติเป็นเอกฉันท์ที่จะพัฒนาเชฟชาอูนให้กลายเป็น ‘เมืองยั่งยืนทางนิเวศ’ โดยโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากการร่วมมือกันระหว่างประชาชนกับภาครัฐ และช่วยทำให้เมืองเกิดความแข็งแรงที่สัมผัสได้
“ปัจจุบันเชฟชาอูนยังไม่ใช่เมืองสีเขียวร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่กำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน เพราะเราปรารถนาจะกลายเป็นหนึ่งในเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และหากมองเปรียบเทียบกันในระดับประเทศโมร็อกโก หรือจะเป็นทวีปแอฟริกา เชฟชาอูนถือเป็นเมืองก้าวหน้าที่สุดเรื่องการพัฒนาทางนิเวศ” นายกเทศมนตรีกล่าวด้วยรอยยิ้ม
ทางด้าน ‘เทก อซิส’ พนักงานเทศบาลเมืองวัย 40 ปีเศษ กล่าวว่า ปัจจุบันเขาทำงานตรวจสอบโครงการก่อสร้างภายในเมือง โดยทุกครั้งจะออกเดินทางด้วยจักรยานไฟฟ้า เพราะเป็นวิธีการแสดงความเคารพต่อสภาพแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ และยังช่วยให้สะดวกสบาย
เร่งสร้างความตระหนักรู้
ล่าสุดเชฟชาอูนเพิ่งเปิดตัวสระว่ายน้ำใหม่ในเขตเทศบาลเมือง มาพร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน และอาศัยพลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ตั้งอยู่ติดกับศูนย์นิเวศวิทยาที่สร้างจากตู้คอนเทนเนอร์รีไซเคิล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเมืองสีเขียวที่รับการสนับสนุนมาจากสหภาพยุโรป และองค์กรพัฒนาเอกชนอีกหลายแห่ง โดยหนึ่งในนั้นคือ ‘Geres’ กลุ่มอาสาสมัครที่ทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากประเทศฝรั่งเศส ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเปลี่ยนเมืองสีฟ้าให้กลายเป็นสีเขียวจากภายใน
“นี่เป็นข้อเรียกร้องของเมือง เรามาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน และสภาพอากาศ โดยท่ามกลางความคิดริเริ่มต่าง ๆ เราจะทำหน้าที่เป็นเหมือน ‘ศูนย์ข้อมูลพลังงาน’ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน และการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในหลายพื้นที่ เช่น ห้องสมุดเทศบาล และพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว” เวอร์จิเนีย กาย ผู้ประสานงานโครงการกล่าว
‘ศูนย์ข้อมูลพลังงาน’ จะช่วยอธิบายขั้นตอนพื้นฐานของโครงสร้างเชิงนิเวศ ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และประโยชน์ของหลอดไฟฟ้าประหยัดพลังงาน ซึ่งได้รับความสนใจมากจากหนุ่มสาวที่เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์ และเป็นครั้งแรกในโมร็อกโกที่เกิดการทำงานด้านการยกระดับพลังงานในอาคาร และการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการออม เพื่อกำหนดเป้าหมายทางธุรกิจ และบุคคล
นอกจากนั้น เชฟชาอูนยังเป็นหนึ่งในสิบสองโลเคชันของเมดิเตอร์เรเนียนตอนใต้ ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากจากโครงการในสหภาพยุโรปไปประมาณ 10 ล้านดีแรห์ม หรือประมาณ 90 ล้านบาท เพื่อประกาศให้เมืองเป็น ‘ต้นแบบการจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน’ แต่นายกเทศมนตรียอมรับว่า ทุกสิ่งในเมืองเล็ก ๆ สีฟ้านี้จะยังไม่กลายเป็นสีเขียวแบบสมบูรณ์ เนื่องจากการทิ้งขยะสาธารณะยังไม่เป็นไปตามมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม เชฟชาอูนกำลังดำเนินการสร้างศูนย์ฝังกลบขยะ และจะเสร็จสิ้นภายในปี 2564 ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้แน่นอน
หนุนพลังงานหมุนเวียน
ดูเหมือนฟาร์มแสงอาทิตย์ ฟาร์มพลังลม ขนส่งสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี และการห้ามใช้ถุงพลาสติก กำลังกลายเป็นนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศโมร็อกโกต้องรีบดำเนินการให้สำเร็จ เพราะเมื่อปลายปีก่อน สมเด็จพระราชาธิบดีมุฮัมมัดที่ 6 ได้ออกมาการประกาศยุทธศาสตร์เชิงรุกด้านพลังงานสีเขียว และส่งผลให้เมืองมาราเกช ทางตอนใต้ของโมร็อกโก กลายเป็นเจ้าภาพจัดสุดยอดการประชุมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 22 โดยมีคณะผู้แทนจากเกือบ 200 ประเทศเข้าร่วม พร้อมตอกย้ำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ทว่าในประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรก๊าซธรรมชาติ เป้าหมายใหม่ของโมร็อกโกก็คือ การเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในประเทศให้แตะระดับ 52 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2573 โดยแบ่งเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ 20 เปอร์เซ็นต์ พลังงานลม 20 เปอร์เซ็นต์ และพลังงานน้ำอีก 12 เปอร์เซ็นต์
ตัวอย่างการตื่นตัวที่เห็นชัดสุด ๆ คือ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน โดยใช้ชื่อว่า ‘Noor’ ตั้งอยู่บนทะเลทรายซาฮารา ห่างออกไปจากนอกเมืองวาร์ซาเซตประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นโครงการเรือธงขนาดใหญ่ของกษัตริย์ ขนาดเทียบเท่ากับสนามฟุตบอลมากกว่า 600 แห่ง และเต็มไปด้วยแผ่นกระจกโลหะราวครึ่งล้านหันหน้าออกไปรับดวงอาทิตย์ขณะเคลื่อนผ่านท้องฟ้า ใช้เงินลงทุนไปกว่า 625 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 20,500 ล้านบาท มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 160 เมกะวัตต์ และภายในปี 2018 จะทำหน้าที่จ่ายไฟฟ้าให้ประชาชนได้มากกว่า 1.1 ล้านคน ซึ่งสามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศได้ประมาณ 760,000 ตันต่อปี
แม้จะมีความพยายามสูงในการผลักดันรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่โมร็อกโกก็ยังมีอุปสรรคด้านสิ่งแวดล้อมให้ต้องเผชิญอีกไม่น้อย ดังนั้น ทุกฝ่ายคงต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่อไป
ที่มา : AFP